จนถึงเวลานี้… รัฐบาลของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถเคาะ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 หรือ “พ.ร.ก.ไซเบอร์ ฉบับแก้ไข” ออกมาใช้อย่างเป็นทางการ ด้วยเพราะยังติดขั้นตอนด้านเอกสาร ที่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไม่สามารถนำเสนอให้ครม. พิจารณาในรายละเอียดได้
แม้เป็น เรื่องที่เงื้อง่ามานาน เพราะถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญยังทำให้ประชาชนคนไทยเดือดร้อนกันทั่วบ้านทั่วเมือง
สาระสำคัญของการแก้ไขพ.ร.ก.ไซเบอร์นี้ ได้แก้ไขไว้ใน 3 ประเด็น คือเรื่อง การเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหาย หลังจากที่มีการอายัดบัญชีม้า รวมทั้งมีการเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลจากเดิมจำคุก 1 ปี เพิ่มเป็น 5 ปี เพราะถือว่า สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติ รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก ที่น่าสนใจสำหรับการแก้ไข คือเรื่องของ การเพิ่มความรับผิดชอบของสถาบันการเงิน รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ต้องเข้ามาร่วมดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
หลังจากที่ผ่านมา เรื่องราวความรับผิดชอบของแบงก์และค่ายมือถือ ต่างเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ว่าละเลย ดูแลลูกค้าไม่ดีพอหรือไม่ จนปล่อยให้เกิดการส่งเอสเอ็มเอสมากหลอกลวงประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง มาตรการป้องกันการโอนเงินผิดกฏหมายผ่านบรรดาสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพวกบิตคอยน์ หรือเหรียญไฮเทค สกุลอื่น ๆ
รวมไปถึงการออกมาตรการส่ง เอสเอ็มเอส ไปยังโทรศัพท์ต่างๆ ที่จะมีการแนบลิงก์เพื่อลงทะเบียนผู้ส่ง โดยต้องแจ้งสถานะว่าเป็นใคร หากไม่พบข้อมูลผู้ส่งโอเปอเรเตอร์จะมีการระงับการส่งเอสเอ็มเอสนั้น ๆ ทันที
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งแต่ 1 มี.ค.65-30 พ.ย.67 มีการแจ้งความเกี่ยวกับคดีออนไลน์กว่า 739,000 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 77,000 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาททีเดียว แม้จะสามารถปกป้องความเสียหายเอาไว้ได้แล้วที่ประมาณ 11% หรือ 8,600 ล้านบาท ก็ตาม
จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า การอาละวาดของบรรดาแก๊งหลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งหลาย ยังมีการระบาดกันอย่างต่อเนื่อง แบบชนิดที่เรียกว่า ปูพรมกวาดล้างเท่าไหร่ก็ไม่หมดเสียที
ขนาดบรรดาภาครัฐ ทั้งตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ทั้งกสทช.หรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ต่างผนึกกำลังอย่างเต็มความสามารถ ก็ยังไม่สามารถทะลุทะลวงแก้ไขปัญหาได้ครบถ้วน 100%
เรื่องนี้!! อาจต้องยกความดี!!ความชอบ!! ให้กับ “บุพการี” ของนายกฯแพทองธาร ที่ออกมาประกาศชัดเจนว่าจะปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้สิ้นซาก
เพราะประกาศชัดเจนปุ๊ป กระบวนการแก้ไขกฎหมาย กระบวนการออกกฎหมาย ก็เดินหน้าต่อเนื่องทันที แม้การดำเนินการตามระเบียบปกติอาจทำให้ล่าช้า จึงต้องอาศัยเพียงแค่อำนาจครม.แล้วออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อให้กฎหมายเดินหน้าได้ทันที
นอกจากนี้ในกรณีของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์หากยังปล่อยให้มีข้อความ เอสเอ็มเอส ที่ปล่อยมาแล้วเก็บค่าส่งโดยที่ไม่ระมัดระวังว่าเป็นเอสเอ็มเอส ที่มีการแนบลิงก์ดูดเงินมาด้วย ก็ต้องมีการร่วมจ่ายกับผู้ที่ถูกมิจฉาชีพหลอกด้วย โดยถือว่าเป็นการป้องกันที่ระบบ โดยในเรื่องนี้ ภาคเอกชนก็ต้องมาช่วยรัฐบาลด้วยเหมือนกัน
อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ สิงคโปร์ ที่เรียกได้ว่าเป็นฮับด้านระบบการเงินในภูมิภาคนี้ ก็ได้ประกาศใช้มาตรการป้องกันภัยออนไลน์ โดยเฉพาะในกรอบ “ร่วมรับผิดชอบ” ออกมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้ธนาคารและผู้บริโภครับผิดชอบร่วมกันในกรณีที่เกิดความเสียหายจากการถูกหลอกลวง
รวมถึงมาตรการที่สำคัญทั้งระบบ “ปิดสวิทช์” ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถระงับบัญชีได้ทันทีหากพบความผิดปกติและเลือกล็อกเงินจำนวนหนึ่งไว้ไม่ให้สามารถทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ได้
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังออกกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันการฉ้อโกง พ.ศ.2567 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ระงับธุรกรรมต้องสงสัยได้ทันที พร้อมกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงต่อมิจฉาชีพ เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน
ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย… ถ้าภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคของธนาคาร ทั้งภาคของค่ายมือถือ ให้ความใส่ใจลูกค้า เช่นเดียวกับกรณีที่จะขายสินค้าหรือขายผลิตภัณฑ์เพื่อทำยอดแล้วล่ะก็ เชื่อเถอะ!! การแก้ไขพ.ร.ก.ไซเบอร์ ก็คลอดออกมาได้ไม่ยาก!!
………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo