วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSรายเล็ก-รายย่อยไหวมั๊ย?...รับมือ“เทคโนโลยีดิสรัปชั่น”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รายเล็ก-รายย่อยไหวมั๊ย?…รับมือ“เทคโนโลยีดิสรัปชั่น”

รัฐบาลขน “ทีมเศรษฐกิจ” มาแจกแจงผลงานที่ทำมาในอดีตและในอนาคต!! ผ่านเวที “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า”

หลังจาก…ได้ฝ่าฟันประเทศไทยให้ผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการประคับประคองให้เศรษฐกิจ ให้ประเทศ สามารถรับมือกับสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่รู้อนาคตให้ได้

สารพัดแนวทางที่รัฐบาลภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่”… ได้เดินหน้า ได้ดำเนินการออกมา ถือว่า “เป็นผล” เพราะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้น “บรรเทาเบาบาง” ลงไปมาก แม้จะสาหัสสากรรจ์ไม่น้อย!! ก็ตาม

แต่จนถึงขณะนี้…ใช่ว่าจะมีเพียงแค่ “พายุ” 2 ลูกใหญ่ ที่ถาโถมเข้ามาภายใต้วลี “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” เท่านั้นในโลกใบนี้ ยังเผชิญในเรื่องของ…เทคโนโลยีดิสรัปชั่น ที่ทุกวันนี้ ใครตามไม่ทันเทคโนโลยี ก็ไปไม่รอด

ที่สำคัญ!! การคิดเพียงแค่ “ลูกค้า” ต้องการสินค้าและบริการอะไร คงไม่เพียงพอ เพราะเราอยู่ในยุคของเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี

“สมประวิณ มันประเสริฐ” รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ให้มุมมองในเวทีนี้ไว้อย่างน่าคิดว่า…ในเวลานี้เข้าสู่วัฐจักรเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอีก

ดังนั้น…การคิดเพียงแค่…ลูกค้าต้องการสินค้าและบริการอะไร? คงไม่เพียงพอ แต่ต้องมองข้ามไปเลยว่า ลูกค้าของลูกค้า…ต้องการสินค้าและบริการอะไรมากกว่า

เมื่อมองออกถึงจุดนั้น ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเข้าไปแย่งชิงพื้นที่ตรงนั้นให้ได้ เพราะนั่นคือโอกาส ที่ยังไม่มี “เจ้าที่” มาครอบครอง หากเดินหน้าได้เร็ว เบียดพื้นที่ได้เร็ว ก็คือ “โอกาส”

“สมประวิน” ยกตัวอย่าง “ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ” ของไต้หวัน และเกาหลีใต้ ว่า ในช่วงที่เกาหลี หรือไต้หวัน อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกับไทยนั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต มาจากการปรับโมเดลการเติบโตที่เหมาะสมกับลำดับขั้นของการพัฒนา

นั่นหมายความว่า … ณ เวลานี้ หมดยุคของการหยิบยืมนวัตกรรมจากประเทศที่พัฒนา แล้วเข้ามาเพิ่มผลิตภาพให้กับ แต่ต้องเติบโตมาสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วยตัวเองจากภายใน

เสียงเตือนของ “สมประวิน” ครั้งนี้ แม้ตรงกับแนวทางที่รัฐบาลได้วางเอาไว้ ผ่านแผนพัฒนาชาติฉบับที่ 13 ที่ได้วางแผนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้นโดยการใช้การวิจัยและนวตกรรม

ปัญหา? คือ ภาคอุตสาหกรรมของไทยพร้อมหรือยัง? ไม่ต้องพูดถึงรายใหญ่ สายป่านยาว มีทุกอย่างพร้อม แต่ต้องหันกลับมาดู รายเล็ก!!รายย่อย !! ที่ทุกวันนี้ยังอยู่ในภาวะพะงาบ…พะงาบ

ผลสำรวจของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งการขายปลีกหรือขายส่ง การผลิต บริการอาหารและเครื่องดื่ม และผู้ประกอบอาชีพอิสระรายใหม่ มีระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัล “ค่อนข้างต่ำ”

ขณะที่มีประมาณ 40% ที่เป็นกลุ่มมือใหม่ ที่มีระดับทักษะความรู้แบบ “ลองผิดลองถูก” ส่วนกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มีทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลสูง และสามารถบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์ได้เป็นอย่างดี จะ “กระจุกตัว” อยู่ที่บางกลุ่มเท่านั้น

ผลสำรวจครั้งนี้ถือว่าน่าคิด…ที่รัฐบาลต้องตระหนักและหันกลับมามองว่า แนวทางที่รัฐบาลวางแผนไว้ หรือกำลังดำเนินการอยู่นั้น “ชนเป้าหมาย” หรือไม่

อย่าลืมว่าทุกวันนี้ เสียงเรียกร้องในการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ของบรรดาเอสเอ็มอีไทยนั้น มีออกมาให้เห็นกันแทบทุกวัน ขณะที่ภาครัฐเอง ก็ออกข่าวสารพัดว่า มีสารพัดสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี

ถามว่า!! ปัญหาอยู่ตรงไหน? แม้สุดท้ายแล้วจะเหมารวมว่า เป็นเพราะเอสเอ็มอีขาดการปรับตัว!!

เช่นเดียวกัน…กับการเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงนวัตกรรม ของบรรดาเอสเอ็มอี นั้นมีมากน้อยเพียงใด

แม้มีนวัตกรรม แต่ไม่มีเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน หรือไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี หรือเข้าถึงนวตกรรม อย่างจริงจัง

ต่อให้รัฐบาลเขียนแผน วางแผน ไว้สวยหรูเพียงใด แต่ถ้า “การขับเคลื่อน” ไปไม่ได้ ไปไม่ถึง ขณะที่โลกกำลังเคลื่อน โลกกำลังเปลี่ยน สุดท้ายเศรษฐกิจไทยก็จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน

เพราะเอสเอ็มอีไทย ในเวลานี้ คือ….กระดูกสันหลังของเศรษฐกิจ ถ้าแข็งแรงไม่ได้ ต่อให้โลกเปลี่ยน ทุกอย่างก็อยู่ที่เดิม!!

…………………….

คอลัมน์: EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img