ต้องยอมรับว่า ฤดูร้อนปีนี้ อุณหภูมิความร้อนพุ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งบางพื้นที่ของประเทศไทย ทำสถิติสูงสุดถึง 54 องศาเซลเซียส ในขณะเดียวกันบางบริษัท บางองค์กร ก็มีการให้พนักงานทำงานที่บ้าน ส่งผลให้ประชาชนเปิดแอร์คลายร้อนกันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ก็อยู่ในระดับสูงตามราคาเชื้อเพลิงพลังงาน ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น โดยในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม จากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงที่อากาศร้อนมาก ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน จนทำให้รัฐบาลสั่งการมายั่งหน่วยงานภาครัฐ อย่างกระทรวงพลังงาน, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งหามาตรการลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ เดือน พ.ค.-ส.ค.66 โดยให้ กฟผ. เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อนจาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย
โดย “คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที ) ในวันศุกร์ที่ 21 เม.ย.นี้ จะพิจารณาเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ เดือน พ.ค.-ส.ค.66 ลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย ตามที่กฟผ. ยื่นข้อเสนอ ทั้งนี้จากการที่ กฟผ. แบกรับภาระหนี้ค่าไฟฟ้าแทนประชาชนนั้น ส่งผลให้ กฟผ. มีหนี้วงเงินเต็มอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่ง กฟผ. แจ้งว่า การยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนนั้นสามารถจัดการด้านสภาพคล่องในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 ได้ แต่สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถที่จะยืดหนี้ได้อีก ระบบหรือประชาชนก็จะต้องคืนหนี้แก่ กฟผ.
นอกจากนี้ “คมกฤช” ยังได้อธิบายถึงสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นว่า ต้องยอมรับว่ากว่า 90% เกิดจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยประสบปัญหาการผลิตลดลงหลังจากมีการเปลี่ยนผู้ผลิต จึงต้องนำเข้า LNG มาชดเชยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่วนอีกประมาณ 10% ต้องยอมรับว่า มาจากสาเหตุของปริมาณการสำรองไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติที่ต้องต้องมีปริมาณสำรองเพียง 15% เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณการสำรองไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับ 27-29% ก็ถือว่าเกินไม่มากตามที่เป็นข่าวระบุตามสือออนไลน์ว่า การสำรองไฟฟ้าเกินกว่า 50% ซึ่ง “คมกฤช” อธิบายเพิ่มเติมว่า การคำนวณคิดค่าไฟฟ้าสำรองต้องนับแค่โรงไฟฟ้าหลักอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และไฟฟ้าที่รับซื้อจาก สปป.ลาว มาคำนวณ
ด้าน “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ กฟผ. ระบุว่า กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพิจารณาว่าจะมีส่วนใดมาช่วยเหลือเพิ่มเติมได้หรือไม่ นอกเหนือจากการยืดหนี้ของกฟผ.อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะใช้งบราว 8,000 ล้านบาท
ส่วนค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ได้มีมาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแล้ว โดยในเบื้องต้นได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งในปัจจุบันราคาปรับลดลงแล้วอยู่ที่ 11-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูมาสำรองไว้ได้หรือไม่ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่จะช่วยให้ค่าเอฟทีในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ลดลง ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นสาเหตุหลักๆ มาจากราคา LNG อยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 47 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ในส่วนกรณีที่ประชาชนวิจารณ์ถึงค่าไฟฟ้าในเดือนเม.ย.66 แพงนั้น “กุลิศ” อธิบายว่า ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในเดือนเม.ย. เนื่องจากในเดือนเม.ย.เป็นเดือนที่ร้อนมากที่สุด ทำให้การใช้เครื่องปรับอากาศใช้กำลังไฟมากขึ้นในการที่จะรักษาอุณหภูมิให้ปกติจะเป็นอย่างที่หลายหน่วยงานได้ออกมาแจ้งยืนยัน โดยค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ไม่มีการปรับราคาขึ้น โดยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยยังคงเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย
แต่อัตราค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้า หรือปรับเพิ่มเป็นขั้นบันได “กุลิศ” อธิบายเพิ่มเติมว่า ยกตัวอย่างประเภทผู้ใช้ครัวเรือน อัตราที่ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปรเอฟที และภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเริ่มต้นโดยถ้าใช้ตั้งแต่ 1-150 หน่วยอยู่ที่ 3.2484 บาทต่อหน่วย 151-400 หน่วย อยู่ที่ 4.2218 บาทต่อหน่วย เกิน 400 หน่วยอยู่ที่ 4.4217 บาทต่อหน่วย เมื่อประชาชนใช้ไฟฟ้าเปิดเวลาเท่าเดิมแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศทำงานหนัก และกินไฟฟ้าหลายหน่วยเพิ่มมากขึ้นทำให้อัตราเพิ่มสูงขึ้นจึงเกิดค่าไฟแพงขึ้น
…………………………..
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย ..“ไรวินทร์”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)