วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSปีเสือ...พุ่งหรือรุ่ง ห่วง“โอมิครอน”ขย่มซ้ำ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปีเสือ…พุ่งหรือรุ่ง ห่วง“โอมิครอน”ขย่มซ้ำ

เหลืออีกไม่กี่วัน!! โลกทั้งใบจะก้าวเข้าสู่ “ปีเสือ” ที่หลายสำนักวิจัยต่างหมายมั่นปั้นมือกันไว้ว่า เศรษฐกิจไทยคงลืมตาอ้าปากเติบโตได้ที่ 4% หรือบวกลบเล็กน้อย

โดยมีเรื่องของการ “ส่งออก” เป็นพระเอกหลักในการขับเคลื่อน ขณะที่ “การท่องเที่ยว” จะค่อย ๆ เริ่มฟื้นกลับคืนมาโดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยได้ประมาณ 5 ล้านคนหรือมากกว่านั้น เช่นเดียวกับการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคของภาคเอกชน

จากข้อมูลของ “สภาพัฒน์” ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้…จากปัจจัยในประเทศที่เริ่มดีขึ้น ภาคการผลิตเริ่มดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงไป รวมทั้งการฉีดวัคซีนแม้ยังไม่ครบตามเป้าหมายที่ 100 ล้านโดสก็ตาม แต่สามารถกระจายได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และการส่งออกสินค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ชุมชนท่องเที่ยวคลองหรูด (คลองน้ำใส) จ.กระบี่

เช่นเดียวกับเรื่องของการท่องเที่ยว หลังจากการเปิดประเทศและการมีมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มงวด การส่งออกที่พลิกกลับมาเป็นบวกและยังมีแนวโน้มดีขึ้น หรือแม้แต่ความความคืบหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

ที่สำคัญ!! ในเรื่องของฐานการขยายตัวที่ต่ำในปี 64 จึงทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้าเป็นไปในทิศทางที่ดีดตัวขึ้นแน่ ๆ

แต่!! การคาดการณ์ของหลายสำนักในเวลานี้ จะเกิดขึ้นได้ตามที่หมายมั่นปั้นมือหรือไม่? กำลังกลายเป็นคำถาม? ด้วยเพราะการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ “โอมิครอน” ที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ

แม้ผลวิจัยทางการแพทย์ในหลายประเทศ ต่างยืนยันชัดเจนว่า ความร้ายแรงของโอมิครอน อาจไม่เทียบเท่ากับ “เดลต้า” แต่การแพร่ระบาดกลับรวดเร็วมากกว่าเดลต้าหลายเท่าตัวนัก

ด้วยข้อมูลนี้จึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจว่าจะสะดุดไปอีกหรือไม่ โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่ต่าง “กังวล” เพราะอย่าลืมว่า ทั่วโลกต่างหวาดผวากับพิษสงของเดลต้า กันมาแล้ว
ขณะที่ผลชัด ๆ อย่างเป็นทางการของโอมิครอน ยังไม่ปรากฎ!!

ดังนั้นการ “กางปีก” ในทุกทาง เพื่อป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์ จึงกลายเป็นหนทางเดียวที่ทำให้ทุกอย่าง “ปลอดภัย” มากที่สุด

การ “เพลย์เซฟ” ที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว ที่หลายชาติต่างจำกัดการเดินทาง หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ที่ผลจากการสำรวจของ “ดุสิตโพล” ยังย้ำชัดว่า คนไทย เกือบ 50% กันทีเดียวที่จะงดเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่

ไม่ใช่แค่เรื่อง…การเดินทางท่องเที่ยวเท่านั้น หากพิษของโอมิครอน ไม่เป็นไปอย่างที่ทุกคนคิด นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจโลก การค้าโลกก็ย่อมต้องหยุดชะงัก ไปด้วยเช่นกัน และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกระเทือนมาถึงไทย ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า อาจทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบไปถึง 0.3% กันทีเดียว
นี่…เป็นเพียงแค่ผลพวงจากพิษของไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ที่หลายฝ่ายเกรงกลัวกัน แต่อย่าลืมว่า!! ที่ผ่านมาพิษของไวรัสโควิดตัวเดิม ๆ ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยเจ๊งไม่เป็นท่าเช่นกัน

การที่เศรษฐกิจไทยในปี 64 ยังคงสามารถขยายตัวได้อยู่ในระดับที่คาดการณ์กันไว้ที่ 1% เป็นผลจากการ “แจกเงิน” ของรัฐบาลผ่านสารพัดโครงการ เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยไปให้รอด

และการแจกเงิน!! ของรัฐบาล ก็มาจากการ “กู้” ขณะที่สถาบันการเงิน ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทนช่วยลูกหนี้ ทั้งการพักหนี้ การลดดอกเบี้ย นั่นหมายความว่า “รายได้” จะไม่เข้ามาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ในเวลาเดียวกัน “ธุรกิจ” ก็ไม่มีรายได้ รายได้ลดลง แล้วจะนำเงินที่ไหนมาจ่ายคืนให้กับแบงก์ ให้กับสถาบันการเงิน ทั้งที่การประกอบธุรกิจที่ผ่านมาต่างใช้วิธี “กู้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

ซึ่งก็นำมาซึ่งปัญหา เช่นเดียวกับ “รัฐบาล” ที่ไม่สามารถเข็นรายได้ให้เข้าเป้าได้เพราะพิษเศรษฐกิจ เพราะธุรกิจ “ขาดทุน” ไม่มีรายได้ เงินภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐก็พลอยหดหายตามไปด้วยเช่นกัน

ในปีหน้า!! ถ้าพิษของ “โอมิครอน” เข้ามาทับถม เข้าให้อีก จะเกิดอะไรขึ้น? แม้จะมี “เงินสะพัด” จากการเลือกตั้ง เข้ามาประทังไว้ได้บ้าง แต่ก็มีเรื่องของ “การบริหารประเทศ” ที่ไม่ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซี ที่เข้ามามีบทบาทมากมายอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนเพื่อเก็งกำไร แต่กำลังคืบคลานไปสู่ การชำระค่าสินค้าและบริการ

สิ่งเหล่านี้… ต้องถามว่า “ผู้บริหารประเทศ” เตรียมรับมืออย่างดีแล้วหรือยัง? หากต้องใช้วิธี “กู้เงิน” เพื่อ “กู้เศรษฐกิจ” กลับมาอีก คงมีแต่ “เจ๊ง” กับ “เจ๊ง” แน่นอน!!

………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img