วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“เจอ-จ่าย-จบ” บทเรียนใหญ่ บริษัทประกันฯต้องขยาด!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เจอ-จ่าย-จบ” บทเรียนใหญ่ บริษัทประกันฯต้องขยาด!!

ประกัน “เจอ จ่าย จบ” ได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทย หลังบรรดาผู้ซื้อประกันที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่างรวมตัวกันไปเรียกร้องขอเคลมประกัน กันถึงบริษัทประกัน

ด้วยเพราะ…ก่อนหน้านี้การทำเรื่อง การดำเนินการ กระบวนการขอเคลม ไม่ได้อย่างรวดเร็วตามที่ตั้งเงื่อนไขไว้ในกรมธรรม์ ผู้ที่ซื้อประกันแต่ละคนต่างก็เดือดร้อน จากการตกงาน ทำงานไม่ได้ ขณะที่บางคนต้องมีภาระค่าใช้จ่าย เงินที่รัฐอุดหนุนช่วยเหลือมาก็ไม่เพียงพอ

ในเมื่อจ่ายเงินไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รับเงินชดเชย ตามที่กล่าวอ้างไว้ แม้ที่มาของต้นเหตุจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจเพราะติดเชื้อไวรัสจริง ๆ หรือเป็นไปด้วยการจงใจกระทำเพื่อหวังเงินเคลมประกันก็ตาม

แต่หากทุกอย่างเข้าเงื่อนไข!! ของการต้องจ่ายเงินสินไหม ก็ต้องเป็นไปตามนั้น เมื่อช้า…เมื่อไม่ได้ ก็ต้องบุกไปถึงที่ ก็ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นวิถีที่เคยเป็นไปเป็นมาอยู่แล้ว เพราะเป็นสิทธิ์ของผู้เอาประกัน

จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม จะด้วยเอกสารหลักฐานไม่ครบ จะด้วยคนทำงานมีน้อย ต้องทำงานที่บ้านหรือเวิร์ค ฟอร์ม โฮม  แต่สุดท้าย… บริษัทประกันเองก็ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของกรมธรรม์

ล่าสุด… สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  หรือคปภ. ได้ออกมาเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้ผู้เอาประกันต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ด้วยการออกคำสั่งเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้การจ่ายเงินเคลมประกันนั้นรวดเร็วขึ้น

โดยกำหนดให้บริษัทที่มีปัญหาเรียกร้องจ่ายเคลมตั้งแต่ 100 เรื่องขึ้นไป ต้องมีหน่วยงานรับเรื่องเรียกร้องเคลมโควิดโดยตรง และกำหนดให้ตรวจสอบเอกสารเรียกร้องค่าสินไหมให้เสร็จใน 3 วัน หากเอกสารครบต้องจ่ายเคลมภายใน 15 วัน แต่ถ้าไม่ครบต้องรีบแจ้งผู้เอาประกันภัยภายในวันเดียวกับที่ตรวจและจ่ายหลังจากนั้นภายใน 15 วันหลังยื่นเอกสารแล้ว

ส่วนในกรณีมีปัญหาการตีความและหาข้อยุติไม่ได้ ให้บริษัทประกันเสนอความเห็นต่อ คปภ. ภายใน 7 วัน รวมถึงรายงานผลทุก 15 วัน โดยคปภ.ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ 4 ชุด มาช่วยพิจารณาประกันในส่วนเจอจ่ายจบ ค่าชดเชยรายวัน ค่ารักษาพยาบาล และอื่น ๆ เป็นการเฉพาะ รวมถึงหากยังพบความล่าช้าจนเข้าข่ายประวิงเวลาก็จะใช้กฎหมายเข้าดำเนินการ

ไม่เพียงเท่านี้…เพื่อไม่ให้บริษัทประกันนั้นตึงเกินไป คปภ.ยังเตรียมผ่อนเกณฑ์กำกับดูแล เป็นการชั่วคราว เพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถจ่ายเคลมประกันโควิดถึงมือประชาชนได้รวดเร็วขึ้น

แม้คปภ. และบริษัทประกันภัย ต่างออกมาการันตี ว่าฐานะของบริษัทประกันภัยในภาพรวมต่างยังคงแข็งแกร่ง และไม่มีความเสี่ยงในระบบบริษัทประกันก็ตาม เพียงแต่การแพร่ระบาดของโควิดนั้น เกินความคาดหมาย จึงเกิดเหตุมากมายสารพัด

ต้องยอมรับว่า เรื่อง “เจอ-จ่าย-จบ” ได้กลายเป็นกรณี ที่น่าจะทำให้บริษัทประกัน “เข็ด” ด้วยคิดไม่ถึงว่าพิษของโควิดจะรุนแรง และยาวนานจนน่ากลัว จึงทำให้สินค้าที่ออกมา ต้องเผชิญกับภาวะ “ขาดทุน” ถึงขนาดที่ก่อนหน้านี้มีหลายรายขอถอนตัวเพราะรับไม่ไหว

สุดท้าย!! คปภ.ต้องออกมาห้ามทัพ ห้ามถอนตัว โดยเด็ดขาด อยู่ ๆจะมา “เท” กันอย่างนี้ไม่ได้ หลายรายก็ต้องกัดฟันรับประกันให้ครบปี ขณะที่บางรายเมื่อครบกำหนดก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อรักษาลูกค้าไว้

ทั้งนี้จากข้อมูลประกันภัยโควิด ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 พบว่ามีเบี้ยประกันภัยรับรวม 9,221 ล้านบาท มีจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมด 26.94 ล้านกรมธรรม์ มียอดจ่ายเคลมประกันรวมกว่า 2,051 ล้านบาท

ซึ่งเฉพาะปี 64 พบว่ามีเบี้ยประกันรับรวม 4,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.99 % โดยมีจำนวนกรมธรรม์ 12.65 ล้านกรมธรรม์  มียอดจ่ายเคลมประกันรวม 1,774.84 ล้านบาท

ด้วยจำนวนการซื้อประกันโควิดที่เพิ่มขึ้นมากเช่นนี้ ทำให้จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.64 มียอดจ่ายเคลมสะสมเพิ่มมาอยู่ที่ 2,050.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.38% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 63 มากถึง 645.50%  กันทีเดียว

ที่สำคัญ!!! หากการติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย มีคนเสียชีวิตเป็นหลักร้อยคนต่อวันไปเรื่อย ๆ ก็จะได้เห็นยอดเคลมประกันในเดือนส.ค.64 เพิ่มขึ้นไปถึง 7,500-8,000 ล้านบาท และอาจทะลุเกิน 10,000 ล้านบาท ด้วยซ้ำ เพราะกรมธรรม์ประกันภัยโควิด คุมครองยาว 1 ปี จนถึงปี 65

เห็นตัวเลขการเคลมประกันที่สูงเช่นนี้ คงกลายเป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ให้กับบริษัทประกัน เพราะใครจะไปคิดว่า “เจอ จ่าย จบ” ที่ฮิตติดปากและติดลมบน ที่สร้างยอดขายประกันจำนวนไม่น้อย สุดท้ายแล้วได้กลายเป็นหอกข้างแคร่ ที่หยิกเล็บจนเจ็บเนื้อ  จนเกินจะทน!!

…………………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img