วันจันทร์, มีนาคม 31, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSความกังขา! ติดดาบ‘ก.ล.ต.’ปราบโกงหุ้น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ความกังขา! ติดดาบ‘ก.ล.ต.’ปราบโกงหุ้น

ในที่สุด รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ก็เข็น ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าไปคุม “ตลาดหุ้น”

ทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อ “ป้องกัน” การปั่นหุ้น การสร้างราคา naked short sale รวมไปถึง การให้อำนาจสอบสวนคดีผลกระทบสูง และเอาผิดผู้สอบบัญชีหากพบกระทำความผิด

ขั้นตอนต่อไป… จะมีการส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจร่าง พ.ร.ก. โดยคาดการณ์ว่า จะประกาศใช้ได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือภายในเดือนเม.ย.นี้

กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าของเรื่อง ที่พยายามผลักดันแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ยืนยันว่า จากมาตรฐานกฎหมายที่มีการปรับปรุง จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นและตลาดทุนมากขึ้น

แม้รัฐบาลจะไฟเขียวกฎหมาย แต่ “ตลาดหุ้น” ก็ “ไม่ได้เด้งรับข่าวนี้สักเท่าใดนัก” เพราะดัชนีหุ้นไทยก็ยังคงติดลบอยู่ที่ 0.21% หรือลดลง 2.46 จุด โดยดัชนีอยู่ที่ 1,187.90 จุด เมื่อวันที่ 27 มี.ค.68

อย่างที่รู้กันว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยยังลูกผีลูกคน สามวันดี-สี่วันไข้ โดยตั้งแต่ต้นปี 68 จนถึงวันที่ 24 มี.ค.68 ดัชนีหุ้นไทยลดลงไป 210.15 จุด หรือลดลง 15.01%

เหตุใหญ่ใจความ ก็เป็นเรื่องของการ “ขาดความเชื่อมั่น” จาก สารพัดเหตุการโกงหุ้น ทั้งกรณีของ “หุ้นมอร์” ที่มีปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 65 จากปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติโดยกระจายในหลายโบรกเกอร์

รวมไปถึงกรณีที่หนักที่สุด เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อยอย่าง “หุ้นสตาร์ค” ที่ถือว่า เป็นการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทย ที่มีการเลื่อนส่งงบการเงินถึง 3 ครั้ง หรือแม้แต่กรณีการหลอกลวงเรื่องโครงการ “ลงทุนทิพย์” จากกรณีของ “หมอบุญ วนาสิน”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีเหตุการณ์ไม่สุจริต เกิดขึ้นในหุ้นอีกหลายๆ ตัวในตลาดหุ้นไทย ประกอบกับสถานการณ์ในตลาดโลก รวมไปถึงกรณี “ทรัมป์เอฟเฟ็กต์” ก็ยิ่งทำให้ ตลาดหุ้นไทย “กู่ไม่กลับ”

แต่ดูเหมือนว่า ในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ถูกหลายฝ่ายมองว่า เป็นการ มอบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เสี่ยงต่อการถูกครอบงำจาก “อำนาจทางการเมือง” เหมือนกับหลายๆ องค์กรที่เกิดขึ้นในเวลานี้

ขณะเดียวกัน การดำเนินการออกเป็นพระราชกำหนด โดยไม่ต้องรอความเห็นชอบจาก “สภาสูง” และ “สภาร่าง” ตามขั้นตอนของการออกกฎหมาย มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่???

หากมีการร้องเรียนต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ จะเกิดความสับสนหรือไม่ หรือเป็นการขัดต่อหลักการตรวจสอบ และการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงหลักนิติธรรม

ขณะที่ใน มุมของโบรกเกอร์ ก็มองว่า ไม่ได้ช่วยทำให้ตลาดหุ้นดีขึ้นจากเดิม เพราะที่ผ่านมาการเทคแอ็กชัน ของผู้คุมกฏ ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ก.ล.ต. ไม่ได้ออกมาตรการที่โดนใจนักลงทุนเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมา

แถมยัง “มีช่องโหว่” ให้เกิดเหตุการณ์อื่นๆ ตามมาอีกมาก ขณะที่ปัญหาเดิมๆ ก็ยังไม่สามารถแก้ไข การติดดาบให้กับ “ก.ล.ต.” ก็ไม่เพียงพอกับตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ แต่ควรที่จะมีมาตรการอื่นที่ดีกว่าเดิม…มากกว่า

เช่นเดียวกับหน่วยงานตรวจสอบที่มีอำนาจอย่าง “ดีเอสไอ” ก็มองว่า “ก.ล.ต.” ถูกออกแบบมา เพื่อวางนโยบายเป็นสำคัญ มากกว่าการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จึงอาจไม่เหมาะสมที่จะให้อำนาจแก่ ก.ล.ต. ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนมากในการกำหนดคดีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานก.ล.ต. มีอำนาจสอบสวน

อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า “ตลาดหุ้นไทย” นั้น “อ่อนไหว” กับทุกเรื่อง ดังนั้น!! สิ่งที่จะทำให้ “ตลาดหุ้นไทย” โงหัวกลับขึ้นมาได้แต่เก่าก่อน ก็ต้อง…สร้างความเชื่อมั่น ให้เกิดขึ้นมาให้ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของเศรษฐกิจในประเทศ ที่แม้ว่ารัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาทำให้ดีขึ้นในทุกทาง แต่ก็ต้องหาทางเพื่อให้ตลาดเชื่อมั่นให้ได้

หรือ!! จะเป็นเรื่องของการเผชิญกับปัญหาในต่างประเทศ โดยเฉพาะ ผลกระทบจาก “ทรัมป์ 2” ที่ต้องถามว่า ได้เตรียมแผนรับมือเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมหรือยัง รวมถึงมาตรการอื่น หรือกระบวนการที่จะออกมารับมือกับปัญหาการโกงหุ้น

ต่อให้ทั้งกระทรวงการคลัง ทั้ง “ก.ล.ต.” เอง มีเหตุผลร้อยแปด ออกมาชี้แจงกับความกังขา ของหลายๆ หน่วยงาน แต่สุดท้าย!! ความกังขาเหล่านั้น ก็ยังคงไม่หมดไป

แต่ในเมื่อ “รัฐบาล” ยืนยัน…นั่งยัน และเชื่อมั่นว่า การเพิ่มอำนาจให้กับ “ก.ล.ต.” ในการเข้าไปสอบสวน “คดีโกงหุ้น” โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่ช้านี้ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า “เครื่องมือนี้” จะดึงความเชื่อมั่นต่อ “ตลาดหุ้นไทย” กลับมาได้มากน้อยเพียงใด?

………………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img