วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSรัฐช่วยจ่าย“ค่าจ้าง 50%” เป็นจริงหรือแค่ฝันกลางวัน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รัฐช่วยจ่าย“ค่าจ้าง 50%” เป็นจริงหรือแค่ฝันกลางวัน

ว่ากันว่า!! ในที่ประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ “ศบศ.” วันนี้ (4 มิ.ย.) จะเคาะมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกันอีกระลอก

โดยเฉพาะมาตรการที่ต้องช่วยกัน “รักษาระดับของการจ้างงาน” เอาไว้ให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา “คนตกงาน” เหมือนกับการระบาดระลอกแรก เมื่อช่วงต้นปี 63 ที่ผ่านมาอีก

บรรดาผู้ประกอบการเหล่านี้ ต่างคาดหวังความช่วยเหลือจากรัฐบาล เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว ด้วยเหตุผลที่ว่า…มีสายป่านไม่ยาว เพราะเป็นธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่สำคัญ!! ยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้อีกต่างหาก

หากรัฐบาลไม่เร่งยื่นมือเข้ามาเพื่อให้การช่วยเหลือ ก็อาจไปไม่รอดอีก และไม่ใช่เพียงแค่ตัว “เจ้าของธุรกิจ” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง “ลูกน้อง” อีกจำนวนไม่น้อย

อย่าลืมว่า ผลกระทบจากการระบาดในระลอกที่ 3 ในเดือนเม.ย.นี้ ค่อนข้างรุนแรง เพียงแค่เขตการควบคุมพิเศษและเข้มงวดสีแดงเข้ม 6 จังหวัด จะกระทบถึง 22% ต่อจีดีพีรวมของประเทศ ซึ่งมีการจ้างงานภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว กว่า 3.12 ล้านคนทีเดียว

หากการดูแลของภาครัฐไม่ทั่วถึง “คนตกงาน” ก็จะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมากทีเดียว เหมือนกับที่ผู้ว่าแบงก์ชาติอย่าง “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ได้แสดงความเป็นห่วงไว้ก่อนหน้านี้

ปัญหาขณะนี้…คือ ประชาชนรายได้ไม่พอ นักศึกษาจบใหม่จะให้ทำอะไร จากการจ้างงานในระยะข้างหน้าจะมาจากตรงไหน แม้ตัวเลขผู้ว่างงานหรือคนตกงานอาจเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

แต่ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ประชาชนมีรายได้ลดลงจากชั่วโมงทำงานลดลง หรือที่เรียกว่ากลุ่มเสมือนว่างงานเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ ได้ให้ข้อมูลที่อาจทำให้ภาคธุรกิจใจชื้นกันขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะหลังจากหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบันแล้ว ต่างเห็นตรงกันว่า วิธีการที่ดีที่สุด ที่ต่อลมหายใจให้ธุรกิจกันต่อไปได้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของ การอุดหนุนค่าจ้างแรงงาน หรือ การช่วยจ่ายเงินเดือน

แต่การช่วยเหลือ ก็ใช่ว่าจะช่วยกันฟรี ๆ แต่ต้องนำไปสู่การสร้างรายได้เข้าระบบเศรษฐกิจด้วย จึงมีเงื่อนไขสำคัญว่า ธุรกิจนั้น ๆ ต้องอยู่ในระบบภาษี จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ถูกต้อง

ที่สำคัญ ต้องเป็นกิจการที่ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19  ไม่ใช่ “มั่วนิ่ม” หรือมีปัญหาก่อนการระบาดใด ๆ ทั้งสิ้น

ไม่เพียงเท่านี้ การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในครั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง โดยรัฐช่วยจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนให้เป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน


อย่าลืมว่า… วิธีนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ศบศ. เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ปีที่แล้ว หรือปี 63 ก็ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ ใน 3 กลุ่ม คือ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา มีอัตราค่าจ้าง ตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ปริญญาปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท

ซึ่งรัฐบาลก็เป็นผู้สนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยมีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.36-30 ก.ย.64

ขณะเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้รอบใหม่ วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น “นายกฯบิ๊กตู่” ได้พูดชัดเจนว่า ในส่วนของการเยียวยานั้นก็จะเน้นหนักไปที่ เอสเอ็มอี เป็นหลัก

ส่วนที่ประชุมศบศ.ในครั้งนี้ จะรื้อฟื้นนำหลักการเดิมในการช่วยเหลือภาคธุรกิจมาใช้อีกหรือไม่ ก็ต้องตามติดกันต่อไป เพราะหากการช่วยเหลือออกมาไม่ทันการณ์ ก็มีแต่ซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ร่วงพับลงไปเรื่อย ๆ

………………………………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img