วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSการบริหารจัดการ“พลังงาน”นับวันจะยากขึ้น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

การบริหารจัดการ“พลังงาน”นับวันจะยากขึ้น

บอกได้เลยว่า โลกดิจิทัล ทำให้สถานการณ์ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้พลังงานด้วย เราไม่อาจบอกได้ว่า น้ำมันจะเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับยานพาหนะต่อไปนานแค่ไหน เช่นกัน เราก็บอกไม่ได้ว่า ก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ไทยต้องพึ่งพาอยู่กว่า 70% เช่นนี้ตลอดไป

หลายอย่างที่ผันผวน ทำให้ แผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) พ.ศ.2566-2580 ต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย “ความยาก” คือต้องดู 3 เรื่องไปพร้อมกัน อย่างสมดุลตลอดแผน ทั้ง “ความมั่นคง-ราคา-สิ่งแวดล้อม”

แต่บรรทัดสุดท้ายของแผนพลังงานแห่งชาติในยุคนี้ ต้องจบแผนด้วยการ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในพ.ศ.2608-2613

เป้าหมายนี้ปลูกป่าอย่างเดียวคงไม่พอ ทำได้แค่ 120 ล้านตันต่อปี ต้องทำให้ได้ 180-190 ล้านตันต่อปี ให้สามารถชดเชยกับการปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงาน ซึ่งในปี 2566 ปล่อยอยู่ที่ระดับ 243.6 ล้านตันคาร์บอน มาจากการผลิตไฟฟ้า 37% ขนส่ง 34% อุตสาหกรรม 24% และอื่นๆ 5% เช่น เกษตรกรรม พาณิชยกรรม ครัวเรือน 5%

วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู

“วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า การทำให้แผนพลังงานสอดคล้องกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะต้องทำใน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1.ต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ไม่น้อยกว่า 50% พร้อมกับส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และ 2.การดึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้อย่างการกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage) ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีกำลังพัฒนาและกำลังนำมาใช้ในประเทศไทยมากขึ้น คาดว่าหลังปีพ.ศ.2583 น่าจะช่วยได้ 40 ล้านตันต่อปี

รวมไปถึงดึงพลังงานใหม่อย่าง “ไฮโดรเจน” มาช่วยด้วย ตั้งหมายจะทยอยเข้าระบบไว้ที่ 5-20% ขึ้นอยู่กับต้นทุน เพราะปัจจุบันยังเป็นเรื่องใหม่ ทำให้ต้นทุนยังสูง คาดว่าหลังปี 2578 น่าจะสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งในช่วงแรกยังต้องเป็น ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) ที่ยังต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตอยู่ แล้วค่อยขยับไปสู่ ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) ที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกกักเก็บไว้ในพื้นดิน โดยใช้การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) และปลายทางต้องเป็น ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) หรือไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งคาดว่าจะเห็นหลังปี 2583 ไปแล้ว

ในกลุ่มของเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำเข้าสู่แผนการผลิตไฟฟ้านั้น จะแตะๆ นิวเคลียร์ เข้ามาด้วยสัดส่วนประมาณ 1% เป็น รูปแบบ Small Modular Reactor (SMR) ที่มีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิม หรือมีขนาดประมาณ 70 เมกะวัตต์ สร้างสำเร็จจากโรงงาน ที่เชื่อว่าจะมีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงตลอดอายุของโรงไฟฟ้าประมาณ 20 ปี โดยจะผลิตจากโรงงานเจ้าของเทคโนโลยีส่งมาตั้งใช้งานและเมื่อหมดอายุโรงไฟฟ้าเจ้าของเทคโนโลยีจะรับกลับไปดูแลต่อ

“วีรพัฒน์” บอกว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่จะมีการรับฟังความเห็นในเดือนเมษายน ก็จะมีแผนที่ไม่มีนิวเคลียร์ และแผนที่มีนิวเคลียร์เป็นทางเลือกไว้ โดยหน่วยงานที่ศึกษาในเรื่องนี้อยู่ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้การที่ต้องนำนิวเคลียร์แบบ SMR ใส่ไว้ในแผนด้วย เพราะเทคโนโลยีใหม่จะมาช่วยตอบโจทย์ ทั้งความมั่นคง และการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถเป็นโรงไฟฟ้าฐานที่ช่วยรักษาความมั่นคง ให้ระบบรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าระบบมากขึ้นไม่น้อยกว่า 50% ตามแผน ซึ่งทราบดีว่าการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และลม รวมถึงพลังน้ำมีข้อจำกัด

อีกประเด็นที่ต้องดึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาช่วยสร้างความมั่นคงให้กับการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมนั้น “วีรพัฒน์” บอกว่า ปี 2566 พบพฤติกรรมการใช้ไฟของประชาชนเปลี่ยนครั้งแรก จากปกติช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) จะเกิดตอนกลางวันมาเป็นตอนกลางคืนช่วง 1-3 ทุ่ม ประมาณ 32,000 เมกะวัตต์ ซึ่งในปี 2566 พีคเกิดในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม เวลา 21.41 น. 34,827 เมกะวัตต์ และปีนี้พีคน่าจะทะลุ 35,000 เมกะวัตต์เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 10-15%  ประเด็นที่ต้องนำมาขบคิด คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากโซลาร์เซลล์ และลมจะเข้ามารองรับพีคที่เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำไม่ได้แน่นอน ต้องมีโรงไฟฟ้าฐาน (Base Load Plants) มารองรับ ในปีนี้พีคก็จะสูงขึ้นอีก และคาดว่าจะเกิดในช่วงหัวค่ำอีก ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) จะลดลงไปเรื่อยๆต่ำกว่า 25%

“การเปลี่ยนแปลงของการใช้พลังงานชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรามั่นใจว่าพีคจะมาช่วงหัวค่ำอีกหลังจากนี้ เพราะมีเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมการชาร์จไฟฟ้าตอนหัวค่ำ ส่วนพีคกลางวันที่หายไป ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่เพิ่มจำนวนขึ้น ดังนั้นแผนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม จะต้องทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งการบริหารจัดการของหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะยากขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งด้วยสภาพอากาศ และพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนไป” 

อย่างไรก็ตาม หน้าตาของแผนพลังงานที่ต้องมองกันยาวๆ เป็นสิบๆ ปี ซึ่งระหว่างทางอะไรก็เกิดขึ้นได้ ในเบื้องต้นแผนจะมีบทสรุปอย่างไรในเดือนเมษายนนี้ “สนพ.” จะเปิดรับฟังความเห็นไปพร้อมกันเลยทั้ง 5 แผนสำคัญ ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP), แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan), แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP), แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

โดยจะนำความเห็นของประชาชนที่เกิดขึ้นจากการรับฟัง ซึ่งจะเอานิวเคลียร์หรือไม่ก็ตามมาปรับปรุง และประกอบเป็นแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) จากนั้นทำแผนปฏิบัติการ และนำไปรับฟังความเห็นอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในกันยายน 2567

……….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“สัญญา สายัน

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img