สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่วางแผนพลังงานของชาติมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงพลังงานในปี 2545 แต่จริงๆ แล้วก็มีบทบาทมานานก่อนแล้ว ภายใต้ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งตอนนั้นยังสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
สนพ.วันนี้เป็น สนพ.ที่ถูกตัดภารกิจ ทั้งกำลังคน และงบประมาณจำกัด เรียกได้ว่า เป็นหน่วยงานที่กะทัดรัดมากๆ ในตอนนี้ แต่ยังคงภารกิจใหญ่เช่นเดิม ภายใต้กระบวนการทำงานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย นับเป็นความท้าทายของ “ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู” ผู้อำนวยการ สนพ.คนใหม่
เขาเป็นลูกหม้อสนพ.มาเก่า ก่อนก่อตั้งกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ ทางด้านบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานที่นี่ไปด้วยเรียนไปด้วยจนจบปริญญาโท Master of Economics Vanderbilt University, สหรัฐอเมริกา และDevelopment Studies, University of Melbourne, ออสเตรเลีย
ด้วยประสบการณ์ และความรู้ความสามารถของเขาจากการทำงาน ทั้งในและต่างประเทศจากนายแบงก์ นักการเงิน ผ่านการเป็นนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในยุคที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานสถาบันฯ โครงการที่เขารับผิดชอบตอนนั้นก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย ต่อมาก็มาสอบติดเป็นข้าราชการกระทรวงพลังงานในปี 2542 สนพ.เป็นที่ทำงานแห่งแรกของเขาจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เรียกได้ว่า หลับตาเดินใน สนพ.ก็ไม่ผิดทิศทางแน่นอน
ตอนที่เขาก็ได้รับทุนจาก สนพ.ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย หัวข้อการทำวิจัยของเขาก็คือ การเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย โดยศึกษาบทเรียนของอังกฤษ และออสเตรเลีย ที่สนใจทำหัวข้อนั้น “ดร.วีรพัฒน์” บอกว่า เป็นเพราะตอนนั้นไทยกำลังจะเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า และกิจการก๊าซฯ รวมถึงการแปรรูป ปตท. และการไฟฟ้า
เราถามว่า หัวข้อวิจัยของเขาเป็นอย่างไร เอามาใช้อะไรได้ในตอนนี้ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้การเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า และก๊าซฯของไทยก็ยังองทำต่อเนื่อง ยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ “เขา” บอกว่า โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก “ข้อมูล out ไปหมดละ” ตอนนั้นภาพธุรกิจการค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของไทยยังไม่ชัดขนาดนี้ และไม่มีการแข่งขันกันแบบนี้ งานวิจัยของเขาจึงต้องวางไว้
หลังจากจบปริญญาเอก งานวิจัยกับภารกิจจริงก็ไม่ห่างกันนัก เขากลับมาประเดิมด้วยการช่วยงานซื้อ-ขายสัญญาแอลเอ็นจีระยะยาวฉบับแรกของไทย ระหว่าง ปตท. กับบริษัท Qatar Liquefied Gas Company Limited ปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี ตลอดอายุสัญญา 20 ปี กำหนดเริ่มรับแอลเอ็นจีเดือนมกราคม 2558 มาถึงวันนี้กิจการก๊าซฯของไทยก็ยังไม่ได้เปิดเสรี ซึ่งคอนเซปต์ของการเปิดเสรีก๊าซฯ “ดร.วีรพัฒน์” บอกว่า มีผู้ลิตก๊าซฯหรือผู้รวบรวมก๊าซฯจากทั่วโลกมาขายในตลาดกลางที่แข่งขันราคาอย่างเสรี ซึ่งตอนนี้ไทยยังไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ไม่เท่านั้นเขายังมีส่วนร่วมร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ด้วย ตอนนั้น “เขา” เล่าว่า มีบุคลากรจาก สนพ. ย้ายไปอยู่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจำนวนมาก บางกอง เช่น กองไฟฟ้าย้ายไปกกพ.เกือบหมด ซึ่งตอนนั้นยอมรับว่า บุคลากรไม่เพียงพอ ถึงตอนนี้บุคลากรก็ไม่ได้เพิ่มมากมายนัก 3 กองหลักมีรวมกันแค่ 30-40 คนเท่านั้น ทั้งกองนโยบายไฟฟ้า กองนโยบายปิโตรเลียม และกองนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน
ในฐานะที่ผ่านยุคสมัยการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานของไทยมาพอสมควร “ดร.วีรพัฒน์” เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบาย การปฏิบัติ แล้วก็ความเป็นไปของกิจการพลังงาน ที่สำคัญต้องยอมรับว่า การทํางานยากกว่าสมัยก่อนมาก ปัจจุบันภาพของพลังงานเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ อดีตเราทำหน้าที่วางแผน ว่าจะมีใครใช้พลังงานเท่าไหร่ หน้าที่ในการจัดหาพลังงานเป็นหน้าที่ของรัฐ เรียกว่า รัฐเป็นคนเตรียมให้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกคนไม่ได้เป็นผู้ใช้พลังงานอย่างเดียวอีกต่อไป อยากจะผลิตพลังงานใช้เอง เช่น โซลาร์รูฟท็อป และยังเป็นผู้ขายกลับเข้าระบบอีกด้วย
“สมัยก่อนที่รัฐดูความมั่นคง ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาพลังงานให้ และดูให้ราคาถูกด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ แต่ตอนนี้ผู้ใช้กลายเป็นผู้ผลิต ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ผลิตแบบรายใหญ่ แต่เป็นรายเล็กๆเต็มไปหมด รูปแบบของการซื้อขายไฟฟ้าของไทยจึงต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และยังมีเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาตลอดด้วย จุดของความยากในการทำแผน คือผู้ใช้อยากผลิตพลังงานใช้เอง แต่ไม่ได้พึ่งตัวเอง 100% เพียงแต่อยากซื้อขายกันเองในพื้นที่ใกล้ๆกัน เป็นไมโครกริด รัฐต้องมีภารกิจจัดหาให้มีพลังงานพร้อมเป็น back ให้เขาด้วย”
แม้จะมีการแข่งขันกันผลิตมากขึ้น แต่รัฐก็ยังต้องทำหน้าที่ดูแลต้นทุน เพราะพลังงาน คือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ยกตัวอย่างการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่วันดีคืนดีการผลิตหายไป เขาก็ต้องหันมาพึ่งระบบ รัฐต้องทำหน้าที่เตรียมโรงไฟฟ้าไว้พร้อม เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบรวมทั้งประเทศ นี่คือต้นทุนของประเทศ ดังนั้นเราต้องดูภาพรวมทั้งหมด จะมองแต่สำรองไฟฟ้าสูงเฉพาะช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งไม่ได้
การมีผู้ผลิตพลังงานมากหน้าหลายตาเข้ามาในตลาด ถือว่ารัฐสูญเสียการคอนโทรลกลยุทธ์พลังงานของประเทศหรือไม่ “ดร.วีรพัฒน์” ระบุว่า รัฐก็ยังคงทำหน้าที่วางแผนต่อไป เอกชนก็ตามดูแผนของเราอยู่ ยังไงรัฐต้องทำหน้าที่คอนโทรลพลังงานของประเทศให้ได้ ถ้ารัฐคอนโทรลไม่ได้ มันก็เละ ตอนนี้ถือว่ารัฐยังคอนโทรลทิศทางได้ อยู่ที่เราจะเปิดกติกาให้เขาหรือเปล่า แล้วกติกานั้น ใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์ รัฐต้องดู ไม่ใช่เปิดไป ทำให้ผู้ประกอบการได้กําไรเยอะ ประชาชนไม่ได้ หรือประชาชนได้เต็มๆ แต่อาจกระทบกับความมั่นคง ต้องรักษาความสมดุลให้ดี
ดร.วีรวัฒน์ บอกความยากอีกปัจจัยคือ การทำตามกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม จากเดิมเวลาทำแผนพลังงานก็ชำเลืองมองแผนสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนี้แค่ชำเลืองไม่ใช่แล้วเป็นภาคบังคับที่เราต้องดูคู่กัน ดังนั้นทั้ง 3 ส่วนมีน้ำหนักเท่ากันเลย ทั้งความมั่นคง ราคา และสิ่งแวดล้อม
“การใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วยเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะใช้สีเขียวได้ทั้งหมด อย่างกลุ่มธุรกิจส่งออกก็อยากใช้พลังงานสีเขียว แต่เราจะเอาไฟฟ้าจากโซลาร์เข้าระบบที่ต้นทุนสูง ทำให้ค่าไฟของระบบสูงขึ้น ประชาชนก็จะมาตั้งคำถามเราได้ว่า ทำไมไม่ดูแลประชาชนด้วย นี่คืออีกความยากของนักวางแผนพลังงานในตอนนี้”
ดังนั้นก็เลยก็ไม่ง่ายที่ สนพ.ในยุค “ดร.วีรพัฒน์” เป็นผอ.ต้องฟันฝ่ากับการผลักดันให้ แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับ 2024 คลอดออกมาเสียที พร้อมกับอีก 5 แผนสำคัญที่ต้องสมดุลสอดรับกันด้วย ทั้ง 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
งานใหญ่งานรูทีนก็ต้องทำ งานสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของสนพ.ก็ต้องทำไปพร้อมกันด้วย “ดร.วีรพัฒน์” มีความฝันที่จะทำให้ สนพ.เป็น หน่วยงาน Think Tank ของกระทรวง นโยบายที่ สนพ. คิดออกมา หน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวง หรือแม้แต่ต่างกระทรวงนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ เป็นหน่วยงานสมาร์ท ที่ทุกคนพร้อมฟังเรา พูดอะไรออกไปมีผลจริงๆ มีอิมแพค สร้างความสั่นสะเทือน คนเชื่อว่าสิ่งที่เราชี้ถูกต้องแล้ว
เราหยอดคำถามสุดท้ายว่า เมื่อกิจการพลังงานรายล้อมเต็มไปด้วยผลประโยชน์ จะทำอย่างไรไม่ให้แผนพลังงานเพี้ยนไป “ดร.วีรพัฒน์” บอกว่า เราดูตามความจริง ตาม fact แต่มันก็มีคนสองมุมอยู่แล้ว ขอให้เรายึดหลักการแล้วต้องไปตามนั้นให้ได้ ต้องสมาร์ทที่จะชี้ให้ได้ว่าสิ่งที่เราคิดถูกต้องแล้ว มีผลกระทบกับประชาชนน้อย ทําให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสิ่งที่จะเอื้อให้ สนพ.เป็นอย่างนั้นได้ คือ data หรือข้อมูลนั่นเอง ซึ่งเราใช้ข้อมูลเยอะพอสมควร ไม่ได้แค่เสิร์ชจากกูเกิ้ล แต่มีการซื้อข้อมูลจากต่างประเทศ ซึ่งใช้งบประมาณหลักสิบล้านบาทต่อปี รวมถึงการสืบค้นหาข้อมูล และการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ไปพร้อมกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด
สำหรับสปีดในการทำงานก็เป็นอีกคุณสมบัติของนักวางแผนพลังงงานในยุคนี้เช่นกัน ที่อะไรๆ ก็ต้องทำให้เร็ว “ดร.วีรพัฒน์” ระบุว่า เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งการออกนโยบายพลังงาน ถ้าเราประวิงเวลาหรือทําให้ช้าคงไม่ทันโลก ที่ผ่านมายอมรับว่าแผนพลังงานชาติล่าช้า เพราะติดขัดด้วยปัจจัยต่างๆ อย่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) เราจะปรับปรุงใหม่และออกมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่ก็ทำไม่ได้เพราะติดเรื่องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยเรื่องยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 2 ปีที่แผนคลอดออกมาไมได้เชื่อหรือไม่ว่าภาพของสถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดทำให้เราต้องมาดูภาพรวมกันใหม่ ซึ่งตนเองจะพยายามทำให้ทุกอย่างทันต่อเหตุการณ์มากที่สุด
รวมถึงยุคนี้เขาจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชนที่ต้องทำเป็นประจำ ทั้งในฐานะ ผอ.สนพ. และ โฆษกกระทรวงพลังงาน เพื่อส่งสารให้ประชาชนรับทราบการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ และอีกสิ่งที่ “ดร.วีรพัฒน์” จะทำแม้ภารกิจดูแลกองทุนน้ำมันฯ และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะถูกดึงออกไปจาก สนพ.หลายปีแล้วก็ตาม คือ การสร้างบรรยากาศของอาคารสถานที่ทำงาน ให้กลับมามีชีวิตชีวา เป็นผู้นำประหยัดและอนุรักษ์พลังงานเหมือนในอดีตที่สนพ.เป็นผู้นำโมเดลใหม่ๆ มาใช้ เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรม
………………………………….
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย..“สัญญา สายัน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)