วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSรูปแบบสำรอง“น้ำมัน-ก๊าซ” เชิงยุทธศาสตร์ยังไม่ตกผลึก!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รูปแบบสำรอง“น้ำมัน-ก๊าซ” เชิงยุทธศาสตร์ยังไม่ตกผลึก!!

ตอนนี้คนกระทรวงพลังงานกำลังง่วนกับงาน “รื้อลดปลดสร้าง” ของรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ซึ่งตอนนี้มีการตั้งคณะทำงานมาเซ็ตในชื่อยาวเหยียด คณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ

ประชุมกันทั้งชุดใหญ่และสารพัดชุดย่อยหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ตกผลึกกัน เรื่องยากอยู่ตรงที่จะวางรูปแบบยังไงให้ปฏิบัติได้จริงๆ แล้วก็เร็วด้วย ทบทวนโจทย์ของ “รมว.พลังงาน” กันหน่อยคือ

1.ให้มีสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคง (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ขั้นต่ำตามมาตรฐาน 90 วันที่รัฐเป็นเจ้าของ 100% และให้กลไกนี้รักษาเสถียรภาพทางด้านราคาไปด้วย

2.โครงสร้างราคาน้ำมันที่เหมาะสมในบ้านเรา เอาต้นทุนโรงกลั่นน้ำมันจริงๆมาเป็นตัวตั้ง และกำหนดผลตอบแทนที่เหมาะสมให้ ดังนั้นจะมาดูไส้ในว่าต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมันเท่าไหร่กันแน่ แล้วควรได้กำไรเท่าไหร่ อัตราการเก็บภาษี การส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะต้องปรับอย่างไรเพื่อนำมากำหนดราคาน้ำมันในบ้านเราที่เหมาะสม ไม่ใช่คิดตามราคาตลาดโลก

3.ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย เดือนละครั้งพอ

โดยมี 2 รูปแบบที่จะทำได้ คือปรับกฎหมายเดิม หรือออกพ.ร.บ.ใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า ออกกฎหมายใหม่ง่ายกว่าไปปรับแก้กฎหมายเดิม ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯซึ่งทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2516 ทำภารกิจบริหารจัดการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ โดยไปแก้ไขเพิ่มเติมบทบาทหน้าที่ในพ.ร.บ.ใหม่ ยกเลิกพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดนิยามให้ชัด จะรักษาเสถียรภาพเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง รวมก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ด้วยหรือไม่ ภารกิจหน้าที่มีอะไรบ้าง แล้วก็มีคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาดูแล

สำหรับสาระสำคัญในการให้มีสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ตามโจทย์คือ 90 วัน หรือ 3 เดือน ในวิธีการจัดการนั้นก่อนอื่นต้องไปเซ็ตมาว่าช่วงราคาน้ำมันเท่าไหร่ที่เหมาะสมที่จะซื้อมาเก็บเป็นสำรองในแต่ละช่วงเวลา เช่น ราคา 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แล้วจะเก็บเป็นน้ำมันดิบเท่าไหร่ สำเร็จรูปเท่าไหร่ กำหนดได้แล้วซื้อน้ำมันมาเก็บใส่คลังไว้ตามระบบที่ใช้กันอยู่ คือ ซื้อน้ำมันตลาดล่วงหน้า  

ส่วนที่ “รมว.พลังงาน” บอกว่าอยากให้ราคาน้ำมันบ้านเราปรับเดือนละครั้งพอ เช่น ราคา 30 บาทต่อลิตรไปตลอดเดือนไม่มีการเปลี่ยนแปลง ราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวขึ้นลงในช่วงเวลา 1 เดือนนั้น ก็ต๊ะผู้ค้าไว้ก่อน พอครบเดือนผ่านไป เอาน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ที่เก็บไว้มาปล่อยออก โดยการปันส่วนกันระหว่างโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 โรง แล้วก็ซื้อน้ำมันล็อตใหม่มาเติม ให้มีสำรองครบ  90 วัน อาจซื้อแพงขายถูกหรือซื้อถูกขายแพงก็หักกลบกันไปในแต่ละเดือน  

ประเด็นของเรื่องนี้คือ การเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้าน้ำมันที่ต้องมารับภาระ ซึ่งต้องมีสายป่านยาวพอตัว เพราะราคาขายปลีกน้ำมันปรับได้เดือนละครั้งจาก 2-3 วันปร้บหน และการหาข้อสรุปถึงต้นทุนค่าการกลั่นจริงๆ ของแต่ละโรง ซึ่งซื้อน้ำมันคนละล็อตคนละแหล่ง กลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในปริมาณก็ไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา ทั้งดีเซล เบนซิน น้ำมันเตา มากบ้างน้อยบ้าง ทั้งหมดเพื่อนำมาคำนวนราคาน้ำมันที่เหมาะสมในบ้านเราที่จะประกาศเปลี่ยนแปลงเดือนละครั้ง

นอกจากนี้ การกำกับดูแลก็สำคัญ ก็เราจะกำหนดราคาน้ำมันขายปลีกเอง ไม่ไปเอาราคาน้ำมันตลาดโลกมาเป็นสรณะ ก็ต้องดูแลไม่ให้ปริมาณน้ำมันไหลออกไปนอกประเทศ เพราะถ้าเดือนไหนเราขายถูกกว่าชาวบ้าน ก็เป็นไปได้ที่จะมีคนมาแย่งซื้อกัน

ในส่วนของการแหล่งเงินที่จะมาซื้อน้ำมันเก็บสำรองไว้ “รมว.พลังงาน” บอกว่า ไม่ต้องใช้เงินสักบาท แต่ให้ผู้ค้าน้ำมันจ่ายน้ำมันแทนการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ซึ่งคงไม่มากพอ เพราะในโครงสร้างราคาน้ำมันต่อลิตรตอนนี้เป็นเรื่องของการเก็บภาษีอยู่หลายบาท อย่างดีเซล เป็นภาษีรวมๆ 8-9 บาทต่อลิตร ส่วนการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯจากดีเซลยังติดลบหมายถึงยังตรึงอยู่ 2.58 บาทต่อลิตร ดังนั้นงานนี้เงินจากค่าภาคหลวงที่ต้องส่งคืนกระทรวงการคลังคงต้องพิจารณาดึงมาใช้ซื้อน้ำมันทางยุทธศาสตร์ด้วย

รื้อใหญ่ขนาดนี้ ในระยะแรกเป็นไปได้ว่า อาจต้องทดลองทำทีละสเต็ปก่อน ราคาน้ำมันอาจลองให้คงที่ไป 1-2 อาทิตย์ แล้วค่อยๆ ขยายเวลาออกไป ส่วนสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ก็เช่นกัน ที่ต้องทดสอบระบบการบริหารจัดการ แต่อย่างไรเสียสำรองทางการค้าซึ่งเป็นกลไกของน้ำมันตามมาตรา 7 ก็คงต้องมีอยู่ต่อไป เพื่อกระจายความเสี่ยง ปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีหน้าที่สำรองน้ำมันดิบในอัตรา 5% และน้ำมันสำเร็จรูปในอัตรา 1% ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งปีหรือคิดเป็นอัตราสำรองเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ 22 วัน

มองไปมองมาแล้ว ถ้าให้เดินระบบใหม่ได้เร็ว องคาพยพของกองทุนน้ำมันฯคงต้องเอามาเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ หน้าตาของตารางส้มโครงสร้างราคาน้ำมันอาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่การเก็บเป็นเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯไว้บริหารจัดการก็ยังจำเป็น หรือการเก็บเป็นเงินภาษีเข้าเป็นรายได้ประเทศก็จำเป็น ไม่สามารถเก็บเป็นปริมาณน้ำมันเสียหมด สำหรับคน 20 กว่าคนของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อาจไม่พอจะ จะโอนย้ายคนมาช่วย หรือจะ Outsourcing ตรงไหนก็ว่ากันไป เพื่อให้ทำหน้าที่เข้าไปซื้อน้ำมันในตลาดล่วงหน้ามาเก็บไว้ในคลังสำรอง แต่ละเดือนก็ปันส่วนให้โรงกลั่นเอาไปกลั่น แล้วก็ซื้อน้ำมันล็อตใหม่มาเก็บหมุนเวียนไป ให้สำรองมีนอนไว้ 90 วันตามกำหนด

แต่ถ้าใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯก็คงต้องรอจังหวะให้กองทุนฯมีสถานะเป็นบวก จากตอนนี้ติดตัวแดงอยู่ 110,296 ล้านบาท (12 พ.ค.67) จากการตรึงดีเซล 62,719 ล้านบาท ตรึงแอลพีจี 47,577 ล้านบาท ซึ่งกำลังหาจังหวะปรับราคาน้ำมันดีเซลกันไป ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ปลดล็อกเมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 ที่ให้ราคาดีเซลปรับขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตรตั้งแต่เดือนเม.ย.67 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลขยับให้ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินราคา 33 บาทต่อลิตร

ตอนนี้กองทุนน้ำมันฯกำลังจัองราคาน้ำมันตลาดโลกตาไม่กระพริบ อาศัยจังหวะราคาน้ำมันขาลงปรับราคาดีเซลขึ้น เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯมีสภาพคล่อง ตอนนี้ปรับไปแล้วบางส่วน ยังเหลือปรับอีก 1.50 บาทต่อลิตร จากนั้นกองทุนน้ำมันฯมีแผนที่จะขอทยอยปรับอีกสัก 1 บาทต่อลิตร เพื่อให้กองทุนฯมีสถานะเป็นบวก พอกองทุนน้ำมันฯมีเงินสำรองบ้าง เป็นไปได้สูงที่จะเข้ามาเป็นกลไกการบริหารจัดการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ท่อส่งน้ำมัน…งานรื้อใหญ่ทำยังไงให้คิดแล้วทำได้ เป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ

…………………………………………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

 โดย…“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img