วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจุดท้าทาย! ของการ Plug in กับธุรกิจ “โลจิสติกส์”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จุดท้าทาย! ของการ Plug in กับธุรกิจ “โลจิสติกส์”

การเติบโตของ E-Commerce ทำให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมการสั่งซื้อทางออนไลน์มากขึ้นมาตามลำดับ ดันให้ ธุรกิจโลจิสติกส์ ประสบความสำเร็จ แล้วก็ยิ่งโตก้าวกระโดดไปอีกตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ธุรกิจขนส่งพัสดุ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเดียวของโลจิสติกส์ทั้งระบบ เติบโตสูงกว่า 30%

ตอนนั้นมูลค่าตลาดปาเข้าไป 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ตอนนี้ก็ยังโตต่อ ttb analytics ประเมินว่าปีนี้มีการเติบโตถึงกว่า 18% ด้วยมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท ถือว่าเฟื่องฟูเลยทีเดียว และจะพุ่งสูงต่อไป เพราะยุคดิจิทัลเข้าครอบคลุมทุกสิ่งในชีวิตเราแล้ว ทำให้โลจิสติกส์จะขยายขอบเขตขึ้นไปอีกมาก วันนี้อาจเรียกได้ว่าไม่มีข้อจำกัดของสินค้าที่จะนำส่งอีกต่อไปแม้กระทั่งสินค้าที่เน่าเสียง่าย ก็ทำได้ก็มีบริการขนส่งแบบแช่เย็น หรือสินค้าที่ต้องใส่ใจดูแลอย่างดอกไม้ราคาแพงก็มีบริการเฉพาะ สั่งวันนี้ได้วันนี้ตาม ความต้องการของผู้บริโภค (On-Demand Delivery)

ด้วยการโตวันโตคืนของธุรกิจนี้ทำให้ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอื่นต้องลงมาเล่นด้วย ทั้งเพื่อตอบสนองต่อ ธุรกิจใหม่ (New S-Curve) และขนส่งสินค้าของตนเองไปด้วย ในส่วนของ ธุรกิจพลังงาน เองดูเหมือนจะห่างไกลกับ ธุรกิจโลจิสติกส์ แต่จริงๆ แล้วเอื้อต่อกันได้อย่างดี ระหว่าง การขนส่ง และ พลังงาน

หนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่อย่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งมักสร้างโอกาสสร้างธุรกิจทั้งแบบ Organic Growth และแบบ Inorganic Growth เข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่มีศักยภาพรวมถึงการเข้าลงทุนใน Flash Express บริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายแรกของไทย ซึ่งมียอดจัดส่งพัสดุในปี 2565 ราวๆ 700 ล้านชิ้น และยังมีคลังสินค้าครบวงจร ไม่ให้เสียเปล่า OR เข้า Plug in (เชื่อมต่อ) กับ Flash Express ให้บริการจุดรับส่งพัสดุของ Flash Express ภายในร้าน Café Amazon บางสาขา และใช้ Distribution Center ร่วมกัน

และแล้วตอนนี้ Flash Express ก็เป็นหนึ่งในผู้ขนส่งผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบต่างๆ ให้กับ OR และกำลังต่อยอดธุรกิจรูปแบบ O2O หรือ Online to Offline ซึ่งระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงและรอบด้าน ช่วยเสริมธุรกิจของ OR ซึ่งมีหลากหลาย และส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการแตกต่างกัน เสริมศักยภาพในการขยายสู่ตลาด SEA ซึ่ง OR เข้าไปบุกในหลายประเทศแล้ว ทั้งสปป.ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และกัมพูชา

มูลค่าทางการตลาดหลายแสนล้านบาทของธุรกิจโลจิสติกส์นั้น ไม่เพียงบริษัทขายน้ำมันอย่าง OR จะมาเล่นในธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน (GC) ก็ต้องมาด้วย GC ได้เข้าไปร่วมทุนในธุรกิจโลจิสติกส์กับบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) เพื่อหาโอกาสในการขยายธุรกิจนี้ในอนาคต

GC Logistics

โดย WHA เข้าซื้อหุ้นใน บริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่นส์ จำกัด (GCL) บริษัทใน GC Group สัดส่วน 50% ส่งผลให้ตอนนี้ GCL ขึ้นแท่นเป็นผู้เล่นในธุรกิจโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งอีกราย เพราะเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจรทั้งในธุรกิจเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากการให้บริการใน 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การบริหารจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Solutions) 2.บริการด้านการบรรจุสินค้า (Silo Bagging and Packing) 3.การบริหารจัดการคลังสินค้า(Warehouse Management) 4.บริการด้านการขนส่ง (Transportation) 5.บริการด้านการศุลกากร (Custom Clearance) และ 6.บริการด้านการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarding) เรียกได้ว่า เป็นการผสมผสานเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการให้บริการของ GCL ในอนาคต

แต่เมื่อตลาดโลจิสติกส์เติบโตการแข่งขันก็รุนแรงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศหรือใน SEA ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานที่มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ในปี พ.ศ.2579 โดยการยกระดับศักยภาพโลจิสติกส์ทั้งระบบ และเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจบริการโลจิสติกส์ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน

ประเด็นของธุรกิจนี้ไม่มีอะไรมากนอกจาก คำว่า “ประสิทธิภาพ ศักยภาพ และมาตรฐาน” ด้วยเทคโนโลยี และการบริหารจัดการครบวงจร ใช้พลังงานมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้ต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่ำที่สุด ทำกำไรได้สูงสุด และสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามากที่สุด ให้ลูกค้ากลับมาใช้ซ้ำ

ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนของธุรกิจโลจิสติกส์ก็คือ การขจัดความไร้ประสิทธิภาพ การรวมเครือข่ายซัพพลายเชนให้ได้มากที่สุด และการยืดหยุ่นของซัพพลายเชน รวมถึงต้องเป็นโลจิสติกส์สีเขียว และสามารถบริหารความเสี่ยงจากความขัดแย้งในภูมิภาคที่ทำให้การกระจายสินค้าสะดุดลง ทั้งหมดเทคโนโลยีตอบโจทย์แน่นอน

ดังนั้นผู้เล่นในธุรกิจนี้ ต้องประกบด้วยความล้ำทางดิจิทัลด้วย ซึ่งมีอะไรให้ทำและลงทุนอีกเยอะ ทั้งระบบคลาวด์ บล็อกเชน และ AI เพื่อช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประเมินผลแบบเรียลไทม์ ทำให้การบริหารระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและทันท่วงที รวมไปถึงหุ่นยนต์การจัดการคลังสินค้าต้องมา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแรงงาน ส่วนการดูแลสิ่งแวดล้อมเลี่ยงไม่ได้ เพราะโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 20% ซึ่งเทคโนโลยีจะมาช่วยได้เหมือนกัน เพื่อให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานต่ำลง ทำให้ลูกค้าเลือกที่จะใช้บริการแบบยาวๆ เพื่อตอบสนองต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

………………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย.. “สายัน สัญญา”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img