ปีหน้าฟ้าใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว ปีมังกรทอง 2567 ดีจริงสำหรับทุกคนหรือไม่ เราต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนในเรื่องใดบ้าง แน่นอนว่า ค่าครองชีพ ขึ้นเอาๆ เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้หลายคนกังวลใจ ว่าเงินในกระเป๋าจะพอใช้จ่ายหรือไม่ ปัจจัยใหญ่ที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้า หนีไม่พ้นต้องดูเรื่อง พลังงาน ซึ่งเกิดจากสถานการณ์พลังงานโลก ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
จากการ วิเคราะห์ของทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) ที่มาบอกเล่าเก้าสิบในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ถึงสถานการณ์และราคาพลังงานในปีถัดไป ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ได้รับความสนใจจากผู้คนในวงการพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพราะการคลุกคลีกับข้อมูลพลังงานรอบโลกมาตลอดหลายปีของทีม ทำให้ข้อมูลที่ประกาศออกมาแน่นปึก
สำหรับปี 2567 PRISM Experts บอกเราไว้ 1+4 เรื่องด้วยกัน “1 เรื่อง” เป็นการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปีหน้า โดยประมาณการณ์น้ำมันดิบดูไบในปี 2567 อยู่ที่ 75 – 85 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แล้วก็ให้จับตาใน “4 เรื่อง” ด้วยกัน ได้แก่ 1.นโยบายควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคพลัส (OPEC+ ) ที่จะรักษาระดับราคาน้ำมันดิบ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน 3.การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศตะวันตกในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และ 4.การแสวงหาโอกาสและแนวทางปรับตัวของกลุ่มบริษัทพลังงานในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)
การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปีหน้าที่ 75-85 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เทียบจากราคา ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ 78.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็ถือว่าไม่แรงมาก เนื่องจากในปี 2567 กำลังผลิตจะออกมาเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน รองรับกำลังซื้อในสหรัฐอเมริกา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรป และการใช้น้ำมันในภาคการบินของจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ รวมถึงความต้องการน้ำมันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิลเติบโตต่อ อีกปัจจัยที่มาแทรกแซงตลาดน้ำมันก็คือ การใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยความท้าทายที่ยังต้องจับตา ก็เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป “บัณฑิต ธรรมประจำจิต” ซึ่งเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ให้รายละเอียดถึงความท้าทายด้านพลังงานในปีหน้าไว้ว่า แม้ในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายแล้ว แต่โลกยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายปัจจัยด้วยกัน
ทั้ง 1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างรัสเซียและยูเครน สหรัฐอเมริกากับจีน สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส 2.ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องในประเทศจีนจากการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงโดยสร้างกฎระเบียบให้เข้มงวดมากขึ้น 3.นโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero” ของประเทศต่างๆ
“ไทยออยล์” ซึ่งมีหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลพลังงาน เผยแพร่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2566 แสดงถึงความผันผวนของราคาน้ำมันอย่างมาก เพราะราคาน้ำมันดิบมาปรับลดลง จากการที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการลดกำลังผลิตน้ำมันโดยสมัครใจของกลุ่มโอเปคพลัส 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันที่จะต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2567 อีกปัจจัยราคาน้ำมันดิบก็ได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น 0.41% มาอยู่ที่ 104.03 จุด (ดัชนีเงินดอลลาร์) ส่วนตลาดแรงงานสหรัฐก็ซบเซาหลังการประกาศตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ในสหรัฐที่ลดลง 0.617 ล้านตำแหน่ง ณ เดือนตุลาคม 2566
เดี๋ยวขึ้น-เดี๋ยวลง แถมมีปัจจัยท้าทายใหม่ๆ กลุ่มบริษัทพลังงาน ต้องจัดสมดุลกันเลยทีเดียว “บัณฑิต” ซีอีโอ บริษัท ไทยออยล์ บอกไว้ว่า ในยุคพลังงานแห่งอนาคต จะต้องสร้างสมดุลทางพลังงาน 3 เรื่อง คือ 1) ความมั่นคงทางพลังงาน หรือ การจัดหาพลังงานพื้นฐานและความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต 2) ความเป็นธรรมทางพลังงาน ต้องจัดหาพลังงานที่สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม และ 3) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการจัดหาพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ต่ำ
แล้วประชาชนอย่างเราๆ จะต้องทำอะไรบ้าง กลุ่มคนใช้เบนซินก็ต้องเตรียมรับมือกับราคาน้ำมันหน้าปั๊มกันต่อไป ที่จะปรับขึ้นลงตามตลาดโลก เพราะคาดการณ์ไว้เฉลี่ยทั้งปี 2567 น้ำมันดิบดูไบน่าอยู่ที่ 75-85 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จริงอยู่ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่า จะเป็นอย่างนั้นตลอดปี เพราะมีปัจจัยมากมายมาแทรกแซงได้ตลอดเวลา บางช่วงอาจขึ้นมากกว่านี้ได้ แต่อีกด้านหนึ่งผันผวนหนักเท่าไหร่ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าก็น่าจับตาเท่านั้น แล้วตอนนี้สนนราคารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นก็ปรับลดลงจนใกล้เคียงน้ำมันแล้ว 5-6 แสนบาท กลุ่มคนที่พอจะซื้อรถใหม่ได้คงกำลังศึกษาข้อมูลรอบด้านเพื่อเตรียมจังหวะที่มั่นใจว่าซื้อแล้วจะไม่ปวดหัวกับการใช้งาน และการชาร์จไฟฟ้าระหว่างทาง
แต่ที่น่าห่วงประชาชนเดินดินกินข้าวแกงทั่วไป ใจตุ๋มๆ ต๋อมๆ หวั่นว่าค่าครองชีพถีบตัวอีกแค่ไหนในปีหน้า เพราะราคาดีเซลจะหมดเวลาตรึงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ให้ตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ตอนนี้ (ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2566) อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ขึ้นเมื่อไหร่ผู้ผลิตคงพาเหรดปรับราคา สินค้า แต่เชื่อว่ารัฐบาลใหม่อย่างนี้คงตรึงซื้อเวลากันต่อไป แม้ว่าสิ้นปี 2566 สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กลไกในการอุดหนุนราคาน้ำมัน คาดว่าจะติดลบปาไปอยู่ที่ระดับ 90,000-100,000 ล้านบาท
พลังงานแพงพันมาถึงค่าไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปีหน้าเห็นกันอยู่แล้วว่าค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ปรับค่าเอฟที 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ปัจจัยมาจากการที่เราพึ่งพาก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 70% เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียผู้ส่งออกก๊าซฯรายใหญ่ไม่สามารถส่งออกก๊าซฯได้ ราคาก๊าซฯก็ขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย ทำให้การผลิตก๊าซฯน้อยลงอีก แต่ก็ไม่ต้องคาดเดาให้เสียเวลา รัฐบาลใหม่ไม่ปล่อยให้ค่าไฟฟ้าขึ้นขนาดแน่นอน แถมจะทำให้ค่าเอฟทีติดลบด้วย ทางมาว่าจะทำให้เหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย ด้านหน้าก็ดูดีกันไปเพื่อลดช่วยเหลือประชาชน แต่เบื้องหลังการตรึงราคาพลังงานแต่ละประเภทมีอะไรที่ผู้ปฏิบัติงานต้องบริหารจัดการมากมาย
ใครๆ ก็ไม่อยากให้อะไรแพง แต่จะเป็นอัตราไหนนั้น การมีโครงสร้างโปร่งใส บอกข้อมูลกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาได้ว่าปรับขึ้นมาจากปัจจัยไหน หรือลดลง เอาตรงไหนมาช่วย เพื่อให้เราทุกคนเรียนรู้ และไม่คุ้นชินกับการมีราคาพลังงานถูกจนเมินเฉยสถานการณ์ความเป็นไปของโลก
………………………….
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย.. “สายัน สัญญา”