การปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ประเมินว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และจะร้อนในระดับนั้นอยู่อย่างน้อย 1 ปี
มีการคาดว่าระหว่างปี พ.ศ.2566-2570 อุณหภูมิใกล้ผิวโลกเฉลี่ยรายปีจะมากกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมระหว่าง 1.1-1.8 องศาเซลเซียส นำมาสู่ข้อตกลงปารีสที่กำหนดไว้ว่า ชาติภาคีจะร่วมกันรักษาดูแลไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และหากให้ดีต้องควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะหากโลกร้อนขึ้นเกินกว่านี้ จะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจากภัยพิบัติต่างๆ
การจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น หมายความว่า 3 ภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ระหว่างภาคการผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนในสัดส่วน 36% ภาคคมนาคมขนส่ง 28% และ ภาคอุตสาหกรรม 31% (ข้อมูล ปี 2564 จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ.2608 ตามที่ได้ประกาศไว้ในเวทีโลก
ในส่วนของภาคการผลิตไฟฟ้า มีบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดจาก 18% ในปีพ.ศ.2565 เป็น 35% ในปี พ.ศ.2580 ลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้าจาก 80 MtCO2eg ในปีพ.ศ.2565 เหลือ 38 MtCO2eg ในปีพ.ศ.2593 โดยจะมีสัดส่วนพลังงานสะอาด 74% ในปีเดียวกัน
แผนงานที่สำคัญใน PDP 2018 ได้กำหนดเรื่องการใช้พลังงานไฮโดรเจนในภาคการผลิตไฟฟ้าร่วมกับก๊าซธรรมชาติเข้าไว้แล้ว ส่งผลให้ภาคการผลิตไฟฟ้าต้องดึง “ไฮโดรเจน” เข้ามาอยู่ในกล่องการศึกษาอย่างจริงจัง แต่เทคโนโลยียังใหม่ การจับมือกับพันธมิตรเป็นเรื่องสำคัญ ในส่วนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ 3 บริษัทชั้นนำญี่ปุ่น ลุย “โครงการศึกษาและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียน” ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีมาเนิ่นนาน เพื่อศึกษาความเหมาะสมการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม สังคม และด้านเศรษฐศาสตร์ การจัดเก็บ การขนส่งไฮโดรเจนและแอมโมเนีย รวมถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ตามเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality
มาใน ภาคการขนส่ง ไฮโดรเจนต้องอยู่ในแผนแน่นอน เพื่อเดินไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนให้เร็วขึ้นหลังพบว่าแนวโน้มปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่งเพิ่มมากขึ้น ในปี 2565 ปล่อยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32% แล้ว ข้อมูลจากทีดีอาร์ไอพบว่า หากไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆ ในปี พ.ศ.2593 ปริมาณการปล่อยคาร์บอนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่า
ไม่กี่วันมานี้ เราก็ได้เห็นปรากฎการณ์อะไรใหม่ๆ ในแวดวง ภาคขนส่งและพลังงาน ที่มีการจอยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุน และจับมือกันเข้าสู่การใช้พลังงานสีเขียว ระหว่าง กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA Group) ซึ่งดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) โดย WHA เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ใน GC Logistics Solutions Company Limited หรือ GCL บริษัทใน GC Group
โดยแผนงานหลังมาร่วมทุนกันมองข้ามชอตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ไปแล้ว แต่ไปที่การใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง ถือว่าเป็นอีก win-win solution เพราะ WHA ก็ได้ฐานลูกค้าเพิ่ม ส่วนแหล่งไฮโดรเจนก็หาได้ไม่ยาก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากปิโตรเคมี และโรงกลั่น ที่ GC สามารถนำมาป้อนให้ได้อยู่แล้ว
ไม่เฉพาะส่วน GC บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็ลงมาเล่นเองด้วย โดยจะเข้ามาทำธุรกิจไฮโดรเจน ร่วมกับ ACWA Power ซาอุดิอาระเบีย ตอนนี้เปิดสถานีเติมโฮโดรเจน (H2) ในรถยนต์แห่งแรกของไทยแล้ว ที่ อ.บางละมุง ชลบุรี เป็นโครงการนำร่องโดยร่วมกับโตโยต้า
“ไฮโดรเจน” นอกจากจะเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถพัฒนาไปสู่เป็นเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบไฮโดรเจน (Hydrogen Energy Storage) ได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทั่วโลก
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้อธิบายถึงโอกาสของ “พลังงานไฮโดรเจน” ว่า มีข้อดีที่แตกต่างจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น เนื่องจากพลังงานไฮโดรเจนเกิดจากการนำก๊าซไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิง มีความสามารถใช้งานได้เทียบเท่าพลังงานจากน้ำมัน แต่ที่ยังไม่แพร่หลาย เพราะการผลิตไฮโดรเจนยังมีต้นทุนที่สูงอยู่ และมีความซับซ้อน สำคัญไปกว่านั้นการจะเคลมว่าไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่แท้จริง ต้องดูกระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนด้วย ซึ่งแยกไฮโดรเจนออกมาเป็น 3 สี ประกอบด้วย
1.ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ จึงยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ไม่ใช่พลังงานสะอาดที่แท้จริง
2.ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) ผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่มีกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนสีฟ้าจึงสะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทา
3.ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) เป็นการผลิตก๊าซไฮโดรเจนโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) ใช้พลังงานไฟฟ้ามาแยกโมเลกุลของน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน แต่การจะเป็นไฮโดรเจนสีเขียว ต้องอาศัยไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานสะอาดคาร์บอนต่ำ เช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์
ดังนั้นจะถ้าจะกรีนจริงๆ จึงต้องเป็นไฮโดรเจนสีเขียวเท่านั้น ซึ่งยังมีอุปสรรคที่ต้องฝ่าด่านอีกหลายด้าน ทั้งนโยบายจากรัฐ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อไปให้ถึงไฮโดรเจนสีเขียวจริงๆ
………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย..“สายัญ สัญญา”