ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวลือทางลบกับความเชื่อมั่นของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ครบวงจร
“วันนี้ผมก็ถูก Force Sell (การบังคับขาย) ด้วยเช่นกัน และเป็นคนที่เสียหายมากที่สุด ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า ที่ลือกันว่าผมขายหุ้นออกไปก่อนหน้านั้น ไม่เป็นความจริง” สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวไว้
หลังจาก Force Sell เรียบร้อยแล้ว “สมโภชน์” และพันธมิตรยังถือหุ้น EA สัดส่วนเกิน 50% และยังมีอำนาจในการบริหารกิจการบริษัท
สำหรับหุ้นที่เคยนำไปค้ำประกันเงินกู้ ได้ถูกบังคับขายเพื่อชำระหนี้หมดแล้ว นับจากนี้แรงเทขายควรจะหมดไปแล้ว ดังนั้นต่อไปนี้ ราคาหุ้น EA น่าจะเริ่มกลับมาสู่สภาพปกติ ราคาปิดเมื่อสิ้นสัปดาห์ที่แล้ว EA ยืนยันว่า เป็นราคาที่ไม่สะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัท ล่าสุดวันที่ 3 ก.ค. ราคาหุ้น EA ขยับมาที่ 12.20 บาท
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 ผู้บริหาร EA จับมือแถลงข่าว เพื่อคืนความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน นำโดย “สมโภชน์ อาหุนัย” CEO EA “อมร ทรัพย์ทวีกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ “วสุ กลมเกลี้ยง” Executive Vice President ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร
โดยระบุว่า มีโครงการต่างๆ รอ EA จะขับเคลื่อนต่อไป โดยเฉพาะโครงการที่ EA ได้ลงนามในสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ (Joint Development Agreement) กับรัฐบาล สปป.ลาว จัดตั้ง บริษัทร่วมทุน Super Holding Company บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของ สปป.ลาว ถือเป็นการริ่เริมศูนย์กลางการจำหน่าย และบริหารพลังงานสะอาดแบบครบวงจรของประเทศ ซึ่งรัฐบาลสปป.ลาว ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 65% และ EA ถือหุ้น 35%
ทั้งนี้ Super Holding Company จะมีสิทธิในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของ สปป.ลาว 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ EA สามารถรับรู้ผลตอบแทนจากการร่วมลงทุนเข้ามาได้ภายในปีหน้าทันที เพราะเป็นโครงการที่ขายไฟฟ้าไปแล้ว และเมื่อหมดสัมปทาน 25 ปี จะมีการโอนทรัพย์สินธุรกิจไฟฟ้าจาก บริษัท Lao Holding State Enterprise (LHSE) และบริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ EDL-Gen กำลังผลิตไฟฟ้า 7,000 เมกะวัตต์มาที่ Super Holding Company ซึ่งหลังจากหมดสัมปทาน โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนยังมีอายุการใช้งานได้อีกหลายสิบปี สามารถสร้างรายได้ให้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับเงินลงทุนในบริษัทร่วมทุน Super Holding Company มีมูลค่าลงทุนรวม 200 ล้านดอลลาร์ โดยช่วงที่ผ่านมา EA ได้ใส่เงินลงทุนไปแล้วราว 100 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่เหลืออีก 100 ล้านดอลลาร์ จะกู้เงินจากสถาบันการเงิน นอกจากนี้บริษัทฯยังตั้งเป้านำ Super Holding Company เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศด้วย ซึ่งจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2668 เพื่อระดมทุนใช้ในการลงทุนกิจการไฟฟ้าของ สปป.ลาว อาทิ สายส่ง โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใหม่ๆ
ในเรื่องนี้ EV ไม่ได้มองแค่รายได้จากการขายไฟฟ้า แต่คือสิทธิที่จะได้รับ ประกอบด้วย
1.กำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในมือ 7,000 เมกะวัตต์
2. Single Gateway
3.สิทธิสัมปทานใหม่ 25 ปี
4.สิทธิในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้โครงการ รวมถึงการเป็นเจ้าของ Carbon Credit
5.โอกาสในการลงทุนโครงการอื่นๆ
มีการประมาณการณ์ว่า Super Holding Company ที่ EA ถือหุ้น 35% นั้น จะสามารถสร้างกำไร (EBITDA) ให้ EA ในปี 2570 วงเงิน 1,000 ล้านบาท และโอกาสทางธุรกิจอื่นๆอีก 9,200 ล้านบาท
สำหรับโอกาสขยายธุรกิจอื่นๆ ในลาว ก็คงหนีไม่พ้นการนำ “ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์” ไปจำหน่ายให้ สปป.ลาว รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า อีกธุรกิจที่ EA ถนัด เพราะ สปป.ลาวเองก็ต้องการเพื่อไปสู่ Net Zero เหมือนประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้โครงการนี้ EA ยังมี Product Champions ที่ต้องลุยต่ออีก ที่น่าสนใจไม่ตกเทรนด์คือ การตั้ง โรงงานผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel (SAF) ที่จังหวัดระยอง กำลังผลิต 1.3 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งไตรมาส 4 จะเริ่มผลิตเป็นโรงงาน SAF แห่งแรกของประเทศที่ทำในเชิงพาณิชย์ ลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท
โรงงานแห่งนี้สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลาย ทั้งน้ำมันพืชใช้แล้ว และวัตถุดิบอื่นๆ ที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รับรอง ซึ่งจะมีการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด และขายไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการสูง ที่ผ่านมา EA ได้ร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ทำการทดสอบไปแล้ว
ในส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้านั้น EA มีโครงการใหญ่จากความร่วมมือกับ CRRC Dalian ยักษ์ใหญ่ผู้นำธุรกิจรถไฟความเร็วสูงของจีน เพื่อร่วมกันผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าจำหน่าย ซึ่งเป็นที่ต้องการทั่วโลก รวมถึงการพัฒนาแบตเตอร์รี่ใช้ในรถไฟด้วย ซึ่งกำลังทดสอบที่ความเร็ว 300 กม.ต่อชม.
สำหรับ รถโดยสารไฟฟ้าของบริษัท ไทยสมายบัส จำกัด จำนวน 2,000 คัน ปัจจุบันให้บริการผู้โดยสารเฉลี่ย 350,000 คน/วัน คาดว่าภายใน 1 ปี จะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ ส่วนของ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ EA ได้เตรียมเงินสดไว้เพียงพอสำหรับการเพิ่มทุนของ NEX หรือ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่ม EA เพื่อช่วยให้ NEX มีฐานทุนที่แข็งแรงสำหรับการขยายธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตต่อไปได้ โดยยังคงเป้ายอดขาย EV ปีนี้ยังตามเดิมที่ 5,000 คัน แม้ไตรมาส 2 ปีนี้ จะชะลอไป แต่เชื่อว่าจะเดินได้ตามแผน เพราะจำนวนลูกค้าในมือที่มีกว่า 136 ราย โดยไตรมาส 1 ปีนี้ ได้ส่งมอบ EV ไปแล้วประมาณ 590 คัน
ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้มีการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะในจังหวัดภูเก็ตขนาด 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2569 ส่วนโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จะหมดไปนั้น ทำให้รายได้ของ EA ลดลงจริง แต่บริษัทฯยังสามารถขายไฟในราคาค่าไฟฐานได้ โดยปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวม 656 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 270 เมกะวัตต์ และลม 386 เมกะวัตต์ ที่หมด Adder ไปแล้ว เป็นโครงการที่ลพบุรี 8 เมกะวัตต์ หมด Adder ปี 2566 จังหวัดนครสวรรค์ 90 เมกะวัตต์ ปี 2566 ส่วนที่จังหวัดลำปาง 90 เมกะวัตต์ หมดปี 2568 จังหวัดพิษณุโลก 90 เมกะวัตต์ หมดปี 2569 ส่วนโครงการพลังงานลมหาดกังหัน 126 เมกะวัตต์ หมดปี 2570 และหนุมาน 260 เมกะวัตต์ หมดปี 2572
โดยทั้ง 2 โครงการคือ จังหวัดลพบุรี และ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งไม่มี Adder ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันก็ยังขายไฟฟ้าสร้างรายได้ให้บริษัทอยู่ ซึ่งหลังจากปี 2568 รายได้จากการขายไฟฟ้าในโครงการต่างๆ 9,000 ล้านบาทต่อปีจะเริ่มทยอยลดไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2572 รายได้จะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามบริษัททำสัญญาต่ออายุสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทุกๆ 5 ปี
“แม้จะไม่มีรายได้จากส่วนของ Adder แต่ยังขายไฟฟ้าในราคาฐานได้ ซึ่งอยู่ในระดับสูงมากพอ และต่อเนื่อง ถือเป็นส่วนที่สร้างกระแสเงินสดในระยะยาวให้บริษัทได้ต่อไป แต่เราก็มีรายได้จากโครงการอื่นๆ และ Product Champions มาเสริม” สมโภชน์ กล่าวเรียกความเชื่อมั่น
ดังนั้นแผนชำระหนี้ของ EA ประมาณ 60,000 ล้านบาท จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โดยจะเป็นการทยอยชำระหนี้ ซึ่งแหล่งเงินจะมาทั้งจากการดำเนินธุรกิจพลังงานที่มีรายได้เข้ามาต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ยังมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามา คือ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ผู้บริหาร EA ยืนยันอย่างแข็งขัน ว่าบริษัทยังมีสภาพคล่องเพียงพอ และยังไม่มีแผนเพิ่มทุนอย่างแน่นอน สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบ 5,500 ล้านบาท จะ Rollover หากออกไม่ได้ บริษัทยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจที่เข้ามา บวกกับเงินกู้จากสถาบันการเงิน ที่ได้เจรจากันไว้แล้ว ผู้บริหาร EA ไม่เชื่อว่าจะออกหุ้นกู้ไม่ได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยจูงใจ ระยะเวลาหุ้นกู้คร่าวๆ 3 ปี สำหรับรายละเอียดจริงๆที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม
“อมร ทรัพย์ทวีกุล” ย้ำว่า บริษัทได้มีการวางแผนการลงทุนในแต่ละปีเพื่อสร้างรายได้ที่แข็งแกร่ง และมีเงินสดเพียงพอในการใช้จ่ายตามแผน โดย D/E ของบริษัทอยู่ที่ 1.6 เท่า EA มีเครดิตเรตติ้ง BBB+ เป็นอินเวสเมนท์เกรด ซึ่งหมายความว่า EA ยังอยู่ฐานะทางการเงินที่ดี และแข็งแกร่ง ขณะที่สถาบันการเงินที่สนับสนุนบริษัทเหมือนเดิม
…………………………..
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย..“สัญญา สายัน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)