วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSDirect PPA ต้องยังไง?กฟผ.เจ๊งเลยไหม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

Direct PPA ต้องยังไง?กฟผ.เจ๊งเลยไหม

สัปดาห์หน้า กระทรวงพลังงาน จะประกาศ แนวทางการเปิดให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟโดยตรงกับผู้ผลิตพลังงานสะอาด หรือ Direct PPA (Direct Power Purchase Agreement)

โดยเบื้องต้น “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า จะเปิดให้ใช้แนวทางนี้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะเท่านั้น โดยให้เอกชนสามารถใช้บริการโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าได้ และเก็บเป็นอัตราค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge)

Direct PPA จะเกิดขึ้นได้ต้องมีอะไร? Direct PPA เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยไม่ต้องผ่านการไฟฟ้า (กฟผ.-กฟน.-กฟภ.) จึงต้องมีสายส่งไฟฟ้าเชื่อมต่อผู้ขายกับผู้ซื้อ เรื่องนี้มี 2 กรณีให้พิจารณา

1.ในกรณีสายส่งไฟฟ้าเป็นของผู้ขายหรือผู้ซื้อ เช่น สายส่งของเป็นของผู้ขาย และผู้ซื้อก็อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านสายส่งของการไฟฟ้าฯ ก็ทำสัญญา DPPA ได้เลย “ค่าผ่านสาย” wheeling charge อาจไม่ต้องคิด เพราะว่าในนิคมอุตสาหกรรมมีสายส่งของเอกชนอยู่แล้วและระยะทางไม่ไกล

2.กรณีสายส่งเป็นของ 3 การไฟฟ้าฯ ต้องรอ “TPA” (Third Party Administration) ที่จะมากำหนดค่าผ่านสาย หรือ wheeling charge และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อน อาจอยู่ที่ระดับประมาณ 0.75 บาทต่อหน่วย หรือน้อยกว่า

ข้อดีของ Direct PPA คือเร่งรัดให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวเร็วขึ้น เพราะเป็นที่สนใจของต่างชาติที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียว เช่น กูเกิ้ล ไมโครซอฟ อมาซอน ฯลฯ ทำให้ตัดสินใจมาลงทุนในไทยเร็วขึ้น

ส่วน ข้อเสียของ Direct PPA คือ 3 การไฟฟ้าฯ ต้องเตรียมสำรองไฟฟ้าสีเขียวมาจ่ายด้วย ในกรณีที่ผู้ขายไม่สามารถจัดหาไฟฟ้าสีเขียวได้ตาม DPPA อีกปัจจัยที่เป็นประเด็นคือ ต้องปรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้วิ่งสองทางได้ หรือ “2-way แบบไปมา” จากเดิมที่วิ่งทางเดียว

ในส่วนของปริมาณไฟฟ้าสีเขียวที่จะเปิดให้เอกชนมาซื่อขายกันเองนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเปิดให้ดำเนินการซื้อขายไฟฟ้ากันเองในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ระหว่างปี 2565-2573 ที่เปิดรับซื้อไปแล้วหรือไม่ ซี่งขณะนี้กำลังทยอยก่อสร้างและผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่ปี 2567 รวมถึงการเปิดรับซื้อเฟส 2 อีก 3,668.5 เมกะวัตต์ซึ่งจะดำเนินการภายในปีนี้ก็จะนำมาพิจารณาว่าจะเปิดให้เป็น Direct PPA หรือไม่เช่นกัน

Direct PPA เราได้ยินหนาหูขึ้น เพราะนักลงทุนยักษ์ใหญ่ไล่บี้แบบตามติด และคล้ายเดิมพันว่า ถ้าไทยไม่มีกลไก Direct PPA ก็อาจไม่ลงทุนกันเลย โดยล่าสุดวันที่ 11 มิ.ย.67 “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เร่งเป็นรอบสอง สั่งการในที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงพลังงานหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำหนด Direct PPA ที่เหมาะสมออกมา และให้นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ทันภายในต้นสัปดาห์หน้า ทั้งนี้การที่รัฐบาลพยายามอย่างสูงที่จะดึงดูดการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เป้าหมายใหญ่เลยก็เพื่อให้ไทยเป็น Digital Economy Hub ของภูมิภาค

ดังนั้นประเมินคร่าวๆ ว่า ธุรกิจที่จะเปิดให้ทำ Direct PPA ได้ น่าจะเป็นประเภท “ดิจิทัล อีโคโนมีดาต้า เซ็นเตอร์” “คลาวด์ เซ็นเตอร์” ซึ่งกิจการประเภทนี้ ไทยก็มีศักยภาพอยู่ เพราะมีจำนวนใช้บริการทาง “ออนไลน์ ดาต้า” ไม่เป็นรองใครในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นก็ไล่ตามมาเหมือนกัน จึงอยู่ที่ความรวดเร็วในการวางมาตรการดึงดูดการลงทุน

ดูของ “เวียดนาม” กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม นำร่องความตกลงซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตพลังงานทดแทนกับผู้ซื้อไฟฟ้า ที่เรียกว่า DPPA (Direct Power Purchase Agreement : DPPA) โดย ร่างความตกลง DPPA ระบุว่า ผู้ซื้อไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 22 kV (กิโลโวลต์) สามารถเจรจาซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้ โดยไม่ต้องผ่านการไฟฟ้าเวียดนาม (Electricity of Vietnam : EVN) นอกจากนี้ ผู้ซื้อต้องสัญญาที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และต้องซื้อไฟฟ้าอย่างต่ำ 80% จากที่ระบุในสัญญาซื้อขายในช่วง 3 ปีแรก โดยโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมขนาด 30 MV (เมกะโวลต์) สามารถเข้าร่วมในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงนี้ได้ โดยต้องเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ภายใน 9 เดือนหลังจากเข้าร่วมโครงการ และต้องมีเอกสารรับรองการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันทางการเงินด้วย

แต่ไปๆ มาๆ แล้ว หากถ้ายักษ์ใหญ่ไม่ลงทุนที่ไทย แต่ไปลงทุนที่ประเทศอื่น นักลงทุนไทยก็ได้ประโยชน์อยู่ดี เพราะหลายบริษัทไปลงทุนพลังงานสีเขียวในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงเวียดนามด้วย ก็ถือเป็นโอกาสการลงทุนของนักลงทุนของไทยเหมือนกัน

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามี Direct PPA เยอะขึ้นๆ เอกชนซื้อขายกันเองหมด “กฟผ. เจ๊งแน่” เพราะตอนนี้เราอยู่ภายใต้โครงสร้างการรับซื้อไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ โดย “กฟผ.” เป็นผู้รับซื้อรายเดียว แต่จะเหนี่ยวรั้งให้ “กฟผ.” เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนเท่าเดิม คงยาก เพราะโลกเปลี่ยนไป ทุกภาคส่วน รวมถึง “กฟผ.” จำเป็นต้องปรับตัวสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ไล่มาติดๆ ปัจจุบันนี้แม้ไม่มี Direct PPA แต่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้า โดย “กฟผ.” ก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่โรงไฟฟ้าเอกชนมากินส่วนแบ่งมากขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลยุคก่อนๆ ได้เปิดให้เอกชนมาลงทุน เพื่อลดภาระของรัฐบาลมานานเป็นสิบๆปีแล้ว

ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ “กฟผ.” เหลือ 29% กำลังผลิต 16,261 เมกะวัตต์ และจะเหลือ 17% ในปลายแผนพีดีพี 2024 แต่ขนาดกำลังผลิตเป็น 19,626 เมกะวัตต์ เพิ่มตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโต โดยสัดส่วนที่ “กฟผ.” จะผลิตเองตามแผน PDP 2024 จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิต 3,500 เมกะวัตต์จาก 6,300 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 3 โครงการ รวม 2,800 เมกะวัตต์ อาจเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) เพื่อให้เอกชนที่สนใจยื่นประมูล หรืออาจให้ “กฟผ.” ลงทุนก็ได้ นอกจากนี้ “กฟผ.” ยังเป็นผู้ลงทุนพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ทุนลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์ และนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR 600 เมกะวัตต์

ดังนั้นอย่างไรเสีย “กฟผ.” ก็ยังคงทำหน้าที่รักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศได้อย่างดี ทำให้ระบบไฟฟ้าของเรามีความมั่นคง ไม่มีประสบปัญหาไฟฟ้าดับต่อๆ ไป

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผน PDP 2024 และร่างแผน Gas Plan 2024 วันนี้ 12 มิ.ย.67 โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า ในช่วงปลายแผน พ.ศ.2580 จะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบอีก 47,251 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ คิดเป็น 51% ของระบบ

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์​ (โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ) โรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ (นิวเคลียร์รูปแบบ SMR ) รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ โดยจะมีทั้งการผลิตไฟฟ้าโดยเอกชน และ “กฟผ.” ขณะเดียวกันจะมีระบบสำรองไฟฟ้าไว้ด้วยเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบคู่กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เป็นพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ที่จะระบบ จำนวน 34,851 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ รวม 24,412 เมกะวัตต์, พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์, ชีวมวล 1,046 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์, แสงอาทิตย์ทุนลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์, ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์, พลังน้ำขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์

ขณะที่ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยขายปลีกปี 2567-2580 ของแผน PDP 2024 เฉลี่ย 3.8704 บาทต่อหน่วย ถูกลงจากแผนเดิมซึ่งอยู่ที่ 3.9479 บาทต่อหน่วย

……………………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img