วันศุกร์, กันยายน 13, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“ปตท.”ยุค“คงกระพัน”สกรีนการลงทุน! รุก‘ไฮโดรคาร์บอน-ลดก๊าซเรือนกระจก’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ปตท.”ยุค“คงกระพัน”สกรีนการลงทุน! รุก‘ไฮโดรคาร์บอน-ลดก๊าซเรือนกระจก’

“นักลงทุนต้องการให้ ปตท.มีความชัดเจน ว่าเราจะไปทางไหน” ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขึ้นต้นอย่างนั้น บวกด้วยสไตล์ซีอีโอคนใหม่ ที่มีมุมมองแตกต่างไป เป็นที่มาของ การวางแผนกลยุทธ์การดำเนินงานของกลุ่มปตท.ใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” (TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD)

โดย ปตท.จะบูรณาการเรื่องความยั่งยืน ให้เข้าไปอยู่ในธุรกิจ ทั้ง Non-Hydrocarbon จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนกำไร 8% และอีก 92% เป็นธุรกิจ Hydrocarbon ส่วนเป้าหมายจะขยับไปเท่าไหร่ปตท.กำลังประเมิน และจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

การเพิ่มน้ำหนักให้กับธุรกิจ Hydrocarbon ไมว่าจะเป็นเรื่องการผลิตและสำรวจ แก๊ส น้ำมัน โรงกลั่น หรือปิโตรเคมีต่างๆ เราจะทำควบคู่ไปกับธุรกิจไฮโดรเจน และการดักจับ-กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS) ซึ่งจะทำทั้งสองเรื่องไปพร้อมกัน และช่วยกันทำกับบริษัทในกลุ่ม เลือกเทคโนโลยีที่ทำให้มีต้นทุนแข่งขันได้

“ธุรกิจไฮโดรคาร์บอน เป็นธุรกิจหลักของ ปตท.ที่ทำได้ดี แต่จะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะเราต้องปรับตัวพร้อมรับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โครงการ CCS หาก ปตท.ทำไม่สำเร็จ ประเทศไทยก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้” ดร.คงกระพัน กล่าวย้ำ

สำหรับไฮโดรเจนนั้น ต้นทุนการผลิตจะลดลงไปเรื่อยๆ แต่ ปตท.ไม่ได้มองถึงการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มองไปที่สเกลไฮโดรเจนที่ใช้ในอุตสาหกรรม ไปลงทุนกับพันธมิตรที่เป็นเจ้าของแหล่งผลิตในต่างประเทศ และเทรดดิ้งในตลาดที่มีความต้องการ ส่วนในประเทศไทยจะเป็นการผลิตและใช้ในประเทศ ซึ่งตลาดจะเติบโตไปตามนโยบายของรัฐที่กำหนดในแผนบริหารจัดการน้ำมันของประเทศ (Oil Plan) เช่นเดียวกัน ปตท.จะหาพันธมิตรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้ต้นทุนแข่งขันได้

โครงการ CCS ปตท.นอกจากจะรวมพลังดึงกระบวนการผลิตของกลุ่มปตท.เข้าสู่ CCS แล้ว จะดึงอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย ซึ่ง “ดร.คงกระพัน” มองว่า มีเทคโนโลยีที่ทำได้อยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องปล่อยออกมาก่อนและดักจับภายหลัง แต่มีเทคโนโลยีที่สามารถดักจับในกระบวนการผลิตได้เลย แต่ CCS ต้องมีสเกลใหญ่พอ ซึ่งขณะนี้ ปตท.สผ.กำลังทำโครงการนำร่องอยู่

ทั้งนี้ ธุรกิจ Hydrocarbon ต้องปรับใน ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น (Upstream) ต้องเร่งหาแหล่งสำรวจและผลิตที่เหมาะสม มั่นคง ไม่ติดขัด มีต้นทุนที่แข่งขันได้ “ดร.คงกระพัน” ระบุว่า ปัจจุบันต้นทุนของ บริษัท ปตท.สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีต้นทุนเฉลี่ย 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมัน 70-80 ดอลลาร์ ถือว่าไปได้ดี

ส่วน การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) ปตท.อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อทำให้เป็นรูปธรรม เพราะเป็นพื้นที่ที่เชื่อว่ามีศักยภาพทั้งก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งทั้งสองประเทศร่วมกันพัฒนาได้

ในการหาแหล่งพลังงานนอกประเทศ นั้น “ดร.คงกระพัน” ให้มองทั้ง “กลุ่มปตท.” ที่จะต้องไปด้วยกัน และมองเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศคู่กันไปด้วย ในกรณีก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ไทยต้องพึ่งพามากขึ้นตามลำดับเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากก๊าซฯที่เคยป้อนโรงไฟฟ้าทั้งในอ่าวไทย และเมียนมาร์เริ่มลดน้อยลง ดังนั้นเขาจึงมองครบวงจรทั้งการหาแหล่งที่แน่นอนมั่นคง ค้าขายให้ตลาดต่างประเทศ และนำเข้ามาใช้ในประเทศด้วย โดยให้ความสำคัญกับทำงานร่วมกับพันธมิตร เขายกตัวอย่างเช่น การร่วมลงทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สัดส่วน 50:50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี เพื่อเป็นทั้งคลังจัดเก็บและแปรสภาพแอลเอ็นจีรองรับความต้องการในอนาคต

มาถึง “ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า” บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นหัวหอก จะมุ่งลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonize) โดยลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และก๊าซฯ แล้วไปที่การผลิตไฟฟ้าสีเขียวให้มากขึ้น รวมถึงการต่อยอดธุรกิจนำไฮโดรเจนที่ ปตท.ผลิตมาใช้ด้วย ซึ่งการที่ “GPSC” ผลิตไฟฟ้าสีเขียวป้อนให้กับกลุ่ม ปตท.นั้น หมายถึงจะทำให้ทั้งกลุ่มปตท.กรีน (Green) ไปด้วย

สำหรับ ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย (Downstream) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ “ดร.คงกระพัน” มองว่า ต้องหาพันธมิตรมารวมลงทุน เพื่อทำให้แข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกันปตท.ก็ตัวเบา โดยพุ่งเป้าไปที่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำ กัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่ง ปตท.ถือหุ้นอยู่ 45.05%, 45.03% และ 45.18% ตามลำดับ เพราะบริษัทเหล่านี้มี Asset ที่ดี แต่พันธมิตรที่จะดึงมาลงทุน จะแตกต่างกันออกไป

ในส่วนของ IRPC มีข้อดีคือขนาดบริษัทไม่ใหญ่มาก แต่มีทรัพย์สินที่ดินจำนวนมาก ก็มีคนสนใจที่จะมาเป็นพันธมิตรแบบหนึ่ง ขณะที่ ไทยออยล์ เป็นโรงกลั่นขนาดใหญ่ พันธมิตรก็จะเป็นนักลงทุนที่สนใจที่เข้ามาทำตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วน GC มีการลงทุนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษทั่วโลก พันธมิตรก็จะเป็นนักลงทุนที่ต้องการลงทุนทั่วโลก เป็นต้น

“ดร.คงกระพัน” ยกตัวอย่างว่า อย่างจีนโดนกดดันจากสหรัฐและยุโรป เขาก็ต้องการหาแหล่งลงทุนนอกประเทศ

หลายคนกังวลว่า การหาพันธมิตรจะหมายถึง ปตท.ขายกิจการนั้นออกหรือไม่ “ดร.คงกระพัน” รีบเบรคว่า ไม่ได้แปลว่าเป็นศูนย์ ยังไง ปตท.ก็ต้องถือหุ้นมากพอ ที่จะยังทำให้บริษัทในกลุ่มเป็นเรือธง (Flagship) ในแต่ละด้านต่อไป 

ส่วน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นักลงทุนมองว่า ลงทุนกระจัดกระจาย ดังนั้น OR ต้องมีโมเมนตัม ต้องเป็น Mobility Partner ให้กับคนไทย ไม่ว่าอนาคตพลังงานจะเป็นแบบไหนก็ตาม จะเป็นน้ำมัน ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือไฮโดรเจน โดยที่ OR ไม่ต้องลงทุนมากมาย เพียงใช้ “อีโคซิสเต็ม” ที่มีอยู่ แล้วปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการ ในระยะไม่ไกลนี้ OR ต้องขยายสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้อีวี

ส่วน ธุรกิจ Life Science ที่มี บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นหัวหอกนั้น “ดร.คงกระพัน” บอกว่า “ปตท.เป็นบริษัทน้ำมันจะให้มาตัดสินใจเรื่องการลงทุนในธุรกิจยา ก็ไม่น่าจะทำได้เร็ว และก็ไม่น่าจะทําได้ดี ต้องมีการบริหารจัดการที่แตกต่างออกไป” จึงควร Spin-Off บริษัท อินโนบิก และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอนาคต เพื่อให้ “อินโนบิก” ออกไปหาพันธมิตรและหาทุนเอง โดย ปตท.ถือเป็นนักลงทุนรายหนึ่งในอินโนบิก

“เราต้องสกรีน อะไรสู้ไม่ได้ ต้องถอย ทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเลิก ธุรกิจไหนดีลุยต่อเลย แล้วก็หาพันธมิตร ร่วมลงทุน ซึ่งปิโตรเคมีและโรงกลั่นต้องหาพันธมิตรเข้ามา เพื่อให้เรามีเงินไปทำอย่างอื่น บริษัทก็แข็งแกร่งขึ้นด้วย บางธุรกิจอาจจะอยู่มานาน อาจจะแข็งแรงน้อยลง เราก็ต้องหาพันธมิตร” ดร.คงกระพัน กล่าวย้ำ

สำคัญคือ ทุกอย่างต้องไปที่การลดคาร์บอน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่จากแรงกดดันทางสังคมอย่างเดียว แต่เป็น Carbon Tax เป็นเรื่องการกีดกันทางการค้า 

“ดร.คงกระพัน” ย้ำว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อกำหนดงบลงทุน 1 ปี (ปี 2568) และแผนลงทุน 5 ปี (2568-2572) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ถึงตอนนั้น เราจะบอกได้ว่า เราต้องลงทุนเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เศรษฐกิจขาลง การลงทุนธุรกิจอะไรก็ตามต้องมีความระมัดระวัง ไม่ต้องใหญ่แต่มีความสำคัญ

“เราจะทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญเรื่อง Operational Excellence หรือ OpEx อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งกลุ่ม เรามีสภาพคล่องอยู่แสนล้านบาท เราจะลงทุนในธุรกิจที่ถนัด ดีกับปตท.และประเทศคู่กัน” ดร.คงกระพัน กล่าวให้ความมั่นใจ

………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย….“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img