วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘เอกชน’ลุยกันเอง ไม่ง้อนโยบายหนุน SAF จาก‘ภาครัฐ’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘เอกชน’ลุยกันเอง ไม่ง้อนโยบายหนุน SAF จาก‘ภาครัฐ’

การเดินทางท่องเที่ยวข้ามพรมแดนเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว สำหรับนักเดินทางตัวยงหรือสมัครเล่น แม้โควิด-19 จะยังแพร่กระจายอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่ใครหวาดหวั่นโรคนี้อีกต่อไปแล้ว

เราได้เห็นข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน พบว่าการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.79 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 19.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนของรัฐบาล อาทิ นโยบายฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน ทำให้การเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ทำอย่างไรให้ภาคการบินสนับสนุนให้ประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ.2608 น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ต้องมาในระยะเวลาอันใกล้นี้ แม้นว่าจะมีเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงไฮโดรเจนรออยู่ แต่อาจกินเวลานานกว่าจะได้ใช้ในเชิงพาณิชย์กันอย่างจริงจัง

การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนสอดคล้องกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ที่ประกาศพันธสัญญา “Fly Net Zero” ในการตั้งเป้าหมายร่วมกันของสายการบินทั่วโลกที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในพ.ศ.2593 ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เห็นกันชัดๆ จับต้องได้ SAF จะเข้ามาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 80% เทียบกับการบินด้วยเชื้อเพลิงการบินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

เราบอกไว้ในบทความก่อนว่า การสนับสนุนโดยมาตรการทางจากภาครัฐเป็นเรื่องจำเป็นในการขับเคลื่อน SAF แต่ผ่านไปได้ไม่นาน ก็ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ยุคนี้แค่กระพริบตาก็สามารถตกข่าวได้ ตอนนี้ภาคเอกชนไม่รอมาตรการสนับสนุนจากรัฐ ลุยกันเองเลย เพราะย่อมมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มาพร้อมกับการลดคาร์บอน จากที่มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการ SAF ของตลาดโลกจะไปถึง 18.2 พันล้านลิตรในปี 2573 

ล่าสุด เจ้าตลาดพลังงานสีเขียวอย่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ก็ผนึกกำลัง บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) ร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ประกอบธุรกิจ SAF โดยตรง

“สมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA บอกว่า เป็นการรวมจุดแข็งของ 2 องค์กรของไทยสร้างศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ทั้งธุรกิจจัดเก็บและบริหารจัดการน้ำมัน SAF รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต ทั้งในประเทศไทยเอง และอาเซียน

ส่วน “ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BAFS ระบุว่า เป็นความร่วมมือสร้างสถานีบริการผสมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF Blending Facility) แบบ Open-Access เพื่อรองรับ SAF ที่ผลิตมาจากวัตถุดิบทางชีวภาพและวัตถุดิบอื่นๆ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงของทุกบริษัทน้ำมัน ส่งเสริมให้ตลาดการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนเป็นไปอย่างเสรี และสนับสนุนผู้ผลิตน้ำมันอากาศยานทุกราย ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันอากาศแบบยั่งยืนของภูมิภาคได้ในอนาคต

สำหรับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ไปไกลในเรื่อง SAF ล่าสุดยังได้จับมือกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น (กลุ่มธุรกิจด้านเคมี) จากประเทศญี่ปุ่น ทำข้อตกลงความร่วมมือการจัดหาน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมาสู่การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (UCO-to-SAF) เพราะตอนนี้ได้เริ่มก่อสร้างหน่วยผลิต SAF แห่งแรกในประเทศไทย ผลิตจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว หรือ Used Cooking Oli (UCO) ที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง กรุงเทพ กำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน เริ่มผลิตได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 หน่วยผลิต SAF ประกอบด้วย 2 หน่วยหลัก คือ หน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันใช้แล้ว (Pretreating Unit, PTU) และหน่วยผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel Unit, SAFU)

แล้วจะได้มาซึ่งน้ำมันใช้แล้วอย่างไร ตอนนี้รณรงค์ใหญ่ไปพร้อมกับการดูแลสุขภาพ และลดการทิ้งน้ำมันที่ใช้แล้วสู่พื้นที่สาธารณะ เรียกว่าโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” แบบให้ประชาชนร่วมมือได้ง่ายๆ โดยเพิ่มจุดรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วในปั๊มบางจากกระจายให้มากขึ้นเป็น 162 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.นี้เป็นต้นไป รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 20 บาท…

ช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำตอนนี้ ในภาคการบินเรา โดยเฉพาะภาครัฐมาโฟกัสกันที่ SAF ก่อนไหม เพราะผลิตจากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย ทั้งชีวมวล และน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ที่ช่วยตอบโจทย์ทั้งลดการปล่อยคาร์บอน แก้ปัญหาสุขภาพประชาชน และลดปัญหาทิ้งน้ำมันใช้แล้วลงพื้นที่สาธารณะอีกด้วย

………………………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img