วันพฤหัสบดี, กันยายน 5, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSล้มกระดาน“3 ออฟชั่น”ขึ้นค่าเอฟที(FT) รอ“ออฟชั่น 4”มีแต่ลดกับลด-ช่วยปชช.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ล้มกระดาน“3 ออฟชั่น”ขึ้นค่าเอฟที(FT) รอ“ออฟชั่น 4”มีแต่ลดกับลด-ช่วยปชช.

เมื่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่อยากตกเป็นเป้า ระยะหลังมานี้เลยตั้งใจที่จะไม่เคาะค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) แต่เสนอเป็นออฟชั่น 3-4 ทางเลือก แล้วโยนทั้งก้อนไปรับฟังความเห็นประชาชน ค่าเอฟทีงวดใหม่ (ก.ย.ธ.ค.67) ก็เช่นกัน กกพ.เสนอปรับค่าเอฟทีออกเป็น 3 ออฟชั่น นำทั้ง 3 ทางไปรับฟังความเห็นระหว่าง 12-26 ก.ค.67

ออฟชั่น 1 ปรับขึ้นค่าเอฟทีเท่ากับ 2.2271 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บจากประชาชนเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย

ออฟชั่น 2 ปรับเพิ่มค่าเอฟทีเท่ากับ 1.1378 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟปรับเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย

ออฟชั่น 3 ปรับเพิ่มค่าเอฟที 0.8655 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย จากค่าเอฟทีในงวดนี้ (พ.ค.-ส.ค.67) ที่อยู่ในระดับ 0.3972 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรานี้เป็นการตรึงค่าไฟให้เท่ากับงวดเดือนม.ค.-เม.ย.67

แต่แค่ประกาศ ไม่ต้องรอรับฟังความเห็นจบ ก็เต็มไปด้วยเสียงร้องระงม เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ ไม่เอื้อต่อการขึ้นค่าสาธารณูปโภคสาธารณูปการใดๆ ภาคการเมืองหรือจะอยู่เฉยได้

สุดท้าย กระทรวงพลังงาน ก็ต้อง เคาะออฟชั่นที่ 4 หาทางปรับลดค่าเอฟทีตามที่ “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ต้องออกมาเบรกกระแสว่า “กระทรวงพลังงานจะบริหารจัดการ ประสานทุกภาคส่วน และหารือกับ กกพ.พิจารณาปรับลดค่าเอฟที”

ก่อนหน้านี้สาเหตุหลักๆ ที่ กกพ.บอกว่าต้องปรับขึ้นค่าเอฟที เพราะมุ่งไปที่การลดภาระต้นทุนคงค้าง (Accumulate Factor : AF) หรือส่วนต่างระหว่างค่าเอฟทีที่เกิดขึ้นจริง กับค่าเอฟทีเรียกเก็บสะสมของงวดที่ผ่านมา จากการตรึงค่าไฟฟ้าที่หน่วยงานของรัฐที่กำลังแบกหลังแอ่นอยู่ ในส่วนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 98,495 ล้านบาท (สะสมตั้งแต่ ก.ย.64-เม.ย.67) คิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย และจากมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซฯที่เรียกเก็บเดือนก.ย.-ธ.ค.66 ตามมติครม.วันที่ 18 ก.ย.66 (AF GAS) จำนวน 15,083.79 ล้านบาท คิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย รวมเบ็ดเสร็จภาระการตรึงค่าเอฟทีจนถึงบัดนี้รวม 188.41 สตางค์ต่อหน่วย

บวกกับ 3 สาเหตุ คือ 1.แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงจากงวด พ.ค.-ส.ค.67 จาก 1.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 2.การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศและต่างประเทศ และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแม่เมาะ ซึ่งมีต้นทุนราคาถูกมีความพร้อมในการผลิตลดลง และ 3.สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) ตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า 3.2 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 10.38 มาอยู่ที่ 13.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จากความต้องการใช้ก๊าซฯในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวในปลายปี เหล่านี้ส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น

แต่หากดูตัวเลขและคัดแยกเฉพาะประมาณการณ์ต้นทุนจริงๆประจำงวด ก.ย.-ธ.ค.67 (Fuel Adjustment Cost : FAC) ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากฐาน (ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงของกฟผ. ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ค่าซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ) อยู่ที่ 34.30 สตางค์ต่อหน่วย หากรวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บปรับขึ้นที่ 4.12 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

ดังนั้นหากตรึงค่าเอฟทีงวดส.ค.-ธ.ค.67 ไว้ที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟเรียกเก็บจากประชาชนเท่างวดก่อน หรือ 4.18 บาทต่อหน่วย ก็ยังมีส่วนต่างสามารถนำไปลดภาระได้บางส่วน รอเวลาที่ค่าเชื้อเพลิงถูกลง แล้วค่อยทยอยเรียกคืนต้นทุนคงค้าง หรือจะประกาศลดเอฟทีสัก 5-6 สตางค์ ให้เป็นไปตามต้นทุนประจำงวด ทำให้ค่าไฟอยู่ที่ 4.12 บาท เป็นออฟชั่น 4 ที่ดีกว่าไหม เพื่อช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ความตึงเครียดของประชาชนจากค่าครองชีพสูงรายได้ไม่พอรายจ่าย

เอาเข้าจริงแล้ว ที่ผ่านมาก็มีการเก็บคืน AF ไปบ้างแล้ว อย่างค่าเอฟทีเดือนม.ค.-เม.ย.67 FAC อยู่ที่ 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และ 34.30 สตางค์ต่อหน่วย แต่เรียกเก็บจากค่าเอฟทีจริงๆ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสองงวดติด สามารถลดภาระค่า AF งวดม.ค.-เม.ย.67 ไป 1.82 สตางค์หน่วย คิดเป็น 1,194 ล้านบาท งวดพ.ค.-ส.ค.67 ได้ไป 20.51 สตางค์ต่อหน่วยคิดเป็นหลักหลายพันล้านบาท กำลังรอตัวเลขเป็นทางการท้ายงวดจริงๆว่าเรียกเก็บได้เท่าไหร่ก็เรียกว่าเก็บคืนได้น้อยนิดเมื่อเทียบกับภาระหลักแสนล้านบาทที่ตรึงกันไว้

(จริงๆงวด ม.ค.-เม.ย.67 FAC ต้องอยู่ที่ 40.22 สตางค์ แต่มีส่วนลดจากการเรียกเก็บค่า SV (Settlement Value) หรือ ส่วนต่างราคา Energy Pool กับ Pool Gas 1,520.96 ล้านบาท คิดเป็น 2.32 สตางค์ทำให้ FAC ลดจาก 40.22 สตางค์เหลือ 37.9 สตางค์ต่อหน่วย)

แม้การเรียกว่า เก็บคืนได้น้อยนิด เมื่อเทียบกับภาระหลักแสนล้านบาทที่ตรึงกันไว้ แล้วตรึงไปก็มีแต่คนบาดเจ็บไม่ใครก็ใคร สุดท้ายก็ต้องทยอยคืนจากค่าเอฟทีอยู่ดี ประชาชนก็ต้องรับอยู่ดีในอนาคต เพราะค่าพลังงานมีแต่แพงกับแพง

แต่หากดึงดันไปเลือกออฟชั่นใดออฟชั่นหนึ่งใน 3 ออฟชั่นในตอนนี้ เพื่อลดภาระ AF งวดเดียวเลย 98,495 ล้านบาทสำหรับออฟชั่น 1, ลดภาระ AF เหลือ 65,663 ล้านบาทสำหรับออฟชั่น 2, ลดภาระ AF เหลือ 82,079 ล้านบาทสำหรับออฟชั่น 3 คำตอบที่จะตามมา คือ การซ้ำเติมความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพรรคที่ดูแลพลังงานที่ต้องโดนเต็มๆ

บัดนี้ก็เลยต้องเลือกออฟชั่นที่ไม่มีในออฟชั่น คือ ทำยังไงก็ได้….ไปลดค่าเอฟที!

……………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย “สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img