อยู่ ๆ รัฐนาวา “บิ๊กตู่” ก็คลอดแพคเกจใหม่ เพื่อบรรเทาภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน ผ่านมาตรการ “คนละครึ่งเฟสที่ 5” และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่าน “บัตรคนจน” และมาตรการช่วยเหลือ “กลุ่มผู้เปราะบาง”
สรุป!! เบ็ดเสร็จใช้เงินงบประมาณ ราว ๆ 27,400 ล้านบาท จากพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ยังคงเหลือวงเงินกู้อีกกว่า 74,000 ล้านบาท
รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่า…การรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วง 2 เดือน (1 ก.ย.- 31 ต.ค.65) นี้จะทำให้มีเงินเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว ๆ 48,628 ล้านบาท
ที่สำคัญยังช่วยปั้นให้จีดีพีปีนี้ เพิ่มขึ้นอีก 0.13% จากจำนวนคนประมาณ 42 ล้านคนทั่วประเทศ ที่จะเข้ามาใช้เงินจากแพคเกจมาตรการรอบใหม่นี้
แม้ก่อนหน้านี้ “ขุนคลัง-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ได้ยืนยันหนักแน่น “ลั่นดาล” โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยัง “เอาไม่อยู่” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหามาตรการออกมารักษาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน
ไม่เพียงเท่านี้!! บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่กำลังจะกระอักเลือดตาย จากการขายของไม่ได้ ต้นทุนก็แพง คนก็ไม่มีกำลังซื้อ ต่างเรียกร้องส่งเสียงโห่ร้องกันเข้ามามาก
ขณะที่เหตุผลสำคัญสุดท้ายก็หนีไม่พ้น เรื่องของการรักษา “คะแนนนิยม” ให้กับรัฐบาล หรือแม้แต่ตัวของ “บิ๊กตู่” เองก็ตาม ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นกัน
มาตรการที่ออกมาไม่มีอะไรใหม่ แต่อย่าลืมว่า “คนละครึ่ง” กลายเป็น “พระเอก” ที่ครองใจคนไทยทั่วประเทศ โดยเสียงกร่นด่าสู่มาตรการนี้…อาจมีเพียงวงเงินที่น้อยนิด เพียงแค่ “400 บาท” แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรมาช่วยเหลือเลย
“ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ที่เชื่อว่า แพคเกจมาตรการรอบใหม่ของรัฐบาลครั้งนี้ สามารถหมุนเศรษฐกิจได้ประมาณ 2 รอบเศษ ๆ หรือประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท
เนื่องจากประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ยังต้องเผชิญกับแรงต้านสำคัญจาก ราคาน้ำมันแพง ราคาข้าวของแพง จึงทำให้การหมุนรอบของเศรษฐกิจไม่ลื่นไหลเหมือนช่วงเศรษฐกิจดี ๆ หรือช่วงที่คนไทยไม่มีแรงต้านมากมาย
แต่ก็อย่างที่บอก!! แม้เงินคนละครึ่งที่ได้รับจะไม่ถูกอกถูกใจ เหล่าแฟนคลับกันสักเท่าใดนัก แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลยเช่นกัน อย่างน้อยก็ยังช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทย หรือ “จีดีพี” ยังสามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 3-3.5%
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า หากเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ แม้จะไม่มากมายอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งหมายความว่า “เงินในกระเป๋า” คนไทยยังคงมีให้ใช้อยู่บ้าง
ด้วยเพราะรัฐบาลเอง ก็จนปัญญาที่จะไปแสวงหาเงินงบประมาณ มาสนองความต้องการของคนทั้งประเทศให้มากขึ้นกว่านี้ได้แล้ว เพราะเงินที่มีอยู่ก็ “จำกัดจำเขี่ย” ต่อให้วงเงินกู้ยังคงเหลืออยู่ 40,000-50,000 ล้านบาท ก็เถอะ!!
อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ ปัญหาเรื่องของการระบาดของโควิด ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและยิ่งระบาดมากขึ้น แม้ไม่อันตราย หรือรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา
แต่เพื่อความ “อุ่นใจ” การเหลือวงเงินกู้ไว้บ้างเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาในเรื่องของสุขภาพ ก็ถือว่าดีไม่น้อย ดีกว่าปล่อยออกไปหมด…เพื่อไปกระตุ้นการใช้จ่ายแต่เพียงอย่างเดียว
นอกจากการใช้พระเอกอย่างคนละครึ่งเข้ามาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ ไม่แน่!! รัฐบาลอาจตัดสินใจเดินหน้าต่อมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” อีกก็เป็นไปได้ หลังจากที่หมดโครงการไป เมื่อวันที่ 15 ก.พ.65
เพราะเชื่อได้ว่าเมื่อถึงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูของการท่องเที่ยว เป็นช่วงฤดูแห่งสารพัดเทศกาล บรรดาภาคเอกชนค้าปลีกรายใหญ่ และที่เกี่ยวข้อง ก็ย่อมต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐจัดมาตรการมากระตุ้นกำลังซื้อในช่วงปลายปี
“ช้อปดีมีคืน” ที่กำหนดให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ผู้บริโภค ต่างนิยมไม่น้อย ต่อให้ส่วนลดหย่อน 30,000 บาท บางทีต้องแลกกับการเสียเงินจำนวนมากก็ตาม
ทั้งหลายทั้งปวง!! ก็ต้องมาตั้งหน้าตั้งตารอกันต่อ!! ว่าหากเศรษฐกิจไทยยังยักแย่ยักยัน ขาดน้ำมันมาเติมเชื้อ รัฐบาลจะปั้นมาตรการไหน? มาประคับประคอง ท่ามกลาง “ความไม่แน่นอน”
…………………………………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)