การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไทยในช่วงม.ค.63-ส.ค.64 หรือในช่วง 20 เดือนที่ผ่านมา ลดลงไปแล้วกว่า 3.55 ล้านล้านบาท หรือลดลงไปกว่า 79% (ตามข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี)
การลดลงเช่นนี้…ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นมีสัดส่วนต่อรายได้ของประเทศเกือบ 20%
ขณะที่สภาพัฒน์เอง ก็ชี้ว่าการท่องเที่ยวไทยต้องใช้เวลาอีก 5 ปี หรือภายในปี 2569 จึงจะฟื้นคืนชีพกลับเข้าสู่โหมดปกติ ก่อนหน้าการเกิดไวรัสร้ายโจมตี
ที่สำคัญ ในเวลานี้ แรงงานด้านการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องกว่า 3 ล้านคน ต้องออกนอกระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปแล้ว เพื่อไปประกอบอาชีพอื่น หรือบางคนที่ไม่มีที่ไปต้องกลายเป็นคนตกงาน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก!! ที่ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งกระตุ้นอย่างหนัก เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด แม้ว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ยังไม่มีจุดสิ้นสุดก็ตาม
แต่การมานั่งรอให้เชื้อไวรัสร้ายหมดไปจากประเทศ แล้วค่อยกระตุ้นการท่องเที่ยว ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน!!
แล้วจะทำอย่างไร? ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดานักท่องเที่ยวว่า… เมื่อเข้ามาเที่ยวประเทศไทยแล้วโอกาสการติดเชื้อไวรัสนั้น จะเกิดขึ้นน้อยที่สุด
ด้วยการที่ประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทาง ที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดภูเก็ต
ดังนั้น การเดินหน้า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จึงกลายเป็นเป้าหมายหลัก ที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและดันให้เป็นจุดนำร่องของการเปิดประเทศ จนถึงขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูเก็ตแล้วกว่า 32,000 คน
ล่าสุด!! ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ได้เห็นชอบ ให้มีการขยายผลและพลิกโฉมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก หรือระดับ “เวิล์ดคลาส เดสทิเนชั่น”
ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และไตรมาสแรกของปีหน้า หรือปี 65 จำนวน 1 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 35,000 คน และเชื่อว่าจะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท
ส่วนการจะเดินหน้าให้ได้เช่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลงทุน ทั้งด้านการเสริมสร้างความปลอดภัย การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและยกระดับระบบสาธารณสุข ที่เห็นผลลัพท์ได้ชัดเจน
ขณะเดียวกันการเยียวยาและการดูแลประชาชนในระดับฐานราก ก็เป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้และต้องควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ไม่ให้บอบช้ำมากไปกว่าเป็นอยู่
ไม่เพียงเท่านี้ ในแง่ของมาร์เก็ตติ้ง ก็ต้องยิ่งหย่อนไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะการกระหึ่มจัดงาน “ไทยแลนด์ เฟสติวัล” การจัดกิจกรรมระดับโลก การจัดกีฬาระดับโลก เพื่อเป็นจุดดึงดูด และปูทางให้ “ภูเก็ต” กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกให้ได้
การเดินทางให้ถึงเป้าหมาย จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ปรับเงื่อนไขการเดินทางเข้าไทยให้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดวันกักตัวเหลือเพียง 7 วัน การตรวจ RT-PCR ก่อนมาและเมื่อถึงสนามบิน จากนั้นให้ตรวจแบบ ATK หรือการจัดทำหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทยออนไลน์แบบหมู่คณะ การอนุญาตเที่ยวบินพาณิชย์ของรัสเซียให้สามารถเดินทางเข้าสู่ภูเก็ต
การผ่อนคลายคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน หรือ เอสโอพี ของกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สำหรับผู้โดยสารเครื่องบิน การลดค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR ให้น้อยลงหรือเป็นภาระกับนักท่องเที่ยวน้อยที่สุด หรือแม้แต่เรื่องของค่าเบี้ยประกันภัยก็ต้องลดลง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องมีของ วีซ่า ออนอาร์ไรเวล หรือ วีโอเอ การออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าไทยแบบออนไลน์ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต้องมี เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ที่ถูกต้องชัดเจน
ทั้งหลายทั้งปวง…คือ เป้าหมายที่รัฐบาลจะเดินหน้ายกระดับภูเก็ตให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวระดับโลก แต่ปัญหา คือ จะทำได้หรือเปล่า? นั่นแหล่ะ คือสิ่งที่ต้องจับตาดู
………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo