รัฐบาลประกาศเดินหน้าสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ โดยหวังว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “รถยนต์อีวี” ได้ 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศ หรือประมาณ 725,000 คันต่อปี
ที่สำคัญ!ยังทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ทุกประเภทได้ต่อไป หรือยังคงรักษาการเป็นความเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ต่อไป
การเดินทางสู่…ยานยนต์ไฟฟ้า ของไทยเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ด้วยเพราะแนวโน้มหรือเทรนด์ของโลกก็มุ่งหน้าสู่ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งนั้น เพื่อลดปัญหาเรื่องของมลพิษ ลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหาโลกร้อน ลดปัญหาเสียงดังของเครื่องยนต์
ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ไม่เหมือนกับรถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมัน ที่เมื่อถึงเวลา ก็สร้างความหนักใจในการดูแลให้กับเจ้าของไม่น้อยทีเดียว
ปัจจุบันในประเทศไทยมีรถยนต์ที่จดทะเบียนวิ่งกันอยู่บนท้องถนนมากกว่า 40 ล้านคัน หากในอีก 14 ปีข้างหน้า รถยนต์ในไทยกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ถึง 15 ล้านคัน
นั่นหมายความว่า… มลพิษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นควันพิษ เสียงเครื่องยนต์ และอีกสารพัดปัจจัยเสี่ยง จะหดหายไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศ
แม้ว่าเรื่องของยานยนต์ในไทย จะเป็นที่พูดถึง เป็นที่เดินหน้ากันมาหลายปี มีรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ 100% ทั้งแบบลูกผสม เข้ามาให้เลือกใช้เป็นจำนวนไม่น้อยแล้วก็ตาม

แต่การประกาศความชัดเจนของครม.ทั้งกรณีแพคเกจการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ที่ทำให้ราคาขายลดลงได้ประมาณ 70,000-150,000 คัน หรือ กรณีของโครงสร้างภาษียานยนต์ไฟฟ้า 27 ประเภท โดยนำร่องกันก่อน 6 ประเภท ซึ่งจะได้เห็นราคากันชัดเจนก็ภายในงานมอเตอร์โชว์ ในกลางสัปดาห์หน้า
กรมสรรพสามิต ยืนยันชัดเจนมาแล้วว่า อย่างน้อยค่ายรถยนต์ 3 ค่าย ที่ตอบรับเข้าร่วมมาตรการมาแล้ว ทั้ง ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์, ค่ายเอ็มจี 2 ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน และ ค่ายฮอนด้า จากประเทศญี่ปุ่น
เมื่อทุกอย่างเดินหน้าตามกฎ ตามระเบียบเรียบร้อย ค่ายรถจะสามารถนำยานยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับส่วนลดจากมาตรการภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาขายได้ทันงานมอเตอร์โชว์ ที่คาดว่าจะมี 2,000-3,000 คัน
กรมสรรพสามิตเชื่อว่า ค่ายอื่น ๆ ถ้ามีความพร้อม ก็จะเข้าร่วมโครงการกับกรมสรรพสามิตต่อไป โดยตลอดทั้งปีนี้ ก็เชื่อว่าจะขายได้ 7,000-10,000 คัน
และเป็นที่แน่นอนว่า เรื่องงบประมาณในการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้านั้นไม่มีปัญหา เพราะได้เตรียมงบประมาณไว้รองรับในเบื้องต้นแล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท
ต้องยอมรับว่าบรรดาค่ารถที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาลในรอบนี้ ถือว่าได้รับสิทธิประโยชน์ทำให้ราคาถูกลงถึง 3 ต่อกันทีเดียว!
ต่อแรก…เป็นการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าจาก 8% ลดเหลือ 2%
ต่อที่สอง…ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามขนาดแบตเตอรี่รถยนต์ ตั้งแต่ 70,000-150,000 บาทต่อคัน ขณะที่รถจักรยานยนต์ จะได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน

ต่อสุดท้าย…ได้รับการลดอากรขาเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน หากมีราคาขายปลีกไม่เกินคันละ 2 ล้านบาท ได้ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% ส่วนรถยนต์ที่มีราคาแนะนำ 2-7 ล้านบาท จะได้รับส่วนลดสูงสุด 20%
เท่ากับว่า…รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาขายจะมีราคาลดลงไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาทในแต่ละคัน
ไม่เพียงเท่านี้รัฐบาลยังเตรียมอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ โดยการทำมิเตอร์ไฟฟ้าแบบพิเศษ ที่สามารถชาร์จไฟฟ้า จากที่บ้านได้ทันทีอีกต่างหาก
ณ วันนี้ แม้รัฐบาลจะพยายามโปรโมทยานยนต์ไฟฟ้า โดยออกสารพัดมาตรการเพื่อดึงดูด ก็ตาม แต่ถามว่า ”ความพร้อม” ของคนที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้า มีมากน้อยเพียงใด
เพราะอย่าลืมว่า ในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่เพียงแค่ “ราคา” ที่น่าดึงดูดเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงปั๊มชาร์จ เวลาในการชาร์จ ระยะทางในการวิ่ง หรือแม้กระทั่งความสมาร์ทของผู้ใช้
แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกในการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ดี แต่ก็ใช่ว่าจะเหมาะสำหรับทุกคน เพราะยังมีข้อจำกัดอีกไม่น้อย!!
……………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
