การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง เมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้นนำมาสู่การเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 เพื่อหวังกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับฟื้นคืนมา
อย่างน้อย!! หัวใจหลักของการหารายได้เข้าประเทศ ก็มาจากการท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วนเกือบ 20% ของจีดีพีของประเทศ ซึ่งรัฐบาลเองก็ตั้งเป้ามายว่าอย่างน้อยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้เรื่อยไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า น่าจะดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างน้อย 1 ล้านคน
ที่ผ่านมา…รัฐบาลได้ใช้นโยบายการคลัง การเงิน เพื่อประคับประคอง ต่อสู้กับโรคโควิด ไม่ให้ดิ่งลึก แม้ต้องใช้เงินกู้กว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อประคองให้รอดก็ตาม
เมื่อทุกอย่าง!! เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ก็ถึงเวลา ที่รัฐบาลต้องงัดเอาเครื่องยนต์ด้านอื่นเข้ามาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ด้านการลงทุน
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาการลงทุนจากภาคเอกชนนั้นลดน้อยถอยลงไปมาก ด้วยพิษร้ายของไวรัสโควิด ที่ทำให้ความมั่นใจในทุกทางนั้นแทบไม่มีเกิดขึ้น
ดังนั้น!! เมื่อมีช่อง มีโอกาส ก็ต้องรีบคว้าไว้ เพราะจากนี้ไปเป็นเรื่องที่ต้องเร่งฟื้นฟูประเทศให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี จะกลายเป็น “คลื่นการลงทุน” ที่สำคัญของประเทศ
“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกไว้ชัดเจนว่า ในเวลานี้รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมที่จะสร้างระบบนิเวศน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสของประเทศ คือ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์อีวี
เพราะ…การเข้ามาลงทุนในไทยจะชัดเจนขึ้นตามทิศทางการโยกย้ายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยง และลดผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามทางการค้า
ที่สำคัญ!! ทิศทางของโลกในเวลานี้ ก็นำไปสู่การ “ลดโลกร้อน” ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ที่ในอนาคตจะกลายเป็น “เงื่อนไข” ของการค้าการลงทุนของโลกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ชัดเจน ในเวทีผู้นำ COP26 ที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และภายในปี 2065 จะสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
“รถอีวี” จึงกลายเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญที่จะทำให้การลงทุนหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น ตามทิศทางของกระแสโลก ที่นำไปสู่การลดโลกร้อน และอีกไม่นานรัฐบาลจะตัดสินใจชุดมาตรการการจูงใจการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มมากขึ้น
โดยการประกาศของ “สุพัฒนพงษ์” ครั้งนี้ ก็กลายเป็นกระแส สร้างแรงดึงดูดได้ไม่น้อยเช่นกัน เพราะทุกคนต่างอยากรู้ว่ารัฐบาลจะกำหนด “อัตราภาษีสรรพสามิต” ของรถอีวีนี้อย่างไร แม้ความชัดเจนทั้งหมดต้องรอให้ที่ประชุมครม.ตัดสินใจเคาะออกมาเสียก่อนก็ตาม
ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี อยู่แล้ว แต่ในแง่ของ “ผู้ใช้” ยังมองว่าเรื่องของราคานั้นยังแพงเกินไปยังไม่จูงใจ และยังมีอีกสารพัดปัจจัย ที่ยังไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟฟ้า รวมไปถึงความเข้าใจในสภาพของการใช้รถ
ต้องยอมรับว่า รถยนต์อีวี ไม่ใช่ทางเลือกของผู้ที่ต้องการมีรถคันแรก ส่วนใหญ่ เป็นรถคันที่ 2 คันที่ 3 เสียมากกว่า ดังนั้นการจะดึงดูดให้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวีกระเตื้องมากขึ้น หรือเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น “ราคา” เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเป็น “แม็กเน็ต” หลัก
รัฐบาลมีนโยบายว่า ในปี 2573 จะขยายจำนวนการผลิตรถอีวีเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในประเทศ และระยะถัดไปพัฒนาเป็นการผลิตรถอีวีให้ได้ 100% ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่การเกิดขึ้นในทันที
ปัจจุบันโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เป็นการคำนวณภาษีตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการทำงานของรถยนต์ ดังนั้นยิ่งรถยนต์แบบใช้น้ำมันที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงอัตราภาษีจะแพง
ส่วนรถยนต์แบบผสม หรือ “ไฮบริด” ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่า อัตราการเก็บภาษีก็ถูกลง ในขณะที่รถอีวี แทบไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเลย จึงควรมีการเก็บภาษีที่ถูกที่สุด ส่วนรายได้ที่เข้ามาทดแทนก็หนีไม่พ้น “ภาษีคาร์บอน”
ว่ากันว่ารัฐบาลจะตัดสินใจ ก็ต่อเมื่อผ่านพ้นเทศกาลขายรถประจำปีอย่างมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 38 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 1-12 ธันวาคม นี้ไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ “ช็อก” หรืออย่างน้อยก็เริ่มในต้นปีของปี 65 เพื่อไม่ให้ตลาดรถยนต์กระทบกระเทือน
ทั้งหมด!! จึงต้องรอดูกันว่า เรื่องราวของรถอีวี ภาค 2 นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะ “ราคา” จะเป็นที่ “เร้าใจ” จน “อยากซื้อ” ได้มากน้อยเพียงใด?
……………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo