ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2024) พ.ศ.2567-2580 ที่เตรียมสรุปนำเข้าครม.ไม่เกินก.ย.67 จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ากำลังผลิตใหม่เข้าระบบ 47,251 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ พลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ พลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ซื้อจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ และอื่นๆ 2,000 เมกะวัตต์ และอีกก้อนเป็นพลังงานนอกรูปแบบ 12,957 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์
ตามร่างแผนนี้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหลือ 17% ที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าเอกชน โดยโรงที่ให้ “กฟผ.” รับผิดชอบเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 5 โครงการ กำลังผลิต 3,500 เมกะวัตต์ อีก 3 โครงการ รวม 2,800 เมกะวัตต์ กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาจะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ทั้งหมดเลยหรือไม่
คำถามที่เกิดขึ้นในวงกว้างคือ สัดส่วน 17% นี้ “กฟผ.” ยังทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้หรือไม่ คำตอบคือ จริงๆได้นะ ถ้าทุกอย่างเดินตามแผน
ถ้า 1.การซื้อไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปตามแผน ตอนนี้เราซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว เป็นหลักเลย เขาส่งมาให้เรื่อยๆ ก็จะดี
ถ้า 2.โรงไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) และรายเล็ก (SPP) ทำตาม Grid Code หมายถึงผู้ผลิตไฟฟ้าที่จะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบปฏิบัติตามข้อกำหนดการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้า อาทิ ไม่ทำให้กระแสไฟที่ไหลในสายจำหน่ายหรือสายส่งเกินพิกัด และไม่กระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวม, ไม่ทำให้แรงดันในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอยู่นอกเกณฑ์มาตรฐาน, ไม่ทำให้ค่ากระแสลัดวงจรรวมในระบบโครงข่ายไฟฟ้าเกิน 85% เป็นต้น และควบคุมคุณภาพไฟฟ้าตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ดีดโรงไฟฟ้าออกจากระบบเร็วกว่าข้อตกลง เหมือนกรณีไฟฟ้าดับเมื่อ 1 มิ.ย.61 ที่เป็นกรณีศึกษาจนถึงทุกวันนี้
ตอนนั้นกำลังผลิตไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา สปป.ลาว หายไปกระทันหัน 1,300 เมกะวัตต์ จากเหตุฟ้าผ่าสายส่ง ทำให้ความถี่ของระบบไฟฟ้าลดต่ำลงจากมาตรฐานปกติ ระหว่างแก้ปัญหานั้น โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 20 ราย ได้ปลดตัวเองออกจากระบบประเทศ เพื่อป้องกันโรงไฟฟ้าของตัวเอง แต่ยังคงส่งไฟฟ้าให้นิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นลูกค้าตามปกติ ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าหลัก เสียกำลังผลิตไปอีก 2,516 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน กว่า 30 จังหวัด ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติแก้ปัญหาโดยสั่งเพิ่มกำลังผลิตสำรองเร่งด่วนส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
สิ่งที่มีการเรียกร้องคือ ถ้าการกำกับดูแลของ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” ดี มีบทลงโทษชัดเจน เข้มงวดอย่างในต่างประเทศ ที่ปรับกันถึงบริษัทล้มละลาย โทษฐานทำความเสียหายกับระบบไฟฟ้าของประเทศ เอาเงินมาลดค่าไฟฟ้าก็คงจะดี แต่ ณ บัดนี้ ไม่ชัดเจนว่าเขาปรับกันหรือไม่ และเท่าไหร่ ถ้าใครไม่ทำตามกฎกติกา
ขณะที่รัฐวิสาหกิจจะมีบทเบี้ยปรับชัดเจน อาทิ เงิน Claw Back ที่ กกพ. เรียกคืนจาก 3 การไฟฟ้าฯ หมื่นล้านในส่วนที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผนที่เสนอให้ กกพ. บวกดอกเบี้ย MLR บวก 2 โดยเอามาลดค่าเอฟทีเมื่อปี 2563
อีกถ้าหนึ่ง ถ้าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ เดินเครื่องสนองความต้องการได้อย่างมีเสถียรภาพ ไม่ต้องมีโรงไฟฟ้าฟอสซิล backup ซึ่งกำลังผลิตตามแผน PDP 2024 เป็นโซลาร์ 24,412 เมกะวัตต์ ลมรองลงมา 5,345 เมกะวัตต์ ความเป็นจริงคือ โซลาร์ มีกำลังผลิตได้จริงๆ (capacity factor) 16% จาก 100% ส่วนลม 20-22% ซึ่งตรงนี้ทุกฝ่ายทราบดี ในแผน PDP 2024 เลยต้องมีระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์ติดตั้งสำรองไว้สำหรับโซลาร์และลมเป็นหลัก คาดว่าจะติดตั้งแถวที่มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์และลมเยอะๆในแถบชัยภูมิ ลพบุรี เพื่อให้จ่ายไฟฟ้าได้เสถียรมากขึ้นก็เอามารองรับ Direct PPA ด้วยที่จะเปิดให้นักลงทุนรายใหญ่ของโลกซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดตรงจากผู้ผลิต
ตอนนี้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน คงเห็นการณ์ไกล และตั้งคำถามถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ “กฟผ.” 17% จะสร้างความมั่นคงได้จริงไหม? จะเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 29 มิ.ย.67 เลาๆ ว่า เพื่อพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 สำหรับเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ พร้อมกับเส้นทางการเดินท่อก๊าซฯระยะทาง 100 กม.ที่จะมารองรับ
สอดรับกับก่อนหน้านี้ 13 มิ.ย.67 “วัชระ เพชรทอง” อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มายื่นหนังสือถึง “พีระพันธุ์” ให้คัดค้านการยุบเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งถ้ากฟผ.เป็นผู้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าที่สุราษฎร์ธานี ตรงนี้ก็ถือเป็นจุดแก้ไขความเจ็บปวดได้ทางหนึ่งในการดึงโรงไฟฟ้าก๊าซฯให้ “กฟผ.” ทำเพิ่มเติม 1,400 เมกะวัตต์ ตัดยอดออกจากสัดส่วนที่เตรียมจะเปิดประมูล IPP 2,800 เมกะวัตต์
ตอนนี้ “กฟผ.” คงกำลังพิสูจน์ว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีที่กฟผ.ทำแข่งขันได้และช่วยความมั่นคงของไฟฟ้าในภาคใต้ไปพร้อมกัน
………….
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย..“สัญญา สายัน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)