ก่อนหน้านั้นมีข่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผูกขาดอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า โดยมีกำไรจากการขายไฟฟ้ามากกว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 12 รายรวมกัน
“ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะ โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องเป็นตัวแทนกฟผ. ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า ไม่ได้ผูกขาดแต่อย่างใด เพราะปัจจุบัน กฟผ. กำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ณ เดือนตุลาคม 2565 มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16,920.32 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็น 34.44% ของกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในระบบไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมพลังงานมองว่า กฟผ.ควรจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 51% ดังนั้นสัดส่วนจะมากกว่าหรือน้อยกว่าเอกชน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการผูกขาด เพราะการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กฟผ.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนด โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
พร้อมกันนี้ แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมพลังงาน ระบุว่า ในปลายแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ในปี 2580 กฟผ. จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาเหลือเพียง 18,614 MW คิดเป็น 24% นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า (ตัวเลขกลม) คือ 76% ซึ่งกับสัดส่วนของกฟผ. ถือว่าน้อยมาก โดยมีการ ตั้งคำถามว่า หากเอกชน ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับต้นๆ ของไทยเกิดมีปัญหาด้านระบบไฟฟ้าไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ก็อาจจะก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ขนาดใหญ่หลายจังหวัด (Blackout) ได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี 2561
โดยในปี 2561 เกิดไฟฟ้าดับบางส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และในกรุงเทพฯ สาเหตุเกิดจากระบบไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว เกิดขัดข้อง แต่ กฟผ. ในฐานะกำกับดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศก็ได้นำระบบไฟฟ้ากลับคืนสู่ภาวะปกติ (Blackout Restoration Plan)
สำหรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ก่อนหน้านั้นหลายคนมองว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหากต่ำกว่า 51% จะเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 66 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า การที่กระทรวงพลังงานให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่ากระทรวงพลังงานปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรค สาม และ สี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง
ผลจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้กระทรวงพลังงานสามารถเดินหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผน PDP ต่อไปได้ แม้ว่าสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าในส่วนของ กฟผ. ในช่วงปลายแผนจะลดเหลือ 24% ก็ตาม แผน PDP 2018 Revision 1 ของกำลังผลิตรวมทั้งหมดก็ตาม นั่นหมายความว่าสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. แม่จะต่ำกว่า 51% จะไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
พร้อมกันนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ กกพ. ต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควรและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้
…………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย …“ไรวินทร์”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)