วิกฤติอาหารโลก!! กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก…ต่อจากวิกฤติราคาพลังงานแพง อีกหนึ่งผลพวงจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สำทับให้ปัญหาหนักหน่วงเพิ่มมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือไปจากปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ผลผลิตอาหารนั้น ขาดแคลน อย่างกรณีของคลื่นความร้อนในอินเดีย หรืออากาศแห้งในบราซิล สหรัฐอเมริกา หรือที่แคนาดา ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลกเช่นกัน
หรือ!! แม้แต่พิษสงของการระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลให้สถานการณ์อาหารโลกต้องประสบภาวะวิกฤติขาดแคลนด้วยเช่นกัน
สาเหตุ…ก็มาจากเรื่องของ การขนส่ง ที่ทำไม่ได้ เมื่อผนวกบวกรวมไปกับ ต้นทุนการผลิต ที่แพงขึ้น จากสารพัดปัจจัย ยิ่งทำให้ราคาอาหารนั้นเพิ่มสูงขึ้น
จนถึงเวลานี้ มีหลายชาติหลายประเทศทั่วโลก ได้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ร้ายแรง ที่สำคัญเป็นปรากฎการณ์ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
“เดวิด มัลพาส” ประธานธนาคารโลก บอกว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบกลุ่มคนยากไร้มากที่สุด พร้อมเตือนว่า วิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารครั้งนี้ จะครอบคลุมระยะเวลาหลายเดือนและอาจยืดเยื้อไปจนถึงปี 2566
แม้ว่า…ประเทศไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร แถมยังมีสถานะเป็น “ครัวของโลก” !!
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่ควร “ประมาท” หรือ “มองข้ามไป” เหตุผลปัจจัยใหญ่ก็เพราะ…ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสงครามรัสเซียและยูเครนจะจบลงเมื่อใดกันแน่ หากยืดเยื้อก็ยิ่งเชื่อได้เลยว่า “วิกฤติอาหาร” ย่อมไม่จบลงได้ง่าย ๆ แน่นอน
ยิ่งถึงเวลานั้น ผู้บริหารประเทศจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือในเรื่องนี้ให้ไว ให้เร็ว ให้ทันต่อสถานการณ์ แม้หลายคนในประเทศอาจมองว่า “ไกลตัว” อาจมองว่า “ยังมาไม่ถึง” ก็ตาม
แต่ก็อย่าลืมว่า… ที่ผ่านมา มีสารพัดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แบบชนิดที่รวดเร็วตั้งรับหรือรับมือกันไม่ทันทีเดียวแล้วก็สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไปไม่น้อย
ไม่เพียงเท่านี้!! ภาคการเกษตรของไทยยังไม่มีการพัฒนาอย่างเต็มที่ มีผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ แถมยังปรับตัวได้ช้า จึงถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งมือแก้ไขและเข้ามาแก้ไขปัญหา เข้ามาผลักดัน เข้ามาพัฒนา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต
ต่อให้…ภาคเอกชน เชื่อมั่นว่า วิกฤติอาหารโลก ที่เกิดขึ้นจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย เพราะภาคเอกชนจะสามารถใช้โอกาสนี้ฉวยจังหวะส่งอาหาร ส่งสินค้าของไทยไปทดแทนได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้าว ที่นำมาทดแทนข้าวสาลี กรณีที่ “อินเดีย” ระงับการส่งออกข้าวสาลี หรือ สินค้าไก่ ที่เมื่อ “มาเลเซีย” งดการส่งออก ก็ทำให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถเข้าไปทำตลาด ขยายตลาดในยุโรป ในตะวันออกกลาง หรือในเอเชีย
หรือแม้แต่เรื่องการส่งออกน้ำตาล หลัง “รัสเซีย” ได้ระงับการส่งออก ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญไม่น้อยทีเดียว เพราะน้ำตาลสามารถนำไปผลิตได้ทั้งกลุ่มอาหาร นำไปผลิตแอลกอฮอล์ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้กว่า 2 ปี ที่ไทยส่งออกน้ำตาลลดลงอย่างต่อเนื่อง
“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปีนี้จะมีมูลค่ามากถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 8.4% ทีเดียว
มูลค่าการส่งออกอหารในปีนี้ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ก็กลายเป็นว่า เป็นการทุบสถิติการส่งออกสูงสุดครั้งใหม่อีกครั้ง ด้วยเพราะความต้องการอาหารในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
เหนือสิ่งอื่นใดในเวลานี้ บรรดาภาคเอกชนต่างต้องการให้รัฐบาลช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีเป็นการชั่วคราว สำหรับการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่จำเป็นเพื่อนำมาแปรรูปในประเทศ ก่อนส่งออกไปอีกครั้ง อย่าง ถั่วเหลือง อาหารทะเล หรือเมล็ดกาแฟ
เนื่องจากสินค้าเหล่านี้…ไทยผลิตได้ไม่พอกับความต้องการ จึงไม่กระทบกระเทือนกับสินค้าในประเทศ แต่ในทางกลับกันจะเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารของไทยมากกว่า
แม้มีโอกาสในวิกฤติ!! แต่ถ้าผู้บริหารประเทศตามไม่ทัน มองไม่เห็น หรือไม่ตื่นตัว หรือยังภูมิใจกับการเป็น “ครัวโลก” โดยไม่เตรียมพร้อม หายนะ!!อาจมาเยือนได้โดยไม่รู้ตัว!!
…………………………………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)