วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“เกษตรกรสวนปาล์ม”ร้องรัฐ-ส่งเสริมใช้ ‘ไบโอดีเซล’ต่อเนื่องดูดซับปาล์มส่วนเกิน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เกษตรกรสวนปาล์ม”ร้องรัฐ-ส่งเสริมใช้ ‘ไบโอดีเซล’ต่อเนื่องดูดซับปาล์มส่วนเกิน

เป็นเรื่องปกติ เมื่อราคาผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรก็มักจะหันไปปลูกพืชอื่น เมื่อยางพาราราคาตก ก็หันมาปลูกปาล์มที่ให้ราคาดีกว่า ทำให้พื้นที่และผลผลิตปาล์มน้ำมันตอนนี้เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุถึงสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันของไทย ปี 2566 มีเนื้อที่ให้ผล 6.252 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 6.150 ล้านไร่ ผลผลิตปาล์มน้ำมันรวม 19.892 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 19.061 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 3.581 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2565 ที่มีจำนวน 3.431 ล้านตัน ความต้องการใช้ในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 0.225 ล้านตัน ทำให้มีน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินสะสมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 0.039-0.105 ล้านตัน

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องส่งออก แต่ไม่สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มส่วนเกินได้เสมอไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก

ในช่วงครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา ราคาตลาดโลกอยู่ในระดับสูง ไทยจึงยังสามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง แต่ครึ่งปีหลัง ผลผลิตพืชน้ำมันโลกไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมันหรือถั่วเหลืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพืชน้ำมัน รวมถึงราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวลดลง ไทยก็เลยไม่สามารถส่งออกได้ เหตุจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลก ส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 0.350-0.400 ล้านตัน สูงกว่าระดับสต็อกปกติ และมีผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรได้รับ

การรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มภายในประเทศให้มีความเหมาะสม และเป็นธรรม รวมถึงสร้างสมดุลน้ำมันปาล์มให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ไม่กระทบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการภายใต้ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ทั้งผลักดันการส่งออก เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน การตัดปาล์มคุณภาพ หรือการตัดปาล์มสุก เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกร อีกทางในการดูดซับน้ำมันปาล์ม คือ ภาคพลังงาน ซึ่งทุกวันนี้ผลผลิตน้ำมันปาล์ม 3 ล้านตัน เข้าสู่ภาคพลังงาน 1 ล้านตัน บริโภค 1 ล้านตัน ที่เหลือล้นสต็อกต้องส่งออก

การนำน้ำมันปาล์มเข้าสู่ภาคพลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อเก็บสต็อกน้ำมันปาล์ม เป็นหนทางที่เกษตรกรเรียกร้อง จากปัจจุบันที่บังคับผสมในน้ำมันดีเซล 7% หรือ B 7 ส่วน B 10 และB 20 เป็นทางเลือก และตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 เป็นต้นไป การจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศจะเหลือเพียง 2 ชนิด คือ น้ำมันดีเซล B7 ซึ่งเป็นภาคบังคับ และน้ำมันดีเซล B20 เป็นน้ำมันทางเลือกในการจำหน่าย ล่าสุดปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาอยู่ 3.75 บาทต่อลิตรตามนโยบายกำหนดเพดานราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

ประเด็นปัญหาในตอนนี้คือ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดให้ทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพรวมถึงไบโอดีเซลภายในปี 2565 แต่ให้ขยายระยะเวลา ลดการชดเชยครั้งแรกออกไปถึงวันที่ 24 ก.ย.2567 และสามารถขยายครั้งที่ 2 ได้อีก 2 ปี สิ้นสุดปี 2569 หลังจากนั้นต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้จึงจะชดเชยน้ำมันชีวภาพได้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันเหลือการชดเชยดีเซลและแอลพีจีส่วนแก๊สโซฮอล์ไม่มีการชดเชยแล้ว

กำหนดเวลาการสิ้นสุดการชดเชยน้ำมันไบโอดีเซล เดือดร้อนถึงกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มเป็นที่แน่นอนอยู่แล้ว กองทุนน้ำมันฯจึงต้องออกมารับฟังความเห็นของเกษตรกร เพื่อประกอบการต่ออายุการชดเชย

“อธิราษฎร์ ดำดี” นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน กระบี่ ระบุว่า ต้องการให้มีการชดเชยต่อไป เพราะการชดเชยน้ำมันชีวภาพ อย่างไบโอดีเซลเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรเอง และยังช่วยลดมลภาวะ ที่สำคัญช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มส่วนเกินได้อย่างดี หากไม่มีการส่งเสริมให้ใช้ไบโอดีเซลอนาคตปาล์มน้ำมันส่วนเกิน และราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำจะกลายเป็นปัญหารุนแรงมากขึ้น เพราะตอนนี้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มกันมากขึ้นจากมาตรการที่รัฐส่งเสริมการนำไปใช้ในภาคพลังงานก่อนหน้า และขอยืนยันว่าการผสมไบโอดีเซล 100% หรือ B 100 ในน้ำมันดีเซลไม่ได้เป็นสาเหตุหลักให้ต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลสูง เพราะในเนื้อน้ำมันทุกลิตรมีการบวกเพิ่มในส่วนอื่นๆด้วย อาทิ ภาษี เป็นต้น และราคา B 100 ที่ปัจจุบัน 36 บาทต่อลิตรผสมในน้ำมันดีเซลแค่ 7% 10% หรือ 20% เท่านั้น

“นโยบายรัฐไม่แน่นอน โดยเฉพาะการส่งเสริมการผสม B 100 ในน้ำมันดีเซล เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก่อนหน้านี้ส่งเสริมให้ใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงานมากขึ้น เกษตรกรก็หันมาปลูกปาล์มแทนยางพารากัน ตอนนี้การบังคับผสมไบโอดีเซลหยุดอยู่ที่ 7% เท่านั้น ส่งออกก็ชะลอออกไป ทำให้ปาล์มล้นตลาด ราคาปาล์มลดลง ค่าปุ๋ยค่ายาก็สูงขึ้น เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จึงอยากให้ภาครัฐส่งเสริมการการส่งเสริมการผสม B 100 ในน้ำมันดีเซลโดยให้ใช้มาตรการชดเชยราคาต่อไป และเพิ่มการผสมในน้ำมันดีเซลให้มากกว่า 7%” อธิราษฎร์ กล่าวย้ำ

วิศักดิ์ วัฒนศัพท์

ทางด้าน “วิศักดิ์ วัฒนศัพท์” ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุว่า ทาง สกนช.ได้เดินทางมารับฟังความเห็นของชาวสวนปาล์มในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และตรัง เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ประกอบการพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียในการยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งในเบื้องต้นการขยายกรอบระยะเวลาการชดเชยถึงปี 2569 สามารถทำได้อยู่แล้วตามพ.ร.บ.แต่การขยายการชดเชยออกไปไกลกว่านั้นต้องแก้ไขพ.ร.บ.ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบาย และต้องใช้เวลา

สำหรับสถานะของกองทุนน้ำมันติดลบอยู่ 96,270 (ณ วันที่ 17 มี.ค.67) ปัจจุบันเหลือการชดเชยในส่วนของน้ำมันดีเซลอย่างเดียว เพื่อตรึงราคาขายหน้าปั๊มไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรตามนโยบายรัฐบาล อัตราการชดเชยปัจจุบันอยู่ 3.75 บาทต่อลิตร อีกส่วนหนี่งกองทุนฯชดเชยก๊าซหุงต้ม 4.9627 บาทต่อกก. การอุดหนุนราคาที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้มีแนวโน้มว่ากองทุนน้ำมันจะติดลบแตะ 1 แสนล้านบาทในเดือนเม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งเสริมการใช้ปาล์มน้ำมันนั้น นอกจากใช้ในภาคพลังงานแล้ว สกนช.ยังได้เข้ามาส่งเสริมการผลิตและแปรรูปปาล์มแดง เพื่อเพิ่มมูลค่าปาล์มผ่านการให้ทุนกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

รศ.ดร. หมุดตอเล็บ หนิสอ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า การวิจัยเพื่อพัฒนา การผลิตน้ำมันปาล์มแดงบริสุทธิ์มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม แม้ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มแดงจะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตปาล์มในตลาดได้ไม่ถึง 10% ของปริมาณปาล์มน้ำมันที่ผลิตได้ แต่ก็เป็นทางเลือกสามารถช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจากวงจรปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟเพื่อรักษาคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ลดระยะเวลาการใช้ความร้อนในการอบผลปาล์ม

สำหรับน้ำมันปาล์มแดงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลปาล์มสด มีคุณสมบัติที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยน้ำมันปาล์มแดง มีสารอาหารที่มีคุณค่าสูงโดยเฉพาะสารเบตาแคโรทีน ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีค่าสูงกว่ามะเขือเทศ 300 เท่า และสูงกว่าแครอท 15 เท่า และยังมีวิตามินอี ไม่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีฤทธิ์ต้าน การอักเสบของเซลล์ ซึ่งการอักเสบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดเนื้องอก

นอกเหนือจากการพัฒนาเป็นส่วนประกอบในอาหารแล้ว น้ำมันปาล์มแดงยังต่อยอดเป็นส่วนประกอบกลุ่มเวชสำอาง เครื่องประทินผิว ซึ่งจากผลการวิจัยในปี 2563 ได้ยกระดับการผลิตโรงบีบปาล์ม ชุมชนจากเกรดอาหารสัตว์เป็นเกรดเวชสำอาง และในปี 2566 ที่ผ่านมาผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยมีโรงงานต้นแบบอยู่ที่วิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ท่าสะบ้า จ.ตรัง

จันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ

“จันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ” ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน หมู่ที่ 3 ตำบลท่าสะบ้า อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง เล่าถึงการแปรรูปปาล์มแดงว่า ปาล์มเหลืองเหมือนข้าวขาวที่สีมาแล้ว ส่วนปาล์มแดงเป็นปาล์มธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการเหมือนข้าวกล้องที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถแปรรูปได้หลากหลาย ซึ่งตอนนี้เรากำลังส่งเสริมให้เกษตรกรเห็นคุณค่าตรงนี้ พร้อมกับให้ภาครัฐช่วยพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“วงจรของปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำ ชาวสวนปาล์ม ประสบปัญหาผลปาล์มล้นตลาด เราจึงคิดพึ่งตนเองด้วยการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน และจดทะเบียนรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำการผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ ทั้งนี้น้ำมันปาล์มธรรมชาติมีสีแดงบริโภคได้ มีวิตามินเอและอีมาก สามารถยกระดับด้านราคาผลผลิตในอนาคต แก้ปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำได้” จันทร์เพ็ญ อธิบาย

ทั้งนี้ น้ำมันปาล์มแดงสามารถนำมาเป็นอาหารเสริมสุขภาพ นำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารแบบใช้ความร้อนต่ำ สามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นผลิตเป็นสบู่ก้อน สบู่เหลว เจลนวดสมุนไพร เพราะวิตามินต่างๆ และสารเบต้าแคโรทีนช่วยบำรุงผิว ลดริ้วรอยลดรอยเหี่ยวย่น ลดการอักเสบ โดยเฉพาะคนที่ผิวแห้ง ปัจจุบันทางกลุ่มฯกำลังพัฒนาต่อยอดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยได้ศึกษาดูงานต้นแบบจากมูลนิธิชัยพัฒนา และปัจจุบันได้เข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยการนำเทคโนโลยีไมรโครเวฟมาใช้ในการอบผลปาล์ม

สำหรับกระบวนการผลิตของกลุ่มเน้นการสกัดอย่างง่ายแบบธรรมชาติไม่ซับซ้อน เพื่อรักษาคุณภาพน้ำมันปาล์มธรรมชาติ และได้มาตรฐาน อย./GMP ซึ่งขณะนี้ยังวิจัยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ซอฟต์เจลผสมสมุนไพร การผลิตเจลลี่สำหรับคนสูงอายุ วิตามินสำหรับเด็ก มาการีนชีวภาพ ตลอดจนนำไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารไก่ อาหารโค เป็นต้น สิ่งที่กลุ่มคาดหวังจะให้เกิดในอนาคตคือ โรงงานน้ำมันปาล์มธรรมชาติต้นแบบเชิงพาณิชย์ในชุมชนโดยมีเครื่องมือ ขนาดที่เหมาะสมที่สกัดน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติที่ได้มาตรฐาน อย./GMP เพื่อผลิตน้ำมันบริโภค และเครื่องสำอาง เวชสำอาง ต่อไป

……….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“สัญญา สายัน

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img