ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดย กพช. ได้รับทราบแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ที่เสนอรับซื้อไฟฟ้าเดิม 10,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็นอยู่ที่ 12,700 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2566-2573 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ.2565-2573 ตามแผน PDP 2018 Revision 1 กพช.ก็ได้เห็นชอบกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,660 เมกะวัตต์ จากที่ในรอบแรกประกาศรับซื้อไฟฟ้าไปแล้ว 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้กรอบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,863 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้เป็นการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) กว่า 5,000 เมกะวัตต์,การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม 2,500 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นโครงการอื่นๆ ซึ่งพลังงานลมบวกกับพลังงานแสงอาทิตย์ถือว่าเป็นการกำหนดกรอบการรับซื้อไฟฟ้าที่สูง แต่ด้วยศักยภาพแล้วไม่ได้สูงตาม โดยเฉพาะพลังงานลม
แน่นอนว่า การประกาศกรอบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 8,863 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP 2018 Revision 1 และมีการเร่งประกาศรับซื้อขายไฟฟ้าแล้วรอบแรก 5,203 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่แล้วบริษัทเอกชนผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะได้ส่วนแบ่งเกือบทุกบริษัท สัดส่วนมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดกำลังทรัพย์และเงินลงทุน รวมทั้งบุคลากร
โดยในเบื้องต้นนั้น แหล่งข่าวรายงานว่า หลายบริษัทได้ออกมาประกาศอย่างไม่เป็นทางการบ้างแล้วว่า ได้กี่โครงการ อาทิเช่น บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM ได้มา 25 โครงการ กำลังการผลิตรวมมากกว่า 500 เมกะวัตต์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF บวกกับบมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL ได้มา 25 โครงการ กำลังการผลิตรวมกว่า 1000 เมกะวัตต์, บมจ.ราช กรุ๊ป หรือ RATCH ได้มา 8 โครงการ กำลังการผลิตรวม 420 เมกะวัตต์ เป็นต้น
กพช.ไฟเขียวรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำสปป.ลาว
นอกจากนี้ กพช.ยังรับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 3 ขนาดกำลังการผลิต 468 เมกะวัตต์ โดยโครงการนี้กลุ่มผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi), เจริญเซกอง และ รัฐวิสาหกิจ สปป.ลาว และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เดือน ม.ค.2569 อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 3 แหล่งข่าววงการพลังงานรายงานว่า สัดส่วนการถือหุ้นอาจจะมีการเปลี่ยนมาอยู่ในมือเอกชนผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ารายใหญ่ในไทยให้จับตาดู
ส่วน โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A และ 4B ในสปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิต 347 เมกะวัตต์ โครงการนี้ RATCH ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 60, BGRIM ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 20 และ Lao World Engineering & Construction Co., Ltd. ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 20 กำหนด COD เดือน ม.ค.2576 ซึ่งทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 3 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A และ 4B มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี
แหล่งข่าวรายงานว่า ทั้ง 2 โครงการดำเนินการมาต่อเนื่องและผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และจะนำไปดูรายละเอียดในร่างสัญญาฯ แล้วส่งต่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง ก่อนดำเนินการลงนาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในปีนี้ หลังจากได้รัฐบาลใหม่
……………………………..
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย…“ไรวินทร์”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)