ในที่สุด!! กระทรวงการคลัง ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ต้องออกมาประกาศ ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 1.3% หลังจากพิษโควิดเดลต้า ระบาดหนักมาตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
การปรับลดครั้งนี้ต้องเรียกว่า หนักหนาสาหัส เพราะปรับลดลงไปถึง 1% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.3% หากเทียบกับผลผลิตมวลรวมในประเทศ ที่สภาพัฒน์ ประมาณการณ์ไว้ล่าสุดเพมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประมาณ 16.25 ล้านล้านบาท นั่นเท่ากับว่าจีดีพีจะหายไป 1.62 แสนล้านบาท
อย่างที่รู้กันว่าพิษของโควิดนั้น หนักหนาสาหัสแค่ไหน เพราะนอกจากจะทำร้ายชีวิตคนไทยแล้ว ยังทำร้ายปากท้อง ทำร้ายเศรษฐกิจอีกมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของนักท่องเที่ยว ที่พังวูบ!! ในเวลานี้มีเพียงการส่งออกที่ยังเดินหน้าได้ต่อเนื่อง และคาดกันว่าตลอดทั้งปีนี้จะสามารถขยายตัวได้มากถึง 16.6%
ขณะที่ การใช้จ่ายของภาครัฐ และมาตรการของภาครัฐ ทั้ง “คนละครึ่ง” “ยิ่งใช้ยิ่งได้” และ “เงินเยียวยาจากพ.ร.ก.กู้เงิน” ที่ยังช่วยกระตุ้นการบริโภคธุรกิจและรักษาการจ้างงาน ที่ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจปักหัวดิ่งดำลึกลงไป
แม้ภาครัฐ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่ยังยืนยันเดินหน้าเปิดประเทศต่อ เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ประมาณ 3 แสนคน มีรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท
แต่ ณ เวลานี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ก็มีจำนวนไม่น้อยและยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ แม้ในศักยภาพของจังหวัดภูเก็ต จะสามารถบริหารจัดการได้ แต่ในแง่ของเกาะสมุย พงัน และเกาะเต่า ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากภูเก็ต กลับมีผู้ติดเชื้อแล้วถึง 61 ราย
ด้วยเหตุนี้โครงการสมุยพลัส โมเดล อาจมีอันต้องชะลอออกไปก่อน หากพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยังมีเพิ่มขึ้น เพราะการบริหารจัดการอาจทำได้ยากลำบาก โดยเฉพาะ “เตียง”
เพราะเวลานี้ บรรดาโรงแรมต่าง ๆ บนเกาะสมุย ได้เตรียมเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลกันแล้ว เพื่อรองรับผู้ป่วยผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง
สถานการณ์ระบาดที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ใช่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมการไม่ดี หรือไม่มีศักยภาพ แต่…ด้วยความรุนแรงของไวรัสเดลต้า นั้นร้ายแรงยิ่งกว่า โดยเฉพาะการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็อาจส่งผลต่อ “ภาคผลิต” หนักขึ้น เพราะเวลานี้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า บรรดาแคมป์คนงาน บรรดาโรงงานต่าง ๆ กำลังกลายเป็น “คลัสเตอร์” สำคัญ ที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
หากยังเป็นเช่นนี้ จะส่งผลให้การผลิตสินค้าของประเทศ ทั้งสินค้าที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ หรือสินค้าที่ผิตเพื่อการส่งออก อาจได้รับผลกระทบจนขาดแคลนตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ภาคเอกชนเองจึงตื่นตัว หันมาใช้วิธีการ บับเบิ้ลแอนด์ซีล เพื่อดูแล หรือแม้แต่การเตรียมพร้อมรับมือ หากพนักงานในโรงงานติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทั้งการสร้างโรงพยาบาลสนาม การจัดเตรียมศูนย์พักคอย การจัดเตรียมที่พัก อาหาร พาพนะ ยา เครื่องตรวจโควิดด้วยตัวเอง หรือมาตรการสาธารณสุขต่าง ๆ อย่างเข้มข้น
เพราะ…ถ้าพนักงานติดเชื้อกันจำนวนมาก แล้วต้องถูกปิดกิจการ ปิดโรงงาน อาจทำให้เกิดความเสียหายตามมามากกว่า ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผู้ประกอบกิจการ หรือภาคเอกชน เท่านั้น แต่จะส่งผลเป็นวงกว้าง ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งขึ้นไปอีก
ณ เวลานี้ ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในไทยเวลานี้ กำลังวุ่นวาย สับสน แล้วยังไม่รู้ว่ายอดตัวเลขผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิต จะพีคขึ้นไปอยู่ที่ใด เมื่อไหร่ ?
การพึ่งพาตัวเองในเวลานี้…น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของทุกคน ดั่งคำพระที่ว่า “อัตตาหิ อัตตโนนาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
…………………………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo