ปัญหาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” น่าจะเป็นบทเรียน (ซ้ำแล้ว…ซ้ำอีก) ให้กับรัฐบาล ให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ นำไปพินิจพิเคราะห์ให้ถ้วนถี่กันชัด ๆ ว่า ต้องแก้ปัญหานี้อย่างไร?
ที่สำคัญ…ต้องนำกลับมาทบทวน นำกลับมาเป็นข้อคิดกันอีกที ว่าจะตีกรอบ ล้อมกรอบ แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไร เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด และไม่ถูกนำมาเป็นช่องว่างให้ผู้ประกอบการหาผลประโยชน์ใส่ตัวเอง
กระบวนการโกงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เชื่อได้ว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศคงออกแรงเชียร์ ให้รัฐบาล ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะเจ้าของโครงการ เอาผิดทุกคนที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด
เพราะอย่าลืมว่า…โครงการนี้ ใช้เงินงบประมาณจากโครงการเงินกู้ รวมเบ็ดเสร็จประมาณ 15,000 ล้านบาท ที่สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้น เงินภาษีของผู้เสียภาษีทุกคนที่ต้องนำมาจ่ายคืนให้
ช่วงนี้ เป็น ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ที่ใคร ๆ ก็ต้องการเดินทางท่องเที่ยวไปหาความสำราญ ความเบิกบานใจ จึงทำให้กระบวนการโกงแตกโพละออกมาให้เห็น เพราะใครๆ ก็อยากตอบสนองการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล จึงเข้าไปจองสิทธิ์ ใช้สิทธิ์ กันมากมาย
สุดท้าย!! กลายเป็นว่า จากเดิมโครงการนี้ไม่ค่อยจะคืบหน้า แต่ล่าสุด 5 ล้านคืนที่รัฐบาลให้เที่ยวโดยได้ส่วนลด 40% นั้นปรากฏว่าสิทธิ์ หมดกันโดยกระทันหัน
การกระทำเข้าข่ายทุจริตมีพฤติกรรมน่าสงสัย ทำเป็นขบวนการระหว่างผู้ได้รับสิทธิ กับผู้ประกอบการโรงแรม และร้านค้าที่ร่วมโครงการ แยกเป็นโรงแรม 312 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 108,962 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็ก และมีโรงแรมขนาดใหญ่บางส่วน ขณะเดียวกันยังมีร้านค้า 202 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 49,713 สิทธิ
ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดทาง ททท. ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำไปตรวจสอบ หากพบการทุจริต จะถูกดำเนินคดีให้ถึงที่สุดทั้งแพ่งและอาญา โดยเรื่องนี้ต้องขอเชียร์ททท.และหวังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งดำเนินการตรวจสอบ หาความถูกต้อง ความชัดเจน เพื่อชี้แจงความจริงต่อสังคมให้ได้โดยเร็วที่สุด
เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ครม.ได้ไฟเขียวปรับปรุง โครงการเราเที่ยวด้วย กันนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยเพิ่มห้องพักให้อีก 1 ล้านคืน แต่รัฐจะสนับสนุนให้เฉพาะ E-voucher แต่ไม่อุดหนุนเรื่องค่าที่พัก 40%
ขณะเดียวกันยังขยายสิทธิห้องพักต่อคืนจากที่ได้คนละ 10 คืนต่อ 1 สิทธิ์ เพิ่มเป็น 15 คืน และขยายสิทธิ์ไปจนถึง 30 เม.ย. 64 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเวลา 31 ม.ค. 64 เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงเทศกาลสงกรานต์ด้วยซะทีเดียว จากเดิมที่คาดว่าจะให้เฉพาะในช่วงปีใหม่เท่านั้น
แต่เมื่อเกิดปัญหาการโกงเกิดขึ้น สิทธิที่คนไทยควรจะได้กลับต้องหยุดชั่วคราวไปก่อน แถมโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ก็ต้องหยุดชะงักไปเช่นเดียวกัน
ถามว่า…ด้วย ความเห็นแก่ตัว!! เห็นแก่ได้!! ของคนเพียงกลุ่มหนึ่ง เมื่อเทียบกับความเสียหาย การเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ แล้ว ก็ควรลงโทษให้ถึงที่สุด ที่สำคัญถ้าเป็นไปได้ และถูกตัวไม่ผิดฝาผิดตัวก็ควรแจกจงรายชื่อให้คนทั้งประเทศเห็นความ “ไม่เอาไหน” ของคนกลุ่มนี้ควบคู่กันด้วย
นอกจากให้กฎหมายลงโทษแล้ว ต้องให้ “สังคม” ลงโทษด้วยเช่นกัน เพราะในยามที่ทุกคนลำบาก ทุกคนต่างร่วมมือร่วมแรงใจเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวของคนไม่กี่คนกลับมาทำลายความเชื่อมั่น
ทั้งนี้ ททท. ได้พบพฤติกรรมที่เข้าข่ายทุจริต 6 กรณีเป็นอย่างต่ำ ขอย้ำ!! ว่า อย่างต่ำ…คือ มีทั้งการเข้าพักในโรงแรมราคาถูก โดยเฉพาะโฮสเทล มีการเช็คอินผ่านแอปพลิเคชั่นเรียบร้อย แต่กลับไม่ได้พักจริง และยังได้ประโยชน์จากการใช้คูปอง (อี-เวาท์เชอร์) ที่ให้วันละ 600 บาท และวันละ 900 บาท หากพักในวันธรรมดา
ไม่เพียงเท่านี้…โรงแรมก็ขึ้นราคาค่าห้องพักสูงผิดปกติ แถมยังรู้เห็นเป็นใจกับร้านอาหารที่รับคูปองมีการซื้อขายสิทธิระหว่างกัน โดยที่ไม่เกิดการเดินทางขึ้นจริง โรงแรมมีตัวตนลงทะเบียนถูกต้อง แต่ยังไม่กลับมาเปิดบริการกลับมียอดการขายห้องพัก กรณีนี้พบว่ามีการจองตรงผ่านโรงแรมและตัวแทนทางออนไลน์ด้วย
ที่สำคัญ!! ยังมีการใช้ส่วนต่างของคูปองเพื่อรับส่วนต่างเต็มจำนวนกรณีร้านค้าเพิ่มราคาอาหารไปมากกว่ามูลค่าอาหาร รวมทั้งมีการเข้าพักจริงแบบกรุ๊ป ตั้งราคาสูงได้เงินทอนจากโครงการ ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่มีการจองตรงกับโรงแรม รวมไปถึงการเปิดให้คนจองเกินกว่าจำนวนห้องพักของโรงแรม
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ครั้งนี้ ขอสนับสนุนให้เร่งค้นหาความจริงให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ แล้วก็เปิดเผยผู้ประกอบการ ตัวการ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้ให้สังคมลงโทษให้เข็ดหลาบ จะได้เลิกเห็นแก่ตัวกันซะที!่!
……………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo