วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSไปไม่รอด!! ภาษีที่ดินฯ ไทม์มิ่งไม่ใช่ เงินก็ไม่มี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไปไม่รอด!! ภาษีที่ดินฯ ไทม์มิ่งไม่ใช่ เงินก็ไม่มี

ในที่สุด!! การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปีนี้ ก็ถูกเลื่อนออกไปก่อนอีก 3 เดือน หลัง “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เจ้ากระทรวงมหาดไทย ยอมจรดปากกาลงนามคำสั่งที่มีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด

เหตุผลสำคัญ ก็มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้รับผลกระทบมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนผู้เสียภาษี ให้มีเวลาชำระภาษีเพิ่มมากขึ้น

การเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการผ่อนผันให้กับบรรดาเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย เป็นครั้งที่ 3 หลังจากก่อนหน้านี้ในปี 63 และ 64 รัฐบาลได้ประกาศลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดิน 90% เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด

การลดอัตราจัดเก็บ 90% หรือพูดง่าย ๆ ว่า เสียภาษีเพียงแค่ 10% นั้น ได้ทำให้รายได้ของท้องถิ่นนั้นหายไปปีละกว่า 30,000 ล้านบาทกันทีเดียว

ที่สำคัญ!! รัฐบาลเองก็ “จนปัญญา” ที่จะจัดสรรปันส่วนงบประมาณจากส่วนกลางมาชดเชยให้ทั้งหมดได้ เพราะตัวรัฐบาลเองก็ยังเอาตัวเองแทบไม่รอด กว่าจะปิดหีบงบประมาณในแต่ละปีให้ลงตัวได้ก็…“หืดจับ”

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม? “เสียงร้องระงม” ในช่วงที่ผ่านมาจึงเกิดขึ้นหนักมาก!!

แม้ในรอบนี้…จะเป็นเพียงแค่การขยายเวลาออกไป จากเดิมในงวดที่หนึ่ง…ที่ต้องเสียภาษีในเดือนเม.ย.65 เป็นก.ค.65 งวดที่สอง…จาก พ.ค.65 เป็น ส.ค.65 และงวดที่สาม…จาก มิ.ย. 65 เป็น ก.ย.65 ก็เพื่อ…ให้หายใจหายคอได้สะดวกกันมากขึ้น

เพราะไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาโควิดที่เพิ่งฟื้นตัวขึ้นมาได้เท่านั้น แต่ ณ เวลานี้ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย กลับถูกปัญหาต้นทุนแพงจากน้ำมันทะยานขึ้นราคาซ้ำเติมเข้าให้อีก

หากยังต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเวลาที่กำหนด อาจ “หงายหลัง” เข้าให้อีก ก็เป็นไปได้

ถามว่า? เรื่องนี้ช่วยบรรดา “เศรษฐี” หรือเปล่า ส่วนหนึ่งก็ไม่สามารถปฎิเสธได้

แต่!! ก็อย่าลืมว่า ที่ผ่านมา บรรดาเศรษฐีที่ดินเหล่านี้ได้แปลงที่รกร้างว่างเปล่าของตัวเองไปเป็นสวนมะพร้าว สวนมะนาว สวนผัก สวนกล้วย สวนมะละกอ ใจกลางเมืองกันเป็นแถว

ทั้งหลายทั้งปวง ก็หวังลดภาระภาษีที่ดินฯ จาก 0.3% จากที่ต้องเสียในกรณีรกร้างว่างเปล่า เหลือเพียง 0.01% เรียกว่า “เบาตัว” ได้ไม่น้อยเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้!! ในแง่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เอง ก็มีโอกาสที่จะผงกหัวตามขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาอีก 90% นั้นยังพอมีเวลาให้ระบายสต๊อกคงเหลือมากขึ้น ก่อนที่ถูกปัดไปอยู่ในอัตราภาษีประเภทอื่น ๆ (การพาณิชย์) หากไม่สามารถระบายสต๊อกได้ภายใน 3 ปี

อย่าลืมว่า “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่คอยขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะเป็นธุรกิจที่มีธุรกิจต่อเนื่องมากมาย ที่สำคัญ!! ยังมีส่วนช่วยการ “จ้างงาน” เป็นจำนวนไม่น้อย แม้เป็นที่รู้กันว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแรงงานต่างด้าวก็ตาม

ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มักจะได้รับการ “เอ็นดู” จากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของรัฐบาลได้กำหนดอัตราเป็นขั้นบันไดของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแยกประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกเป็น 3 ประเภท คือ

ที่ดินเพื่อการเกษตร มีอัตราภาษีตั้งแต่ 0.01-0.1% โดยยกเว้นภาษีให้กับที่ดินเพื่อการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท

ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย มีอัตราตั้งแต่ 0.02-0.1% กรณีมีชื่อเป็นเจ้าของและเป็นบ้านหลักมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นการเสียภาษีที่ดิน

ประเภทเพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรม และที่รกร้างว่างเปล่า มีอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3-0.7% เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 0.3% ในทุก ๆ 3 ปี

เอาเป็นว่า… จากนี้ไปอีก 3 เดือนก็ต้องรอดูว่า ช็อตต่อไป!! รัฐบาลจะใช้วิธีไหน ในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อีก แต่ที่แน่ ๆ การยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ไปเลย คงทำได้ยาก

เพราะ…กว่าจะทำคลอดกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้ ใช้เวลานานนับ 10 ปีทีเดียว  แต่…ด้วยจังหวะเวลา และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ก็ไม่ใช่เวลาของการเรียกเก็บภาษีที่ดินฯ จริง ๆ..

……………………………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img