เมื่อถึงยุค การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ผู้ขายน้ำมันอย่าง OR หรือ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย สถิติของ OR ก็บอกชัดเจนว่า จากเดิมคนมาใช้บริการสถานีบริการ PTT Station ใช้จ่ายเงินกับน้ำมัน 55-60% ที่เหลือไปจับจ่ายในกลุ่มที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-oil) แต่ตอนนี้กลับกัน ไปใช้จ่ายน้ำมัน 45% จับจ่ายในกลุ่ม Non-Oil เป็น 55% แล้ว
OR ถือโอกาสสร้างโมเดลปั๊มต้นแบบ เพื่อให้เห็นทิศทางที่กำลังจะไปในอนาคต เมื่อการขายน้ำมันไม่ใช่เป้าหมายการขายอีกต่อไป โดยลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เปิดตัวสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 บนพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร ให้เป็นปั๊มน้ำมันต้นแบบที่จะทำให้เห็นถึงแนวคิดใหม่ในการดำเนินธุรกิจของ OR ให้เป็นรูปธรรม
แนวคิดที่ว่าแปลงออกมาเป็น SDG ย่อมาจาก “S” หรือ “SMALL” โดยการสนับสนุนสินค้าชุมชนจากทั่วประเทศ ผ่านร้านไทยเด็ด และร้านภัทรพัฒน์ ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นต้น รวมไปถึง “Common Space” หรือพื้นที่สนับสนุนกิจกรรมของชุมชน
ส่วน “D” หรือ “DIVERSIFIED” เป็นการสร้างโอกาส เพื่อการเติบโตในทุกรูปแบบผ่านแฟลตฟอร์มต่างๆ ของ OR ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น คาเฟ่ อเมซอน, เท็กซัส ชิคเก้น, พาคามาร่า และโอ้กะจู๋ เป็นต้น
ที่สำคัญ “G” หรือ “GREEN” มุ่งเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) ตรงนี้น่าสนใจ โดย OR ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการสถานีบริการน้ำมันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-Neutrality) ภายในปี 2573 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2593 ตามที่ได้ประกาศไว้
แผนการดำเนินงาน “GREEN” ของ OR ในสถานีบริการน้ำมันที่จับต้องได้ก็คือ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภายในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น โดยจะทำทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2,000 แห่ง ทั้งที่บริหารโดย OR และผู้แทนจำหน่ายจำนวนกว่า 1,600 แห่งด้วย ตามเป้าหมายของ OR ที่ต้องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจากโซลาร์รูฟท็อปให้ครบ 18 เมกะวัตต์ในปี 2573 ซึ่งไม่เฉพาะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการประหยัดต้นทุนด้วย
อีกทั้งยังช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมัน ช่วยปิดช่องโหว่ของพลังงานทดแทนที่ไม่มีที่เก็บพลังงานที่ผลิตขึ้นมา โดย OR ไปจับมือกับ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) ในเครือปตท.ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (G-Box) เพื่อจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
Nuovo Plus เป็น Battery Solution Provider ที่กลุ่มปตท.ตั้งขึ้นมา เพื่อลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ (Battery Value Chain) โดยมีธุรกิจหลากหลาย ดร.พัฑฒิ บุณยสุขานนท์ ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการพาณิชย์ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด บอกกับเราว่า “เจ้า G-Box เป็น Energy Management System เหมือนแท้งก์น้ำไว้เก็บน้ำสำรอง แทนที่เราจะผลิตพลังงานจากแสงแดดหากไม่ใช้ก็ต้องทิ้งไป ก็มี G-Box มาช่วยเก็บพลังงานที่ผลิตจากโซลาร์รูฟท็อปในปั๊ม สำหรับ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 เป็นแห่งที่ 2 ที่เรานำมาติตตั้ง ขนาด 160 กิโลวัตต์ชั่วโมง G-Box จะมาทำหน้าที่ทำให้ระบบไฟฟ้าในปั๊มมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะที่นี้มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Centralized Charger) ที่ให้บริการอยู่ถึง 6 หัวชาร์จ หากมีรถยนต์ไฟฟ้ามาชาร์จพร้อมกันจะไปกระชากไฟฟ้าจากระบบส่วนกลาง ดังนั้นนอกจากไฟฟ้าจากการไฟฟ้าที่จ่ายในปั๊มแล้ว การมี G-Box ที่เก็บจากโซลาร์รูฟท็อปที่ผลิตได้จะช่วยเป็นไฟฟ้าสำรองได้อย่างดี ทำให้ระบบไฟฟ้าในปั๊มมีเสถียรภาพมากขึ้น”
เขายกตัวอย่างว่า กรณีมีรถยนต์ไฟฟ้า 2 คันมาชาร์จเร็ว การชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่รถยนต์ความจุ 60 กิโลวัตต์ ให้ขึ้นไปถึง 30-80% ใช้เวลา 20 นาที จะทำให้ระบบไฟฟ้าส่วนกลางกระชาก ดังนั้นแทนที่จะดึงไฟจากส่วนกลาง ก็มาดึงจาก G-Box และยังเป็นไฟฟ้าสำรองได้ด้วยหากกรณีไฟฟ้าในปั๊มดับ และส่งไฟฟ้าไปในจุดที่ต้องการได้ด้วยขึ้นกับการออกแบบ ซึ่ง G-Box ไม่ได้มีเฉพาะในปั๊มเท่านั้น ยังไปติดตั้งในหลายๆที่แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อเก็บไฟจากโซลาร์เซลล์ไว้ใช้ในหอพัก G-Box จึงช่วยปิดช่องโหว่ของพลังงานหมุนเวียนได้อย่างดี สนับสนุนให้การใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศให้เพิ่มขึ้น
เรียกได้ว่า เติบโตไปด้วยกัน และ ปิดจุดเจ็บปวด (Pain Point) ไปด้วย เพราะ OR ต้องเพิ่มจุดชาร์จไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันมากขึ้นอยู่แล้วตามเทรนด์ แต่จังหวะก้าวก็สำคัญมาก เพราะรถยนต์น้ำมันที่วิ่งในประเทศยังมีกว่า 20 ล้านคัน ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ายอดจดทะเบียนสะสม ณ เดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 99,736 คัน OR ก็เลยต้องค่อยๆขยายจุดชาร์จไปตามกระแสไปก่อน ปีนี้ที่ทำได้ทั่วประเทศ 800 หัวชาร์จปีหน้าก็เพิ่มอีก 500-600 หัวชาร์จ และจะไปให้ถึง 7,000 หัวชาร์จ ในปี 2573 ส่วนอนาคตหัวจ่ายน้ำมันก็ต้องหมดไปตามยุคแน่นอน แต่จะเมื่อไหร่ก็ต้องขึ้นกับความนิยมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคว่าจะโตแบบก้าวกระโดดไหลไปเรื่อยหรือไม่อย่างไร
แล้วก็อีกนั้นแหละได้ชื่อว่า พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 โมเดลสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ ก็ต้องมีอะไรใหม่เกาะกระแสเราเห็น BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรงมาตั้งที่นี่ด้วย เป็นแห่งแรกที่มีโชว์รูมขายรถยนต์ในปั๊ม แม้ บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขาย BYD จะจับมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท ซัสโก้ บียอนด์ จำกัด ทั้งในธุรกิจจำหน่ายและดำเนินการบริหารโชว์รูม ก็ยังต้องเลือก พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 นำร่องตั้งโชว์รูมขาย BYD แทนที่จะตั้งในสถานีบริการน้ำมันซัสโก้ เป็นแห่งแรก แต่ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดนัก เพราะด้วยความมีสินค้าและบริการครบครันรองรับไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ ทำให้มีคนใช้บริการจำนวนมากมาตลอด ทั้งคนผ่านไปผ่านมาและคนใช้ประจำ เพราะมีหมู่บ้านอยู่รอบๆไม่น้อย เดือนกันยายน 2566 ที่เพิ่งเปิดโชว์รูมจนถึงตอนนี้ยอดขาย BYD ทะลุกว่า 200 คันไปแล้ว จนหลายค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต้องแอบมาส่องกันเลยทีเดียว
ดังนั้น ธุรกิจกลุ่มไม่ใช่น้ำมัน ที่มีความหลากหลายน่าสนใจตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค คงไม่ได้มีให้เห็นเฉพาะ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 แต่ต้องขยายไปอีกเรื่อยๆ แล้วเราก็จะได้เห็นการจับมือกับพันธมิตรมากหน้าหลายตาในหลายวงการไม่จำกัดของ OR ที่ใช้วิกฤตเป็นโอกาสสร้างการเติบโต
“ดิษทัต ปันยารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR บอกว่า กำลังปั้นกลุ่มสุขภาพและความงาม (Health and Welness) เป็นรูปเป็นร่าง ตอนนี้กำลังคุยกับพันธมิตรจากเกาหลี และญี่ปุ่นอย่างขะมักเขม้น เพื่อทำแบรนด์สินค้าร่วมกัน ธุรกิจนี้ได้เห็นความชัดเจนในต้นปี 2567 แน่นอน รวมถึงทำ ธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) เพื่อรับกับไลฟ์สไตล์การเดินทางท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ ซึ่งหลายคนลุ้นกันมานานหลายปีว่า OR จะทำได้เมื่อไหร่ กลางปีหน้าได้เห็นรูปร่างกันแน่นอนอีกเหมือนกัน ตอนนี้กำลังทดสอบ 10 รูปแบบโรงแรม เพื่อหาข้อสรุปว่าจะทำโรงแรมแบบไหนจึงจะที่เหมาะสม โรงแรมแบบแคปซูลก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่กำลังศึกษา
…นี่แหละความยั่งยืนในความหมาย คือสามารถเติบโตได้ในทุกสถานการณ์
………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย...”สายัญ สัญญา”