ในที่สุด!! ความฝัน ความหวังของคนไทย ก็กลายเป็นจริง หลังรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตัดสินใจให้ประเทศไทยสามารถจัด “งานลอยกระทง” ได้
ต้องถือว่า…เป็น “งานใหญ่” ครั้งแรก หลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของรัฐบาลเอง ก็เปิดพื้นที่ “คลองผดุงกรุงเกษม” ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกฯและภริยา เป็นประธานและร่วมประเดิมลอยกระทง ตามประเพณีปฎิบัติที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน
“ลอยกระทง” ถือเป็นประเพณีที่สำคัญสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่นิยมทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 มีวัตถุประสงค์ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับประเพณีความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น
ประเพณีเก่าแก่นี้…ไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา หรือแม้แต่ในจีน หรืออินเดีย ก็มีประเพณีนี้ แต่ต่างกันในเรื่องของรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่เศรษฐกิจยัง “ไม่ชื่นมื่น” มากนัก รวมถึงยังมีการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ ก็ทำให้คาดการณ์กันว่าการเดินทางไปร่วมงานลอยกระทงคงไม่คึกคักอย่างที่ใครต่อใครคาดหวัง
แม้คนส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญของประเพณีอันดีงาม แต่!ความหวาดระแวงความกลัวติดเชื้อโควิดยังคงมีอยู่ จึงเลือกที่จะลอยกระทงผ่านทาง “ออนไลน์” มากกว่า
จากผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ระบุว่า ประชาชนกว่า 60% ยังกังวลเรื่องโควิด และกลัวเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ขณะที่อีก 43.94% บอกว่า ยังไม่สนใจไปร่วมเทศกาลลอยกระทง และยังไม่แน่ใจ อีก 30.68% โดยสนใจลอยกระทงออนไลน์ ถึง 33.50%
นอกจากนี้ยังมีถึง 40.86% ที่ยังไม่ค่อยมั่นใจต่อมาตรการป้องกันโควิด และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดถึง 86.82%
อย่างที่บอก…ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก ก็ทำให้คาดการณ์กันว่า เงินสะพัดหรือการใช้จ่ายในเทศกาลลอยกระทงในปีนี้คงยัง “ดีด” ไม่ขึ้นเช่นกัน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า เงินสะพัดของวันลอยกระทงในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 9,147 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 54 กันทีเดียว แถมยังหดตัวถึง 3% ในรอบ 5 ปี อีกต่างหาก
ทั้งนี้การใช้จ่ายต่อคนจะอยู่ที่คนละ 1,280 บาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีค่าใช้จ่ายคนละ 1,348 บาทต่อคน ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายเพื่อการดินทาง การรับประทานอาหารนอกบ้าน การสังสรรค์ ฯลฯ
เหตุผลสำคัญ!! ก็ไม่ใช่อื่นใด ด้วยเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ที่ยังกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เพราะรายได้ใหม่ยังไม่เข้ามาอย่างเต็มที่ รวมทั้งยังกังวลเรื่องโควิด จึงยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย
อย่าลืมว่า…ณ เวลานี้ อะไร ๆ ก็แพง อาหารการกินปรับขึ้นราคาเป็นแถว เพราะต้นทุนแพง เนื้อสัตว์ก็แพง น้ำมันก็แพง เครื่องปรุงสารพัดปรับเพิ่มขึ้น แต่เงินในกระเป๋ายังแฟบเหมือนเดิม
แม้แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจจะเริ่มผงกหัวขึ้นได้บ้าง แต่ยังไม่เต็มที่ บรรดาภาคเอกชน นักเศรษฐศาสตร์ ต่างออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลงัดมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจกันต่อ
ทั้งเรื่องของ “ช้อปดีมีคืน” แม้ว่าในช่วงอีกเดือนเศษ ๆ ก่อนปิดปี 64 จะไม่มีออกมาแน่นอน แต่อย่างน้อยในช่วงต้นปีใหม่ ในช่วงที่ยังอยู่ในเทศกาล หากมีออกมาก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าได้ไม่น้อย
หรือแม้แต่ความหวังของการออกมาตรการ “คนละครึ่งเฟส 4” ในช่วงต้นปี ก็เป็นผลดีไม่น้อยเช่นกัน!!! เพราะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจสามารถหมุนต่อเนื่องได้
หลายสำนักวิจัยคาดการณ์ไว้ว่าในปีหน้า เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นจนเติบโตได้อย่างน้อย 3-4 % หรือแม้แต่สภาพัฒน์เอง ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ที่ 3.5-4.5%
ณ เวลานี้ ต้องช่วยกันภาวนากันไปก่อนว่า… การประเดิมจัดงานลอยกระทงครั้งนี้ จะไม่ก่อให้เกิด “คลัสเตอร์ใหม่” เพิ่มมากขึ้นไปอีก หากทุกอย่างควบคุมได้ ประกอบกับการฉีดวัคซีนจนครบ 100 ล้านโดส ตามที่ประกาศไว้
ก็เชื่อได้ว่า..“ความเชื่อมั่น” ของคนไทยทั้งประเทศก็จะกลับคืนมา และทำให้อะไร ๆ ดีขึ้นกว่าเดิม หรืออย่างน้อยคนไทยก็จะได้ร่วมฉลองเทศกาลแห่งความสุขได้ร่วม “เคานท์ดาวน์” หลังจากต้องหมดสนุกไป2 ปี!!
…………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo