วันจันทร์, กันยายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSปรับชุดความเชื่อใหม่‘เปิดแอร์ 26 องศา’ พ่วงตั้งอุปกรณ์เสริม-ประหยัดไฟได้ 15%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปรับชุดความเชื่อใหม่‘เปิดแอร์ 26 องศา’ พ่วงตั้งอุปกรณ์เสริม-ประหยัดไฟได้ 15%

“ค่าไฟฟ้า” มีแต่พุ่งกับพุ่งขนาดนี้ ประชาชนต้องหาทางเอาตัวรอดเป็นธรรมดา จะไม่ติดแอร์บางพื้นที่ ก็เห็นจะยากแล้ว โดยเฉพาะ “คนเมือง” ที่มีแต่ร้อนกับร้อน จากตึกรามบ้านช่องล้อมรอบทิศ แถมฝุ่นเพียบ แต่จะทำยังไงที่จะลดค่าไฟได้

เรื่องรณรงค์เปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียสก็ทำกันมานาน เอาจริงๆ อาจไม่ได้ช่วยลดค่าไฟกันเท่าไหร่ ก็เลยมีความพยายามที่จะหาตัวเลขกันใหม่ที่ประหยัดได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกและต้องมีอุปกรณ์ประกอบอะไร มาช่วยให้หน้าบิลค่าไฟลดไปเลย 10-15% ต่อเดือน

ตัวเลขใหม่ที่พูดถึงคือ การเปิดแอร์ 26 องศา และมีการระบายอากาศมาช่วย แต่เพื่อเอากันให้ชัดว่า ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 26 องศา ประหยัดได้เท่าไหร่ ลดคาร์บอนได้เท่าไหร่ ต้องติดอุปกรณ์อะไรเพิ่ม ช่วยดึงให้ครัวเรือนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังให้สังคมไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Net Zero Society) ได้เร็วขึ้น

ก็เลยมีการศึกษาวิจัยขึ้น ภายใต้โครงการทดลองระบบ Home IoT เพื่อทดสอบ “สภาวะน่าสบายและการประหยัดพลังงาน” ในโครงการที่อยู่อาศัย โดยความร่วมมือครั้งใหญ่ ระหว่าง บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น มี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานเข้ามาสนับสนุนด้านข้อมูล เพื่อเตรียมผลักดันแนวคิดสู่นโยบายบ้านประหยัดพลังงานในอนาคต

การศึกษาเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 สร้างโมเดลกันเล็กๆ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำลองบรรยากาศที่อยู่อาศัยในสภาวะน่าสบายจริงๆ ที่เหมาะกับประเทศไทย และทำการเก็บข้อมูล ก่อนจะนำไปสู่ การทดลองกับบ้านจริงหลังแรก ภายในบ้านตัวอย่างของ โครงการเสนา แกรนด์โฮม บางนา กม.29 ร่วมกับ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

ปีนี้เดินหน้าต่อมา ถึงขั้นตอนการยกระดับงานวิจัยไปสู่บ้านอยู่อาศัยจริงจัง ขนาดบ้านเรือนเฉลี่ยของคนไทยทั่วไป 100-300 ตรม. ร่วมมือกับ 3 ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เสนาฯ, บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) รวมถึง บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด จำนวน 12 หลังในกรุงเทพและปริมณฑล

“ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร” อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากสมมติฐานที่ว่า การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา อาจไม่ใช่วิธีการประหยัดพลังงานที่ดีที่สุดอีกต่อไปแล้ว และไม่ใช่อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไทย จึงทำการทดลองหา ค่า Predicted Mean Vote (PMV) หรือ สภาวะน่าสบาย ของคนไทยเมื่อปี 2565 ผ่านโมเดลที่อยู่อาศัยแบบจำลอง ZEN Model ที่มีการเขียนแบบบ้านโดยใช้ระบบ BIM (Building Information Modeling) โดยระบบต่างๆ ภายในบ้านถูกควบคุมด้วยระบบดิจิทัล Home IoT (the Internet of Things) เพื่อให้อุณหภูมิห้องปรับโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะประมวลทุกอิริยาบถเข้าไปด้วย เพราะการอยู่ในบ้านไม่ได้หมายถึงเราอยู่นิ่งๆ ซึ่งงานออกแบบการทดลองเพื่อหา PMV ในกลุ่มคนไทย ถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่จุฬาฯ ร่วมกับทีมวิจัยของพานาโซนิค พยายามสรุปขึ้นมา เพื่อนำมาวางเงื่อนไขทดลองในพื้นที่ที่พักอาศัยในระดับต่าง ๆ และพิสูจน์การประหยัดพลังงานในสภาวะน่าสบายจริง 

ปัจจุบันสามารถประมวลผลจากการทดลอง PMV ขั้นต้นได้ว่า เราสามารถจัดการพื้นที่ภายในบ้านให้ผู้พักอาศัยยังคงรู้สึกสบาย โดยที่ประหยัดค่าไฟได้จริงไปพร้อมกัน โดยประยุกต์อุปกรณ์ IoT ผ่าน Platform BIM และ Digital Twin เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามเงื่อนไขที่สามารถรักษาสภาวะดังกล่าวได้

การจัดที่อยู่อาศัยอย่างไรที่จะอยู่สบาย ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ อธิบายง่ายๆ ว่า ต้องประกอบกัน ทั้งการตั้งอุณหภูมิแอร์ไว้ที่ 26 องศา พร้อมกับติดตั้งอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ พัดลม สวิตซ์ และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งทํางานผ่านอุปกรณ์และระบบ Comfort Air and Home IoT ซึ่งในงานวิจัยเราทำร่วมกับพานาโซนิค

โดยตลอดระยะเวลา 1 ปี เราจะสังเกตประสิทธิภาพในแต่ละฤดูของประเทศไทย มีการวัดค่าและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประสิทธิภาพการประหยัดงานของระบบ ผ่านการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความเร็วลม เป็นต้น และแนวทางที่เราศึกษาจะทำคู่กันไปในบริบทของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย เพราะที่สุดแล้ว ปัญหานี้คงไม่หมดไปง่ายๆ ซึ่งจะเริ่มเกิดขึ้นรุนแรงประจำทุกปีช่วงเดือนธ.ค.ถึงมี.ค.ซึ่งหลายพื้นที่ แม้แต่ในกรุงเทพฯเองก็ได้รับผลกระทบ ทำให้เราต้องศึกษาการออกแบบบ้านที่ต้องปิดและอาศัยแอร์ระบายอากาศให้ทั้งอยู่สบาย ลดปัญหาต่อสุขภาพจากฝุ่นในช่วง 3 เดือน ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น

“เบื้องต้นเลยเราควรเปิดแอร์กันที่ 26 องศา ความเร็วลมที่ 0.2 เมตรต่อวินาที และติดพัดลมปรับอากาศ (Air Circulator) เพื่อทำให้ห้อง หรือพื้นที่โดยรอบเย็นลง ทำให้กระจายความเย็นได้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่พัดลมทั่วไปนะ เพราะพัดลมจะกระจายความเย็นได้ไม่ดีเท่า Circulator วิธีการเหล่านี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดได้จริง โดยทุกๆ 1 องศาแอร์ ที่เราปรับเพิ่มขึ้นช่วยลดค่าไฟได้ 10%” ผศ.ดร.เทิดศักดิ์ ระบุ

วัฒนพงษ์ คุโรวาท

“วัฒนพงษ์ คุโรวาท” อธิบดี พพ. มองว่า เป็นโครงการที่มาถูกที่ถูกเวลา ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เพราะค่าไฟมีแนวโน้มสูงขึ้น สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมการใช้ IoT มาช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานในภาคครัวเรือน

ทั้งนี้การรณรงค์ประหยัดพลังงานของกระทรวงพลังงานในระยะหลังตาม หลัก 5 ป. หนึ่งในนั้น เราก็รณรงค์ให้ ปรับอุณหภูมิแอร์ให้อยู่ที่ 26 องศา ช่วยให้ประหยัดไฟได้ 10% อยู่แล้ว นอกเหนือจาก ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น ปลดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และ ปลูกต้นไม้ สร้างร่มเงา รักษาสิ่งแวดล้อม

“แต่การมีงานวิจัยมารองรับชัดเจน จะทำให้เราสามารถออกมาตรการสนับสนุนได้ชัดเจนขึ้นเช่นกัน อาทิ โครงการสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ส่วนผู้ประกอบการเราก็อาจสนับสนุนในเรื่องของสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ รวมถึงปรับปรุงแบบบ้านประหยัดพลังงานหลังจากไม่ได้ปรับปรุงมานานให้สอดคล้องกับยุคสมัย” วัฒนพงษ์ กล่าว

“สุนทร สถาพร” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานเจ้าหน้าที่บรหาร บริษัท สถาพร ประมวลภาพรวมถึงการประหยัดพลังงานในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาว่า เวอร์ชั่นการรณรงค์ประหยัดพลังงานในบ้านที่อยู่อาศัย เริ่มจริงจังตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมา เน้นเรื่องปรับอุณหภูมิแอร์ 25 องคามาตลอด จนกลายเป็นค่านิยมการเปลี่ยนไปสู่ 26 องศาต้องใช้เวลาและการกระจายองค์ความรู้อย่างทั่วถึง และต่อไปต้องมีตัวเลขเทียบด้วยว่าลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าใหร่

ใน ยุคแรก ของการรณรงค์ประหยัดพลังานในบ้านอยู่อาศัยในปี 2547 เน้นเรื่องดีไซน์แมททีเรียล หรือการออกแบบอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน อาทิ ฉนวนกันความร้อน ทำให้บ้านเย็นลงได้ 1.5 องศา มาถึง เวอร์ชั่น 2 เริ่มปี 2557 ใช้สภาพธรรมชาติมาช่วย โดยเฉพาะเรื่องทิศทางลม เพื่อทำให้บ้านเย็น เช่น มีชายคาบ้านใหญ่ยื่นยาวออกมา ทำให้ดวงอาทิตย์ส่องเข้าไปในตัวบ้านได้ช้าลง หรือการเว้นพื้นที่โล่งระหว่างบ้านให้ลมผ่าน ที่เรียกว่าระเบียงลม เป็นต้น

มาถึงเวอร์ชั่นที่ 3 ในปี 2567 เป็นยุค IoT เข้ามาซึ่งยุคนี้จะไม่ใช้ความรู้สึกว่าเย็นหรือไม่เย็น แต่จะมีการพิสูจน์ออกมาตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อหาจุดที่สมดุลให้บ้านอยู่สบาย และประหยัดไฟฟ้าด้วย ซึ่งต้องมี 3 ส่วนประกอบกัน คือ อุณหภูมิแอร์ แรงลม แล้วก็ความชื้น

ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า บ้านเรือนเปลี่ยนไปแล้ว ความร้อนที่สูงขึ้นกว่าเดิมในช่วงหน้าร้อน และฝุ่น ทำให้ครัวเรือนต่างใช้แอร์กันเป็นจำนวนมาก ความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะหน้าร้อนก็พุ่ง เราจึงต้องช่วยกันลดความต้องการใช้ไฟฟ้าลง ดังนั้นโครงการศึกษานี้จะนำไปสู่การณรงค์ เพื่อทำให้บ้านประหยัดค่าไฟได้จริง 10-15% ต่อเดือน จากค่าไฟเฉลี่ยของครัวเรือนไทย 1,500 บาทต่อเดือนสำหรับในเมือง และ 500 บาทต่อเดือนสำหรับในต่างจังหวัด ช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน

“สิ่งที่เราต้องทำหลังผลการศึกษาจบลงและมีตัวเลขออกมาชัดเจน จะต้องกระจายองค์ความรู้ใหม่นี้ไปให้ทั่วถึงกับผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางทั่วประเทศ ขณะเดียวกันรัฐต้องออกมาตรการสนับสนุนรองรับพร้อมกันไป เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำสำหรับบ้านประหยัดพลังงาน รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อให้ราคาบ้านประหยัดพลังงานแบบใหม่ไม่สูงเกินไป ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้” สุนทร อธิบาย

“พงษ์วุฒิ แสงประเสริฐ” ผู้อำนวยการฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร บริษัท พานาโซนิค เจ้าภาพโครงการฯ บอกว่าหลังผลการศึกษาจบลง จะนำไปหารือกับหน่วยงานรัฐ อาทิ พพ. เพื่อออกมาตรการมาสนับสนุนต่อไป และอาจมีการศึกษาในเฟสต่อๆ ไป เพื่อหาสภาวะน่าสบายและประหยัดพลังงานในพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่อุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน

…ยุคที่ค่าไฟสูงเอาสูงเอาอย่างนี้ แถมเศรษฐกิจก็ฝืดเคือง รายได้ไม่พอรายจ่าย หลายบ้านต่างต้องการลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้กันทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นประชาชนคงไม่แห่เข้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เพื่อผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์บนหลังคาเพื่อขายไฟระยะยาว 10 ปี (2564-2573) ให้กับการไฟฟ้าในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย จนล้นโควต้า หรือมากกว่า 90 เมกะวัตต์ทั้งที่โครงการนี้เกิดมาตั้งแต่ปี 2562 แต่เพิ่งมาบูมเอาเมื่อกลางๆ ปีนี้เอง หลังสัญญาณค่าไฟฟ้าแนวโน้มสูงขึ้น

ดังนั้นจึงอยู่ที่การออกแบบมาตรการสนับสนุนที่จูงใจ และจังหวะเวลาที่ดี เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการประหยัดพลังงานตลอดเวลา อย่าส่งสัญญาณผิดเป็นอันเด็ดขาดว่า “ราคาพลังงานบ้านเราต้องถูกตลอดกาล”

…………………………………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย “สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img