ไม่กี่วันมานี้ กระทรวงพลังงาน จับมือกับ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกาศ โครงการขายไฟฟ้าสีเขียว หรือ ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน ซึ่งจะเริ่มเปิดขายไฟฟ้าพร้อมให้ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ในเดือนก.พ.67 เป็นต้นไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็น (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) จนถึง 31 ม.ค.67
ถ้าจำกันได้รัฐบาลก่อนได้ออกไปโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนในหลายๆเวทีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) มีบรรษัทข้ามชาติใหญ่ระดับโลกเลือกใช้ไทยเป็นฐานลงทุนธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมกัน 2,687 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท
คำถามของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก่อนจะเลือกไทยลงทุนนั้น นอกจากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพแล้ว อีกคำถามสำคัญที่เราต้องตอบคือ ความสามารถในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น นอกจากทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) แล้ว ไทยต้องมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า รวมไปถึงแผนปฏิบัติในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งการส่งเสริมเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) อย่างเป็นรูปธรรม และต้องทำมาตรการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือไฟฟ้าสีเขียวสำหรับเอกชนที่ต้องการอย่างชัดเจนด้วย
ไม่กี่วันมานี้ กระทรวงพลังงานก็เลยต้องจับมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกาศโครงการขายไฟฟ้าสีเขียว หรือ ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเปิดใช้เฉพาะกับลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น และเริ่มขายไฟฟ้า พร้อมให้ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ในเดือน ก.พ.67 เป็นต้นไป
สำหรับตลาดพลังงานหมุนเวียนที่จะเปิดขายนั้น เป็นปริมาณที่กระทรวงพลังงานส่งเสริม โดยกกพ.wfhประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 50% ภายในพ.ศ.2580 และ 70% ในพ.ศ.2593 พระเอกของพลังงานหมุนเวียนที่จะซื้อขายคงหนีไม่พ้นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์
ทั้งนี้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดจะเข้าสู่ตะกร้าการซื้อขาย โดยอัตราซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มา หรือไม่เจาะจงโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตอยู่เดิม (UGT1) โดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า ดังนี้คือ ค่าไฟฟ้าตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า รวมค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) บวกค่าพรีเมี่ยม (ราคาตลาด REC บวกค่าบริหารจัดการ) 0.0594 บาทต่อหน่วย ซึ่ง REC จากการซื้อไฟฟ้าของ UGT 1 จะเป็นใบรับรองแบบปีต่อปี
ประเภทที่ 2 อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบเจาะจงโรงไฟฟ้า เป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตอยู่เดิมและโรงไฟฟ้าใหม่ (UGT 2) อัตราค่าไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม 1.สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ปีพ.ศ.2568-2570 อัตรา 4.56 บาทต่อหน่วย และกลุ่มที่ 2 สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเข้าระบบช่วงปีพ.ศ.2571-2573 อัตรา 4.55 บาทต่อหน่วย โดย UGT2 จะเป็นใบรับรองระยะยาว 10 ปี
มีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับไฟฟ้าสีเขียวว่า สามารถตอบโจทย์ได้หรือไม่ต่อมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรปที่กำลังเข้มงวดต่อสินค้าที่จะส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป
เรื่องนี้ “วีระเดช เตชะไพบูลย์” นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย แสดงความเป็นห่วงถึงความตื่นตัวของภาครัฐและบริษัทเอกชนที่ยังน้อยเกินไปต่อมาตรการนี้ นอกจากนี้การซื้อไฟฟ้าสีเขียว เป็นเพียงภาคสมัครใจเท่านั้น ไม่ได้เป็นภาคบังคับ ดังนั้น UGT ที่รัฐกำลังออกมาตรการมารองรับนั้นอาจจะไม่ตอบโจทย์ CBAM อย่างแท้จริง
แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าไฟฟ้าสีเขียวของเราที่กำลังออกมาตรการออกมานั้นจะเข้าตามหลักมาตรฐานสากลหรือไม่ แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนับจากนี้เนื้อหอมสุดๆแน่นอน ผลิตเท่าไหร่ไม่พอขาย เพราะใครๆ ก็อยากจะเคลมว่าเป็นนักลงทุนที่รักษ์โลก เพื่อให้ขายของได้ในตลาดยุคไร้คาร์บอน
………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย..“สายัญ สัญญา”