โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) พ.ศ. 2565-2573 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ ในปัจจุบันอยู่ระหว่างที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งจัดอันดับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่ผ่านคุณสมบัติ ว่าจะมีความพร้อมในการเชื่อมกับระบบสายส่งหรือไม่ และระบบสายส่งจะสามารถรองรับได้ตามแต่ละรายที่ยื่นขายไฟฟ้าเข้ามาหรือไม่อย่างไร และมั่นใจว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในวันที่ 22 มี.ค.2566 อย่างแน่นอน และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ภายในรัฐบาลนี้
ทั้งนี้โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นมีผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารวม 670 โครงการ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการและผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ คิดเป็นปริมาณเสนอขายรวมมากถึง 17,400 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่กำหนดไว้กว่า 3 เท่า และจะเริ่มทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567
สำหรับโครงการนี้แบ่งการรับซื่อไฟฟ้าออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม), ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย), พลังงานลม และ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน โดยโครงพลังงานลมเปิดรับซื้อ 1,500 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินเปิดรับซื้อ 2,368 เมกะวัตต์ และแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานเปิดรับซื้อ 1,000 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เปิดรับซื้อ 335 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอในโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่ผ่านคุณสมบัติ โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่มีโอกาสได้โครงการมาก เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมทั้งการเงิน พื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่สอดคล้องกับระบบสายส่ง
สำหรับผู้ประกอบการเอกชนที่คาดว่าจะได้สิทธิ์ซื้อขายไฟฟ้ามากที่สุด คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF โดยเฉพาะพลังงานลมที่ลงทุนกับ บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ได้เข้าลงทุนในบริษัทร่วมทุน Gulf Gunkul Corporation ในสัดส่วนเท่ากันคือฝ่ายละ 50% ซึ่งบริษัทร่วมทุนได้ลงทุน 100% ใน บริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด บริษัท กรีโนเวชั่น เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท โคราชวินด์เอ็นเนอร์ยี จำกัด โครงการพลังงามลมที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 170 เมกะวัตต์
ในขณะที่บริษัทผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ารายอื่นๆ ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศก็คาดว่าจะได้สิทธิ์ในการขายไฟฟ้าในโครงการนี้กันหมดไม่ว่าจะเป็น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM, กลุ่มบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เนื่องจากมีศักยภาพความพร้อมแล้วยังมีพื้นที่ติดตั้งรองรับระบบสายส่งไฟฟ้ากันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่ใดจะได้โควต้าเท่าไหร่ที่ระบบสายส่งสามารถรองรับได้ และบางรายก็อาจจะติดปัญหาเรื่องพื้นที่เพียงเล็กน้อย
“กกพ.เตรียมดึงพลังงานหมุนเวียน 5,203 MW เข้าโครงการไฟฟ้าสีเขียว”
อย่างไรก็ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นทางแหล่งข่าวจากกกพ. ระบุว่า เตรียมเสนอให้เอกชนผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์ขายไฟฟ้าเข้าร่วมโครงการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) โดยเป็นการให้บริการไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม และโรงไฟฟ้าในโครงการ 5,203 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีกลไกในการรับรองการส่งไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำไปเคลมการใช้พลังงานสะอาดตามกติกาสากลได้ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนับสนุนเรื่องนี้
สำหรับโครงการไฟฟ้าสีเขียวนั้นแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) (ไม่เจาะจงที่มา) เป็นการให้บริการเกี่ยวกับใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ จึงเป็นอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามบิลค่าไฟปกติ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถสมัครขอรับบริการในปริมาณต่ำกว่า 1 REC ได้ (1 REC = 1,000 หน่วย) และมีระยะเวลาการขอรับบริการสั้น (0-1 ปี)
รูปแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT2) (เจาะจงที่มา) เป็นการเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟมากและต้องการขับเคลื่อนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าเข้ามารับภาระการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยมีสัญญาการรับบริการนาน (10-25 ปี) และมีการออกแบบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากมีการซื้อพลังงานไฟฟ้าพร้อม REC จากแหล่งพลังงานแบบเจาะจงที่มาในระยะยาว เข้ามาแทนพลังงานไฟฟ้าเดิม และมีการให้บริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
………..
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย…“ไรวินทร์”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)