ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องแปลกแหวกแนวอะไร!! สำหรับปัญหาระหว่าง “ร้านอาหาร” กับ “นักรีวิว” ที่กำลังเป็นประเด็น “ดราม่า” กันอยู่ในเวลานี้
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นมีให้เห็นกันบ่อยครั้ง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แล้วแต่เคส…แล้วแต่กรณี…ว่าจะมี “การขยาย” ความออกจนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ หรือ “จบ” กันไปแบบเงียบ ๆ
ประเด็นการให้ “รีวิว” ก็มีทั้งรูปแบบที่เจ้าของกิจการเชิญมาให้รีวิว กับบล็อกเกอร์ขอเข้ามารีวิวเอง ซึ่งการขอเข้ามารีวิวเอง นี่แหล่ะ คือปัญหาใหญ่
โดยเฉพาะ…ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรีวิว ใคร?? ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากตกลงกันได้ชัดเจน ครบถ้วน ทุกกระบวนความ ก็จบ แต่ถ้าเข้าใจกันคลาดเคลื่อน ก็นำไปสู่สารพัดปัญหา
แม้สุดท้าย เคสที่เป็นประเด็นดราม่าในเวลานี้ “จบ” ลงด้วยดี ด้วยความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีเรื่องราวอะไรใหญ่โตบานปลายกันจนกลายเป็นคดีความอะไร
แต่ก็เชื่อได้ว่า “ผลลัพธ์” ที่เกิดขึ้น ได้ทำให้หลายฝ่ายต้อง “ฉุกคิด” เพราะตามที่เป็นข่าว “นักรีวิว” เกิดผลกระทบกับตัวเองมากมายจากความ “หัวร้อน”
ไม่มีใครปฎิเสธว่า… ส่วนหนึ่งของ“ความสำเร็จ” มาจากการทำการตลาด จากการ “การรีวิว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้…ยุคที่ “โซเชียล” กำลังเป็นใหญ่ การบอก “ปากต่อปาก”ผ่านโซเชียล จึงกลายเป็น “พลัง” ที่ทำให้เกิดพฤติกรรม “ตามไปกิน”
ไม่เพียงแค่ “โซเชียล” เท่านั้น การนำเสนอร้านอาหาร ชนิดอาหาร สถานที่ ผ่านสารพัดรายการทีวี ที่มีอยู่มากมายในเวลานี้ก็เป็นอีกแรงดึงดูดไม่น้อยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้…มูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในแต่ละปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด จึงเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 4แสนล้านบาท
ในอีกทาง…อาชีพบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ที่เกิดขึ้น ในยุคของโลกโซเชียล ก็กลายเป็นอาชีพยอดฮิต เพราะรายได้ดี มีคนซื้อโฆษณา จ้างทำรีวิวมากมาย จึงเป็น “อาชีพใหม่” ที่คนรุ่นใหม่อยากเป็น
แต่การขึ้นแท่น “อินฟลูเอนเซอร์” ก็ใช่ว่าเปิดเพจแล้ว “ปังทันที” แต่ต้องมีองค์ประกอบอีกมากมาย รวมถึง “จรรยาบรรณ” ของอาชีพ ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตามจากพิษสงของไวรัสโควิด ได้ส่งผลอย่างมากกับธุรกิจร้านอาหาร แม้เวลานี้จะหายใจหายคอได้เพิ่มมากขึ้น หลังคลายล็อคดาวน์ โดยเปิดให้ร้านอาหารในห้าง ในคอมมูนิตี้มอลล์ สามารถเปิดให้บริการได้ รวมไปถึงการอนุญาตให้นั่งรับประทานในร้านได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
กรุงไทยคอมพาส ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า จากผลกระทบของโควิด อาจทำให้ความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมในครึ่งปีหลังอยู่ที่ประมาณ 1.07-2.14 แสนล้านบาท หรือหายไป 22-44% ของรายได้โดยรวมของร้านอาหารในปี 62 และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เพื่อฟื้นตัว
ขณะที่ยอดขายของฟู้ด ดีลิเวอรี่ กลับเติบโตอย่างมาก จากการไม่สามารถไปทานอาหารนอกบ้านได้ คนไม่อยากออกจากบ้านเพราะกลัวโควิด และอีกสารพัดเหตุผล โดยคาดการณ์กันว่าเติบโต เฉลี่ย 31% ในช่วงปี 63-68
ในช่วงวิกฤติเช่นนี้… ต้องยอมรับว่า การได้รับการ “รีวิว” จากนักรีวิว หรือบล็อกเกอร์ หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ เป็นอีกช่องหนึ่ง ที่ทำให้ยอดขายอาหารของร้านอาหารกลับมาได้รวดเร็วมากขึ้น
เรื่องราวที่เกิดขึ้นล่าสุด !! จึงน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีให้กับทั้งร้านอาหารและนักรีวิว ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ หรือทั้งนักรีวิว บล็อกเกอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นการ ดีลงาน การติดต่อเพื่อขอให้มารีวิว หรือติดต่อเพื่อเข้าไปรีวิว จำเป็นที่ต้องตกลง และเจรจากันให้ชัดเจน และต้องเป็นการยินยอมของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เป็นความเข้าใจที่ไม่เหมือนกัน หรือไปกันคนละทาง จนทำให้เกิดปัญหา!!
ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เวลานี้ ร้านอาหารกำลังยากลำบาก การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามบทบาทตามหน้าที่ของตัวเอง น่าจะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด!! ดีกว่า…ต้องถูกตราหน้าว่า “จ้องกินฟรี”
……………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo