วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘วัฒนพงษ์ คุโรวาท’กับวาระ5เดือนที่‘พพ.’ ชู‘มาตรการภาษี’กระตุ้นประหยัดพลังงาน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘วัฒนพงษ์ คุโรวาท’กับวาระ5เดือนที่‘พพ.’ ชู‘มาตรการภาษี’กระตุ้นประหยัดพลังงาน

เมื่อเดือนม.ค.67 ที่ผ่านมา “วัฒนพงษ์ คุโรวาท” ได้รับการแต่งตั้งเป็น อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ไม่ถึงครึ่งปีก็มีอันต้องโยกกลับแบบไม่ทันตั้งตัวไปตำแหน่งเดิม ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เรียกว่ามีการโยกย้ายผิดธรรมชาติเลยทีเดียว โดยไปแทน “วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู” ผอ.สนพ.คนปัจจุบัน ที่ไม่สนองใจ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงาน ในการขับเคลื่อนงาน “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ให้เร็วได้ดังใจ วงในเรียกการโยกครั้งนี้ว่า “ลักพาตัว” เลยทีเดียว

เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “วัฒนพงษ์ คุโรวาท” ในตำแหน่ง อธิบดี พพ. ถึงแนวทางการขับเคลื่อนการลดใช้พลังงาน หลังเรื่องนี้แผ่วมานาน เหตุจากนโยบายตรึงราคาพลังงาน ทำให้เกิดการคุ้นชินใช้ของถูก จนละเลยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

วัฒนพงษ์ คุโรวาท

เขาพึงพอใจกับงานใน “พพ.” หลังสัมผัสงานได้ 5 เดือน เพราะเป็นงานปฏิบัติที่จะทำให้การอนุรักษ์พลังงานเห็นผลได้จริง เขาถือเป็นคนนอกที่มองเห็นปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติการ และเข้ามาแก้ไขปัญหาอุปสรรค เช่น การก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็กที่ต้องลงไปสะสาง เพราะอนุมัติงบประมาณไปแล้วแต่หลายแห่งกลายเป็นซาก

รวมไปถึงมาตรการผลักดันการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดการปล่อยคาร์บอน “วัฒนพงษ์” กล่าวว่า มีมาตรการสำคัญที่เตรียมจะนำเข้าครม.ในเร็วๆ นี้ ในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้เกิดการลงทุน และดึงดูดประชาชนในการใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง

 

แนวทางที่วางไว้ คือ ยกเว้นภาษีเงินได้ หักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษี เพื่อสนับสนุนการใชอุปกรณ์ที่ได้รับฉลากประหยัดพลังงาน ได้แก่ ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง (พพ.) หรือฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงาน (กฟผ.) โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มเป้าหมาย 1.ในส่วนของบุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 40(5)-40(8) แห่งประมวลรัษฎากรสามารถหักค่าใช้จ่ายจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายจริงในการซื้อสินค้าประเภทวัสดุอุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน 2.ในส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายตามจริงสำหรับการลงทุนทรัพย์สินประเภทวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้น สำหรับระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่อง

สำหรับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีกำหนดให้ต้องเป็นวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน และเป็นของใหม่ มีใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มรูปแบบมาแสดง (e-Tax Invoice) เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอลดหย่อนภาษี และต้องได้รับฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงของพพ.หรือฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานระดับ 5 ดาว (ระดับประหยัดไฟฟ้าสูงสุด) ของกฟผ. กำหนดระยะเวลาขอรับสิทธิประโยชน์ต้องเป็นรายจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67-31 ธ.ค.71

เรื่องนี้ถ้าขับเคลื่อนไปได้ จะเกิดผลประโยชน์จากการลดใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 30,000 ล้านหน่วยต่อปี สามารถลดต้นทุนการนำเข้า spot LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่า 110,000 ล้านบาท ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจำ 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหากเทียบกับการสูญเสียรายได้ภาษีรวมเฉลี่ยปีละ 5,050 ล้านบาท

แผงโซลาร์เซลล์

นอกจากนี้ ยังใช้มาตราการทางภาษีเช่นเดียวกันในการ ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) แม้ว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้นแล้วในกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่สำหรับกลุ่มบ้านอยู่อาศัยยังพบว่ามีการเติบโตที่ไม่สูงมากนัก ปัญหามาจากเงินทุนในการติดตั้งระบบขนาดเล็กสูงกว่าระบบที่มีขนาดใหญ่

ดังนั้น “พพ.” จึงร่วมกับกรมสรรพากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำหนดให้นำเงินลงทุนค่าติดตั้งมาลดหย่อนภาษีเงินได้ แต่ต้องเป็นขนาดกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) ติดตั้งระบบ Solar Rooftop แบบเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า (On-grid) สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาวงเงินติดตั้งไม่เกิน 200,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) สามารถขอได้ 1 คน 1 มิเตอร์ ต่อ 1 ระบบต่อ 1 สิทธิ์ ระยะเวลาขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 3 ปี (2567-2570)

มาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุน 20,250 ล้านบาท ลดใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 585 ล้านหน่วยต่อปี ลดต้นทุนนำเข้า spot LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ 94,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,100 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 0.28 ล้านตันคาร์บอนออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สร้างงานไม่น้อยกว่า 450 ตำแหน่ง ส่วนผลกระทบจากมาตรการนี้คือ การสูญเสียรายได้ภาษีรวม 2,700 ล้านบาท

สำหรับมาตรการที่ดูเหมือนรมว.พลังงาน จะให้ความสนใจ คือ โครงการติดตั้งโซลาร์ที่โรงสูบน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อลดค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร “วัฒนพงษ์” ระบุว่า ที่ผ่านมา “พพ.” ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งานระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับประชาชนที่อยู่ห่างไกลสายส่งไฟฟ้าจำนวน 126 แห่ง ปัจจุบันได้จัดทำรูปแบบมาตรฐานและราคากลางของระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้สนใจทั่วไป 2 ระบบ คือ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการเกษตร ขนาดไม่น้อยกว่า 2,500 วัตต์ และแบบเคลื่อนย้ายขนาด 600 วัตต์ พร้อมกับการจัดทำคู่มืออบรมการใช้งานออกเผยแพร่ผ่านหน่วยงานท้องถิ่น อาทิ พลังงานจังหวัด เกษตร อำเภอ และพัฒนาช่างชุมชน เพื่อให้คนในพื้นที่ดูแลระบบและบำรุงรักษาได้เองในระยะยาว เพื่อทำให้โครงการยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี ระหว่าง 2567-2568

อีกส่วนที่ทำควบคู่กันไปคือ ขยายการสนับสนุนอาคารประหยัดพลังงาน เช่น Building Energy Code ที่บังคับอาคารก่อสร้างใหม่ (Renovate) ที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตร.ม.มีการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน รวมถึงมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) หรือธุรกิจให้บริการในด้านการอนุรักษ์พลังงานสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันการลดใช้พลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานของหน่วยงานรัฐ

โดยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคร่วมกันให้โครงการนี้เดินไปได้ระหว่าง สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อแก้และออกกฎระเบียบให้บริษัท ESCO ภาคเอกชนสามารถเข้ามาลงทุนปรับปรุงการใช้พลังงานให้หน่วยงานภาครัฐได้ โดยนำผลประหยัดที่เกิดขึ้นมาจ่ายเป็นค่าดำเนินการให้กลุ่ม  ESCO โดยมีการรับประกันผลประหยัดพลังงานทำให้การประหยัดพลังงานในภาครัฐขับเคลื่อนไปได้ จากเดิมที่ติดขัดในเรื่องของงบประมาณเพราะหากหน่วยงานรัฐต้องลงทุนเองต้องใช้เงินถึง 35,000 ล้านบาทต่อปี มาตรการนี้จะนำร่องให้การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีหน่วยธุรกิจบริการในเรื่องนี้อยู่แล้วเป็น ESCO รับลงทุนและบริหารจัดการพลังงานให้หน่วยงานรัฐก่อนจะขยายผลต่อไป ซึ่งแนวทางนี้เตรียมนำเข้าครม.เร็วๆนนี้  

ส่วนความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจเกิดการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งที่ผ่านมา “พพ.” รับรองโครงการกิจการบริการด้านจัดการพลังงาน (ESCO) 37 โครงการในปี 2547-2565 มีผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 15 โครงการ เกิดการลงทุน 5,912.2 ล้านบาท ส่วนปี 2566-2567 ให้การรับรอง 4 โครงการ วงเงินลงทุน 489.25 ล้านบาท เกิดผลประหยัด 7.72 Gwhต่อปี หรือ 657.8 toeต่อปี คิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 30 ล้านบาทต่อปี

ต่อไปก็ต้องลุ้นว่างาน “พพ.” ที่ “วัฒนพงษ์” จะต้องปล่อยมือไป หลังกำลังเข้าที่เข้าทางนั้น จะสานต่อกันอย่างไร แล้วงานตอบสนองนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” จะราบรื่นรวดเร็วดังใจหวังหรือไม่

………………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

 โดย…“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img