ณ เวลานี้ ประเทศไทยกำลังจมปลักอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจ!! ที่ “ผู้มีหน้าที่” แก้เท่าใด ก็ไม่สามารถสางปมปัญหาสารพัดที่มีอยู่ ให้คลายปมกันออกมาได้เสียที
เพียงไม่กี่วันก่อน “ธนาคารโลก” หรือ “เวิลด์แบงก์” ได้ ปรับลดการคาดการณ์จีดีพีไทย เหลือเพียง 1.6% แถมยังเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยซ้ำ จากเดิมที่เชื่อว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.9%
ให้หลัง…ตามมาไม่กี่วัน สถาบันจัดอันดับ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ก็ ปรับลดแนวโน้มเครดิตเรตติ้งของประเทศไทยจากที่มี “เสถียรภาพ” เป็น “เชิงลบ”
ที่สำคัญ!! เป็นการปรับลดมุมมองเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ปี 51 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติซับไพรม์ ที่เศรษฐกิจไทยในปี 51-52 ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก
การปรับลดมุมมอง ครั้งนี้ของ “มูดีส์” ถือเป็น “สัญญาณเตือน” ที่ไม่ว่าใคร? โดยเฉพาะ “ผู้บริหารประเทศ” ไม่สามารถมองข้าม “คำเตือนสำคัญ” นี้ได้อีกต่อไป

“มูดีส์” ให้เหตุผลว่า…เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ในระยะกลาง การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไม่สามารถพึ่งพากำลังบริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ
ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของ ภาคส่งออก ก็ยังลดลง จากสารพัดปัจจัยที่เกิดขึ้น ที่น่าห่วงยังมีเรื่อง ปัญหาประชากรสูงวัย ที่เพิ่มรวดเร็ว
ที่สำคัญคือ “นโยบายรัฐบาล” ที่ไม่แน่นอน ยังไร้ความต่อเนื่อง และขาดความชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
สัญญาณเตือนครั้งนี้ “ผู้มีหน้าที่-ผู้บริหารประเทศ” ไม่สามารถที่จะแค่ “ชำเลือง” แต่ต้อง “สังวร” ให้จงหนัก เพราะ “2 แรงกระแทกเศรษฐกิจ” นี้ ชี้ให้เห็น “โครงสร้างเศรษฐกิจ” ที่กำลังสั่นคลอน และ “นโยบายเศรษฐกิจ” ที่ไร้ทิศทางที่ชัดเจน
แม้ในทุกประเทศ จะมีความเสี่ยงเหมือนกันก็ตาม แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า “เศรษฐกิจไทย” ดูแล้วจะหนักหนาสาหัสกว่า “ประเทศอื่น” ด้วยซ้ำ เพราะมีหลายความเสี่ยงที่ถาโถมกันเข้ามา
ทั้ง “หนี้ครัวเรือน” ที่แม้ลดลงมาได้บ้าง จากหลายๆ โครงการที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ ได้จับมือช่วยเหลือกัน เพื่อให้การเป็นหนี้ลดลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
รวมไปถึง “ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย” ที่ทั้งต้นทุนที่ยังไม่ลดลง ทั้งการถูกสินค้าของต่างประเทศมาตีตลาด จนแข่งขันไม่ไหว
ขณะเดียวกันปัญหาเรื่อง “สถานะการคลัง” ก็ไม่ได้สวยงามมากนัก เพราะปัจจุบันมีการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินคิดเป็น 4.5% ต่อจีดีพี ขณะที่การจัดเก็บรายได้จากภาษีทำได้เพียง 15.5% ของจีดีพี
ปัญหาเหล่านี้ อาจทำให้บรรดาบริษัทจัดอันดับจากค่ายอื่นๆ อาจทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยของรายอื่นๆ ตามมาด้วยก็ได้ โดยมีเหตุผลที่ไม่ได้แตกต่างจากกัน

แม้ว่า… รัฐบาลยังพอมีเวลาอยู่บ้าง อีกสักประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อจัดการทำทุกอย่างให้ดีขึ้น จากวงรอบของการจัดอันดับที่จะเกิดขึ้นในรอบต่อไป ก็ตาม
แต่ “การจัดการแก้ปัญหา” จะทำได้ดีมาก-น้อยแค่ไหน? เพราะการถูกลดแนวโน้มเครดิตและจีดีพี ไม่ใช่เพียงข้อมูลเชิงสถิติเท่านั้น แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง “ยุทธศาสตร์ของประเทศ”
มาจนถึงวันนี้ ทั้งรัฐบาล ทั้งหน่วยงาน ในทุกภาคส่วน หรือแม้แต่ประชาชนคนไทยเอง จำเป็นอย่างยิ่งต้อง “ตื่นตัว” ต้อง “ยอมรับความจริง” แล้วหันมามาร่วมมือร่วมแรงกัน “สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่” ที่หลากหลาย มีฐานนวัตกรรม มีเทคโนโลยีจริงจัง
รวมไปถึง “การลดอุปสรรคการลงทุน” ราชการต้องปรับตัวเป็นผู้ช่วยเหลือภาคเอกชนให้มากขึ้น เอกชนเองก็ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลงทุนในทักษะแรงงาน ลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายเล็กรายย่อย ที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีกันมากนัก
อย่าลืมว่า ทุกวันนี้ “เครดิตเรตติ้ง” ไม่ใช่เพียงแค่ “ตัวเลข” แต่คือ…“ภาพลักษณ์-ภาพพจน์” ของ “ประเทศ” หาก “สั่นคลอน” ขึ้นเมื่อใด “ผลกระทบสารพัด” ก็จะตามมา
เหนืออื่นใด!! วิกฤติศรัทธาต่อรัฐบาล ย่อมเกิดขึ้นในไม่ช้าแน่นอน
………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo