วันเสาร์, กันยายน 28, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSทำอย่างไรให้“เทคโนโลยี CCS” ตอบโจทย์“สิ่งแวดล้อม”ได้จริง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทำอย่างไรให้“เทคโนโลยี CCS” ตอบโจทย์“สิ่งแวดล้อม”ได้จริง

ตอนนี้ดูเหมือน เทคโนโลยีการดักจับ และกักเก็บคาร์บอน (CCS) จะเป็นความหวังของโลก เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังต้องอุปโภคบริโภค และตราบใดที่ยังมีเชื้อเพลิงฟอสซิลใช้ โรงงานอุตสาหกรรมก็ปิดไม่ลง ต้องเดินเครื่องกันต่อไป และต้องปลดปล่อยพลังงานต่อไปเช่นกัน CCS ก็จะเป็นแนวทางสำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ทำให้เป้าหมายขององค์กรและประเทศทำได้เป็นรูปธรรม

ย้ำกันอีกครั้ง ประเทศเราประกาศจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 และเมื่อถึงเวลาก็ก็ต้องบอกให้โลกรู้ว่าเป็นระยะ เพราะกลายเป็นประเด็นใหม่ที่ส่งผลบวกและลบทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งการกีดกัน ขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจได้

แต่ CCS ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้พื้นที่ และลงทุนมหาศาล ดังนั้นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน มีไม่กี่ประเทศที่ทำเป็นจริงจังได้ อย่างในสหรัฐฯ รัฐบาลกลางได้จัดสรรงบประจำปีสําหรับการวิจัย CCS และโครงการที่เกี่ยวข้องมีมูลค่ารวม 5.3 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2011-2023 แล้วก็ยังมีการสนับสนุนโปรแกรม CCS อีกเป็นระยะๆ ไม่กี่ปีมานี้ในพระราชบัญญัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการจ้างงานปี 2021 ให้การจัดสรรงบ 8.2 พันล้านดอลลาร์สําหรับโปรแกรม CCS ในช่วงปี 2022-2026 รวมไปถึงการเครดิตคืนภาษีสำหรับบริษัทที่ดักจับและจัดเก็บ CO2 ทําให้มีแรงจูงใจในการใช้ CCS

ไม่มีแรงจูงใจก็ไม่เกิด เพราะ CCS ยากแท้ ต้องมุ่งเน้นดักจับ ณ ​แหล่งกําเนิด เพื่อกําจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อปล่อยออกมาจากโรงงานก่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เช่น โรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม และแยก CO2 ที่จับได้ไว้ใต้ดินลึกถึงชั้นที่มีการขุดเจาะน้ำมันเลยทีเดียว ด้วยมาตรการและแรงจูงใจดั่งว่า ตัวเลข ณ เดือนกันยายน 2023 โรงงาน CCS 15 แห่งเปิดดําเนินการในสหรัฐฯแล้ว ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่โรงงานแปรรูปก๊าซธรรมชาติ ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง แลเแอมโมเนียเป็นปุ๋ย โรงงานทั้ง 15 แห่งมีความสามารถในการดักจับ CO2 ได้ประมาณ 22 ล้านเมตริกตันต่อปี หรือ 0.4% ของการปล่อย CO2 ทั้งหมดต่อปีของสหรัฐฯ โดยโรงงานเหล่านั้นให้ CO2 ที่จับได้แก่บริษัทขุดเจาะน้ำมันใช้ เพื่อเพิ่มการกู้คืนน้ำมันออกมา หมายความว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้จะถูกฉีดเข้าไปในบ่อน้ำมันที่หมดลงบางส่วน และความดันจากก๊าซจะผลักน้ำมันที่เหลืออยู่สู่พื้นผิว เพิ่มปริมาณน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ CCS ถูกใช้ในระดับที่จํากัด แม้ในสหรัฐฯที่ทุ่มทุนไปมหาศาล เพราะค่าใช้จ่ายในการใช้ เทคโนโลยี CCS นั้น เอาจริงต้องลงทุนเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประมาณ 15 ไปจนถึง 120 ดอลลาร์ต่อตัน CO2 ที่ดักจับได้ และยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสําหรับการขนส่งและจัดเก็บ CO2

ดังนั้นภาคส่วนอุตสาหกรรม จึงไม่มีแรงจูงใจในการนํา CCS มาใช้ หากไม่มีรายได้กลับมาจากการให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บได้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันและเครดิตภาษีของรัฐบาล การมีโปรแกรมจูงใจทั้งสองส่วนที่เกิดขึ้น บวกด้วยรัฐบาลเพิ่มการสนับสนุนทางการเงิน สําหรับเทคโนโลยี ก็ทำให้ความสนใจในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนเพิ่มขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันโรงงาน CCS กําลังการผลิตรวม 134 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี มีการก่อสร้างเพิ่มเติม ทำให้ความสามารถในการดักจับ CO2 ทั้งหมดของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 7 เท่าเป็น 156 ล้านตันต่อปีหรือ 3 % ของการปล่อย CO2 ประจําปีในปัจจุบัน

ดังนั้นว่าไปแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ CCS ในอนาคต สำหรับทั่วโลก และไทยเอง คือ

1.การเปลี่ยนแปลง ต้นทุนในการดักจับ CO2 เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานสะอาดที่ต้นทุนลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจคุ้มค่ากว่าการพัฒนาเพื่อนำ CCS มาใช้

2.ความพร้อมใช้งานของเครือข่ายท่อ เพื่อใช้ในการขนส่งและจัดเก็บ CO2  

3.ความเหมาะสมของสถานที่จัดเก็บที่มีศักยภาพ ซึ่งไม่ได้หาได้ง่ายๆ เพราะต้องอัดกลับไปเก็บในชั้นใต้ดินลึก จึงต้องมีความเหมะสมทางธรณีวิทยา สามารถเก็บ CO2 ได้ในปริมาณมากและอย่างถาวร ทั้งต้องแน่ใจว่าจะช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากวิธีนี้ได้จริง

4.การตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่จะส่งผลต่อการปรับใช้ CCS ในอนาคต โดยเฉพาะกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมให้โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมสามารถกำจัดการปล่อย CO2 ได้ด้วยวิธี CCS และการใช้พื้นที่ชั้นใต้ดินในการเก็บ CO2

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มศึกษาและทำโครงการนำร่องแล้ว เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ลงนามในขอบเขตความร่วมมือ (Term of Collaboration) ระดับรัฐ เพื่อศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน (Northern Gulf of Thailand CCS Exploration project) กับ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของประเทศญี่ปุ่น  และอีกหลายโครงการที่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโครงการ CCS นำร่องแล้ว เช่น ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ในอ่าวไทย ถือเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนา CCS ครั้งแรกของประเทศไทย คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ได้ในปี 2570 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตได้ประมาณ 700,000-1,000,000 ตันต่อปี

รวมถึงโครงการที่ปตท.สผ. ร่วมมือกับบริษัทภายในกลุ่ม ปตท. ศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ภายใต้โครงการ Eastern Thailand CCS Hub บริเวณพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. ใน EEC จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง

ผลการศึกษาความเป็นไปได้ทั้ง Eastern Thailand CCS Hub ของกลุ่ม ปตท. และผลการดำเนินโครงการ CCS ที่แหล่งอาทิตย์ รวมทั้งโครงการศึกษาและประเมินศักยภาพชั้นหินธรณีวิทยาเพื่อกักเก็บคาร์บอนบริเวณอ่าวไทยตอนบน จะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลด้านธรณีวิทยาที่จำเป็นต่อการวางแผนพัฒนาโครงการ CCS ทางหนึ่ง รวมถึงหน่วยงานอื่นๆก็ทำแล้วเช่นกัน เช่น โครงการ CCS  ในพื้นที่ เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.

อย่างไรเสียแม้โครงการ CCS จะดีในภาพรวม แต่ในกระบวนการดักจับ และอัด CO2 ลงชั้นใต้ดินก็ต้องทำได้หมดจดจริงๆ แล้ววิธีเก็บที่ต้องอยู่ถาวรตลอดไปก็อีกเรื่องที่ต้องปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนจริงๆ ไม่สร้างมลพิษใหม่ จึงจะสามารถเคลมได้ว่าถึงเป้า Net Zero อย่างแท้จริง

……………………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img