“รัฐบาลบิ๊กตู่” ยักแย่ยักยันมานาน!! กับ วิกฤติพลังงานแพง ทั้งราคาแก๊ส ราคาน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ จนกลายเป็น “วิกฤติศรัทธา” ของคนไทยทั้งประเทศ
ในเมื่อรัฐบาลอยู่ในช่วง “ขาลง” แถมฝีมือการแก้ปัญหา การจัดการปัญหา ไม่ตอบโจทย์ ไม่โดนใจ คนไทยทั้งประเทศ ก็กลายเป็นสร้าง “ความเบื่อ” ให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก
อย่างกรณีของ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการราคาน้ำมันในประเทศ รู้ทั้งรู้ว่า “บักโกรก” มานาน แต่กว่า…รัฐบาลยอมตัดสินใจให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันการกู้เงินให้ ก็ใช้เวลาถึง 9 เดือน
เรื่องการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนฯ เริ่มกระบวนการขอกู้เงินมาตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.64 ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งต่างติดปัญหาเรื่อง “ความสามารถในการชำระหนี้”
เงื่อนไขนี้…จึงกลายเป็นปัญหาหนักจากที่เคยติดลบแค่ 4,480 ล้านบาท ณ สิ้นปี 64 ก็ทะยานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยจนทะลุหลักแสนล้านบาทไปแล้ว
ล่าสุด ณ วันที่ 14 ส.ค.65 กองทุนน้ำมันฯ ยังคงขาดทุนถึง 117,394 ล้านบาท โดยขาดทุนจากน้ำมัน 76,518 ล้านบาท และขาดทุนจากแก๊สแอลพีจี 40,876 ล้านบาท
ครม.เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้ออกพ.ร.ก.เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวงเงิน 1.5 แสนล้าน โดยเสนอเป็นวาระลับที่สุด
ทั้งนี้สาระสำคัญ นอกจากเห็นชอบให้ออกพ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว ยังกำหนดให้ทำสัญญากู้เงินภายใน 1 ปี หลัง พ.ร.ก.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้รักษาราคาน้ำมันฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้้ามันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. 2564 ขยายวงเงินกู้ยืมของกองทุนน้ำมันฯจาก 3 หมื่นล้านบาท เป็น 1.5 แสนล้านบาท
ที่สำคัญ… เป็นการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน และยังอนุมัติงบฯกลาง ให้กองทุนน้ำมันฯ บริหารอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อบริหารจัดการระหว่างที่รอ พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้พยายามดำเนินการในหลายทาง เพื่อจะแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง ไม่ให้ส่งผลกระทบกับบรรดาประชาชนที่เบี้ยน้อยหอยน้อยมากจนเกินกว่าจะรับไหว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…ความพยายามขอความเห็นใจ ความร่วมมือจากโรงกลั่นน้ำมันให้ปันกำไรจาก “ค่าการกลั่น” น้ำมัน มาโอบอุ้มกองทุนน้ำมันฯเพื่อไม่ให้บอบช้ำหนัก
แต่จนแล้วจนรอด การเจรจา ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะอย่างน้อยโรงกลั่นต่างชาติ ก็ไม่พร้อมดำเนินการด้วยติดเงื่อนไขสารพัด ที่สำคัญต้องดูแล “ผู้ถือหุ้น”
สุดท้าย!! มีเพียง บมจ.ปตท. เท่านั้น ที่ยอมสนับสนุนเงินช่วยเหลือกองทุนน้ำมันฯ รวม 3,000 ล้านบาท โดยเป็นการทะยอยจ่ายให้เดือนละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่บอร์ดปตท.มีมติ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา
แม้รัฐบาลบิ๊กตู่ จะยอมกัดฟันโดยออกพรก. มาค้ำเงินกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ เพื่อนำไปโปะหนี้ แต่ก็มีคำถามออกมาจากสังคมมากมายว่า การแก้ปัญหาเช่นนี้เท่ากับว่าเป็นการ “ซ้ำเติม” คนไทย…อีกหรือไม่?
เพราะเมื่อกระทรวงการคลังเข้าไปค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมันฯ ก็เท่ากับว่า ต้องนับหนี้ก้อนนี้ เข้าเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ ต่อให้ไม่ได้กู้เงินมาทีเดียวทั้งก้อน 1.5 แสนล้านบาทก็ตามที แต่…เมื่อใดที่กู้ ก็ต้องนับรวม นั่นหมายความว่า…หนี้ประเทศก็เพิ่มขึ้นอยู่ดี กระทรวงการคลังยืนยันว่าภาระหนี้จะมีไม่ถึง 1% ของจีดีพี และไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ 70% ของจีดีพี
“ขุนคลัง-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ยอมรับว่า ผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ จะมีในระยะเวลาหนึ่ง แต่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการกู้จริง ซึ่งอาจไม่ถึง 1.5 แสนล้านก็ได้ ขึ้นอยู่กับการบริหารของกองทุนและสถานการณ์พลังงาน
ขณะเดียวกันคลังยังกำหนดเวลาค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี โดยหนี้ก้อนนี้ไม่กระทบต่อภาระงบประมาณแน่นอน เพราะกองทุนน้ำมันฯ ต้องบริหาร และนำเงินมาใช้หนี้คืนทั้งหมด
ขุนคลัง ย้ำไว้อีกว่า กระทรวงพลังงาน ต้องนำเรื่องการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะอย่าลืมว่า การกู้นั้นมีต้นทุนของดอกเบี้ยอยู่ และยังเป็นดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น
ทั้งหลายทั้งปวง…ก็ต้องมาตามติดกันต่อไปว่า เงินกู้ทั้ง 1.5 แสนล้านบาทนั้นจะใช้ได้ถึงเมื่อไหร่? เพราะเอาเข้าจริง หากนำเงินกู้มาโปะหนี้ของกองทุนฯที่มีเกือบ 1.2 แสนล้านบาท ก็เท่ากับว่า มีเงินคงเหลือเพียงกว่า 3,000 ล้านบาท
นั่นหมายความว่า…“กองทุนน้ำมัน” จะสามารถใช้เงินที่เหลือดูแลราคาน้ำมันได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น!! หากราคาน้ำมันยังผันผวน ไม่ลดลง แล้วการแก้ไขปัญหาต่อจากนี้จะไปในทิศทางไหน?
…………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)