วันนี้ (9 ก.ค.) คงรู้กันว่า…สุดท้ายแล้ว ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เคาะวิธีการล็อคดาวน์พื้นที่เสียง 6 จังหวัด คือกทม.และปริมณฑล อย่างไร?
ด้วยสถานการณ์การติดเชื้อและการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด 19 ที่ทำนิวไฮ มากขึ้นทุกวันทุกวัน จนถึงขนาดประมาณการณ์กันว่าในช่วง 2 สัปดาห์นี้จะมีผู้ติดเชื้อกันเป็นหมื่นคนต่อวัน
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่ไม่ว่าใครเข้ามานั่งเป็นรัฐบาล ก็ต้องกุมขมับ ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะอย่าลืมว่าบทเรียน จากการแก้ไขปัญหาในครั้งแรกเมื่อปี 63 นั้น มีให้เห็นอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจเจ๊งยับหนักหนาสาหัสเพียงใด
“นายกฯบิ๊กตู่” ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว แสดงความไม่สบายใจกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และหากปล่อยไปเช่นนี้เรื่อย ๆ ความบานปลายย่อมบังเกิดขึ้นแน่นอน
ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องของการกำจัดการเคลื่อนย้ายคน การไม่ให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม การปิดสถานที่เพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งมาตรการอื่น ๆ
นั่น!!หมายความว่า ประเทศไทย ประชาชนคนไทย ก็ต้องยอม “บอบช้ำ” กันมากขึ้น หรือที่ทุกคนต่างติดปากกันว่า “เจ็บแต่จบ”
แม้ความเห็นในหลายฝ่าย ยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจเอง ก็ยังมีความคิดต่างกัน บางฝ่ายมองว่า ล็อคดาวน์ซะแล้วแก้ปัญหาให้จบ บางฝ่ายก็มองว่า จะทำให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจขึ้นอีก
ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงอยู่ที่ว่า ถ้าการเลือกที่จะเจ็บแล้วจบ แล้วจบได้จริง!! ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากเลือกที่จะเจ็บ แต่จบไม่ได้จริง นี่สิ!! จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่แสดงให้เห็นถึง “ฝีมือ”
อย่าลืมว่าทุกวันนี้ รัฐบาลเจอศึกหนักหลายด้าน ทั้งสังคม ทั้งเศรษฐกิจ ทั้งการเมือง ด้วยอารมณ์ของคนในเวลานี้ ที่กำลังสับสนกับเรื่อง “วัคซีน” ที่กำลังสับสนกับการรักษาพยาบาล ที่กำลังสับสนกับเงินในกระเป๋า
ขณะเดียวกันแผนเปิดประเทศ ใน 120 วันจะเดินหน้าไปได้ตามที่ฝันไว้หรือเปล่า เพราะปัญหาการติดเชื้อที่ภูเก็ต ก็มีให้เห็น ทำให้หลายคนกังวลไม่น้อยกับ “ภูเก็ตแซนบ๊อกซ์” แถมวันที่ 15 ก.ค.นี้ ยังมีแผนเดินหน้าเชื่อมต่อไปยังอีก 3 เกาะที่เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่ออีก
เหตุนี้…ทำให้บรรดา 40 ซีอีโอจากบริษัทขนาดใหญ่ ในทุกกลุ่มธุรกิจ ต่างระดมสมองผ่านทางออนไลน์กันอีกครั้ง เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการใช้มาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล
ที่สำคัญยังต้องมานั่งทบทวน หารือ พูดคุย กันด้วยว่านโยบายการเปิดประเทศ 120 วัน ยังเหมาะสมอีกหรือไม่? ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้
แม้ว่าบรรดาสมาชิกหอการค้าส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยกับมาตรการล็อคดาวน์ เพราะบางพื้นที่ บางธุรกิจเพิ่มลืมตาอ้าปากได้ เพิ่งประกอบอาชีพ เพิ่งเดินหน้าธุรกิจได้ ก็ตาม
อย่าลืมว่า…บทเรียนที่เจ็บปวดกับการล็อคดาวน์ประเทศในครั้งแรกเมื่อปี 63 นั้น ทำให้เกิดความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจมากถึง 3 แสนล้านบาทกันทีเดียว ขณะที่ผลกระทบตามมาทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 63 หดตัวถึง 6.1% กันทีเดียว แม้ว่าจะเป็นการติดลบที่ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก็ตามทีเถอะ
ล่าสุด!! หนังสือพิมพ์นิเคอิ ของญี่ปุ่น ได้จัดทำดัชนีฟื้นตัวจากโควิด19 ซึ่งวัดจากกว่า 120 ประเทศ พบว่าไทยติดอันดับเกือบท้ายตารางกันทีเดียว โดยอยู่ในอันดับที่ 118 เรียกได้ว่าต่ำที่สุดของอาเซียนเลยก็ว่าได้
เพราะ..ขนาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา หรือแม้แต่สปป.ลาว ยังได้รับการจัดอันดับที่สูงกว่าไทย ทั้งนั้น
ขณะที่ประเทศที่มีอันดับฟื้นตัวเป็นอับดับ 1 คือ จีน อันดับ 2 คือ มอลตา อันดับ 3 คือโปแลนด์ ส่วนประเทศสิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่ฟื้นตัวเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยอยู่อันดับที่ 12
เอาเป็นว่า!! ณ เวลานี้ รัฐบาลไม่สามารถที่จะปล่อยให้สถานการณ์ไหลลึกดิ่งลงเหวเช่นนี้ได้อีกต่อไป ไม่เช่นนั้น สถานภาพของรัฐบาลอาจพังพาบไปก่อนก็เป็นไปได้
……………………………………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo