นาทีนี้!!! ข่าว “โควิด” ต้องหยุดพักไปก่อน เพราะเจอความแรงเบอร์หนึ่งจากข่าวของ “ผกก.โจ้” เข้าไป ก็ทำเอาสังคมไทยทั้งประเทศ เทความสนใจมาติดตามกระแสข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง
เพราะไม่ใช่เพียงแค่การกระทำ!! ซึ่งเป็นเหตุของกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเท่านั้น เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่างประเดประดังเข้ามา เรียกความสนใจของสังคมแทบทุกมิติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ฉายา “โจ้ เฟอร์รารี่” จะด้วยอดีตเคยเกี่ยวข้องกับธุรกิจรถหรู หรือด้วยผลงานจากการจับกุมการนำเข้ารถที่ผิดกฎหมาย ประกอบกับการครอบครองรถยนต์จำนวนมากจึงทำให้มิติในเรื่องของ “รถหรู” จึงกลายเป็นประเด็นที่สังคมต่างอยากรู้อยากเห็น
ยิ่งเมื่อมีข้อมูลจากกรมศุลกากร ที่เปิดเผยออกมาถึงการจับกุมคดีรถหรูถึง 368 คัน ก็ยิ่งทำให้สังคมต่าง “ตาโต” เพราะตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นมาจนถึงปี 63 ปรากฎว่า “ผกก.โจ้” ต่างเป็นจ้าของสำนวนคดีนำจับทั้งหมด โดยได้ประมูลขายทอดตลาดไปแล้ว 363 คัน คงเหลือค้างอีกเพียง 5 คัน
ถามว่า? การระดมจับรถหรูที่ไม่ถูกต้องเยอะขนาดนี้ แล้วผลตอบแทนจากเงินรางวัลนำจับล่ะ จะมีมากน้อยอย่างไร เรื่องนี้!! ทางกรมศุลกากรระบุว่า “บอกไม่ได้”
แม้ว่าการประมูลขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางทั้ง 363 คัน จะทำรายได้เข้าหลวงประมาณ 1,000 ล้านบาทจากราคากลางที่ประเมินไว้ที่ 516 ล้านบาทก็ตาม แต่การให้สินบนและรางวัลนำจับตามกฎหมายของกรมศุลกากรนั้น ใช่ว่า “ผกก.โจ้” จะได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เพราะตามกฎหมายเดิมของกรมศุลกากร ก่อนปี 60 ได้กำหนดให้เงินสินบนแก่บรรดาสายข่าวต่าง ๆ ในอัตรา 30% และให้เงินรางวัลนำจับในอัตรา 25% โดยในกรณีนี้ “ผกก.โจ้” ในฐานะเจ้าของสำนวนคดี จะได้รับในส่วนของค่าเงินรางวัลนำจับในอัตรา 25% เท่านั้น
แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เต็มจำนวนทั้ง 25% เพราะต้องมีการหักค่าดำเนินการจนกว่าคดีถึงที่สุด และยังต้องแบ่งจ่ายให้กับคนที่เกี่ยวข้องในการนำจับด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในส่วนของกฎหมายใหม่ที่ได้แก้ไขแล้วตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมา ได้ปรับลดอัตราเงินให้สินบนและเงินรางวัลนำจับเหลือเพียงแค่อย่างละ 20% เท่านั้น และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อคัน
แต่เอาเข้าจริงนะ เรื่องรางวัลสินบนนำจับ คงเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเท่านั้น หากนำไปเทียบกับ กระบวนการฟอกรถ ที่ต่างรู้กันว่าเส้นทางที่เดินกันเข้ามานั้นสร้างกำไร สร้างรายได้ให้มหาศาล โดยเฉพาะการใช้ “เครื่องแบบ” เข้ามาปูทางทำมาหากิน
“กระบวนการฟอกรถ” ที่ก็รู้ดีกันอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ “ซูเปอร์คาร์” ที่คันนึง ก็แตะหลักหลายสิบล้าน โดยนำเข้ามาจากต่างประเทศแล้วก็แกะ “สมองกล” ออก โดยเจ้าสมองกลถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของรถซูเปอร์คาร์กันทีเดียว

จากนั้นก็ลำเลียงนำส่งไปให้กรมศุลกากร ในฐานะของกลาง เพื่อทำการขายทอดตลาด ส่วนเจ้าหน้าที่จะรู้หรือไม่รู้ว่า “สมองกล” กับซูเปอร์คาร์นั้นขาดกันไม่ได้ ในชั้นนี้ ก็คงไม่มีใครบอกได้
ว่ากันว่า…ในบรรดาแวดวงของผู้ประมูลรถขายทอดตลาดน่ะ เค้ารู้ดีกันอยู่ถ้าสมองกลไม่มี รถซูเปอร์คาร์ก็ “หมดค่า” ด้วยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนอะไร ก็กลับมาประมูลในราคาที่ถูกกว่าราคาขายจริง แล้วนำกลับไปติด “สมองกล” เหมือนเดิม แล้วก็ขายออกไป ได้กำไรบานเบอะ
อีกวิธี!! ก็ใช้กับรถหรูเหมือนกันแต่ไม่เท่าซูเปอร์คาร์ โดยเฉพาะรถยนต์ที่มาจากเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกมาก แล้วขนไปตรวจสอบที่ส่วนกลาง กลายเป็นของกลางเพื่อนำขายทอดตลาด ก็รับเงินรางวัลสินบนนำจับไปในอัตรา 55% ถูกต้องตามกฎหมาย
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา กรมศุลกากรเองก็นำรถยนต์ของกลางมาเปิดประมูลขายทอดตลาด เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว และได้หยุดการประมูลไปเมื่อปี 60 จากนั้นก็มาเปิดประมูลอีกครั้งในปลายปี 63 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งก็สร้างรายได้ราว 300 ล้านบาท
จากนี้ไปกระบวนการประมูลขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางของกรมศุลกากรจะเป็นอย่างไร? โดยเฉพาะการประมูลในรูปแบบเดิม ๆ ที่ประมูลขายทั้งคันจะทำต่อไปหรือไม่?
หรือจะอาศัยจังหวะฉาวนี้ สังคายนาปิดช่องโหว่ “ฟอกรถหรูฉาว” เพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย แต่ “คนในเครื่องแบบ-คนบางกลุ่ม” ได้ประโยชน์ ซึ่งคงต้องเกาะติด รอดูกันต่อไป
…………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo