การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เป็นความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในการใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แต่ภายหลังจาก บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) เป็นผู้ชนะการประมูล โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) และ โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ต้องเกิดปัญหาการเข้าพื้นที่ในโครงการจี 1/61 ล่าช้า ส่งผลให้การผลิตก๊าซธรรมชาติล่าช้า กระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซฯ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาชดเชยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
การนำเข้า LNG มาชดเชยในการผลิตไฟฟ้าเป็นจังหวะช่วงที่ LNG ราคาแพง จึงส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันเมื่อ “ปตท.สผ.อีดี” สามารถเข้าพื้นที่โครงการจี 1/61 ก็ได้เร่งดำเนินการเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียม โดยวางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในช่วงกลางปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปี และเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเม.ย.2567 ทั้งนี้หากการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 เป็นไปตามเป้าที่ปตท.สผ. ตั้งเป้าไว้ก็จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และยังช่วยให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
“สราวุธ แก้วตาทิพย์” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ติดตามการดำเนินงานเจาะหลุมและผลิตปิโตรเลียมในโครงการจี 1/61 อย่างใกล้ชิด โดยติดตามรายงานผลการเจาะและผลิตทุกหลุม ทุกวัน ซึ่งจากการติดตามการดำเนินงานพบว่า กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมั่นใจว่า ปตท.สผ.อีดี จะผลิตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญ และลดการนำเข้า LNG ได้หลายลำเรือเลยทีเดียว
ในขณะที่ โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) หลังจากการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2566 ปัจจุบันโครงการมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ 700-800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สามารถช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้กว่า 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้โครงการยังมีการสร้างและติดตั้งแท่นผลิต และเจาะหลุมพัฒนาปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการผลิตตามสัญญา
ด้าน “มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าในโครงการจี 1/61 บริษัทได้เร่งการเจาะหลุมผลิต เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ตามแผนงานที่วางไว้ โดยจะเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในช่วงกลางปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปี และจะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเม.ย.2567 ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน เนื่องจาก “ปตท.สผ.อีดี” ได้เตรียม อย่างไรก็ตามเพื่อให้ปริมาณการผลิตก๊าซฯ ได้มากขึ้น “ปตท.สผ.” ได้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตไปแล้ว จำนวน 8 แท่นเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่ปลายปี 2565 และในปีนี้จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น
แหล่งข่าววงการพลังงาน ระบุว่า หาก “ปตท.สผ.อีดี” ผลิตก๊าซฯ ได้ตามเป้าหมาย ช่วงกลางปีนี้หรือในเดือน ก.ค.2566 ที่จะมีปริมาณก๊าซ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นั้นจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์เลยทีเดียว เรียกได้ว่าสามารถลดการนำเข้า LNG ได้เป็นอย่างดี จากตัว ณ เดือนม.ค.2566 นั้นการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศมีสัดส่วน 64% หรือคิดเป็น 2,692 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สัดส่วนนำเข้า 36% หรือคิดเป็น 1,487 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยในสัดส่วนการนำเข้านั้น แบ่งเป็นนำเข้าจากเมียนมา 12% LNG 24% ซึ่งหากปตท.สผ.อีดี ผลิตก๊าซฯได้ตามเป้าหมายก็จะช่วยให้ปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
…………………………..
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย ..“ไรวินทร์”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)