วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘Ecosystem’ ฉบับ ‘OR’ ชง ‘EV Hub’ ดัน‘OR Space’พื้นที่ไร้นํ้ามันครบวงจร
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘Ecosystem’ ฉบับ ‘OR’ ชง ‘EV Hub’ ดัน‘OR Space’พื้นที่ไร้นํ้ามันครบวงจร

“ตอนนี้ OR ไม่ได้พูดถึงการลงทุนในธุรกิจน้ำมันมากเท่าไรแล้ว แต่เราพูดถึงการทำสถานีบริการน้ำมันให้เป็น OR space community ร่วมกับการทำ OR mobility solution” ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) กล่าวไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ก็ตรงกับที่ “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศกลยุทธ์เมื่อไม่นานมานี้ ที่อยากจะให้ OR เป็น Mobility Partner ให้กับคนไทย ไม่ว่าอนาคตพลังงานจะเป็นแบบไหนก็ตาม จะเป็นน้ำมัน ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือไฮโดรเจน

“ไฮโดรเจน” ยังต้องศึกษากันอีกพักใหญ่ แต่ในระยะไม่ไกลนี้ OR ขยับไปมากแล้วในการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า (EV Charging Station) ตัวเลขล่าสุด OR มีการติดตั้งสถานีชาร์จแบบชาร์จเร็ว (Quick Charge) ทั่วประเทศ 77 จังหวัด กว่า 950 สถานี ราวๆ 1,800 หัวชาร์จ DC (ชาร์จเร็ว) (ข้อมูลอ้างอิง 31 ส.ค.67) โดย OR มีแผนกำลังปั้นพื้นที่แถวรามคำแหงให้เป็น OR Space Community แห่งแรก พื้นที่ที่มีแต่สถานีชาร์จ EV อย่างเดียวเลย ดังนั้นจะเรียก “ปั๊ม” ก็อาจจะไม่ใช่แล้ว และ ผนวกรวมการใช้พลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เข้าไปด้วย คาดว่า ปลายปีคงจะได้เปิดตัวกัน

นอกจากนี้แล้ว EV มีแผนเดินหน้ารุกขยายสถานีชาร์จรูปแบบใหม่ Charging Hub 10 สาขา ภายในปี 2567 สถานีชาร์จแห่งนี้ สามารถรองรับการชาร์จพร้อมกันสูงสุดถึง 8 หัวชาร์จ ประสิทธิภาพในการจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงกว่าสถานีบริการใน PTT Station ทั่วไป (จาก 120 kW เป็น 180 kW) ยกระดับความมั่นใจในการเดินทางของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าไปทุกภาคทั่วประเทศ ทั้งขึ้นเหนือจะมีที่กำแพงเพชร พิจิตร ลงใต้จะมีที่ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตะวันตกจะมีไปที่ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ตะวันออกไปที่ชลบุรี (พัทยา) อีสานไปที่สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น

ลักษณะ OR Space Community จะเป็นอย่างไร ก็ตามสไตล์ OR ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมัน หรือสถานีชาร์จ EV ก็ต้องมีร้านรวงมากมายไว้บริการครบครัน ซึ่งสีสันความหลากหลายของร้านค้า ถือเป็นแรงดึงดูดของ OR ในการเรียกลูกค้ามาใช้บริการตลอดมา “ปั๊ม OR” ก็เลยตอบโจทย์นักเดินทางรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ รวมถึง คนทำงานอิสระ ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ “องค์กร”

อย่างล่าสุด Ecosystem ของ OR ที่หลากหลาย ทำให้องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องการปรับภาพลักษณ์ต้องเรียกใช้บริการ โดย OR กำลังทำงานกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด พัฒนาโครงการศูนย์บริการธุรกิจไปรษณีย์ บริเวณพื้นที่สำนักงานใหญ่ของไปรษณีย์ไทย ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งจะมีทั้งการให้บริการ EV Charger การติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาเกาะจ่าย อาคารไปรษณีย์ และอาคารร้านค้าต่างๆ

ดูเทรนด์แล้ว แม้จะมีความต้องการสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แต่ก็คงยังไม่เห็นการลดลงของหัวจ่ายน้ำมันแบบฮวบฮาบ OR ต้องตามติดใกล้ชิดถึงยอดการใช้ EV เพื่อวิเคราะห์จุดพอดี ก็ตอนนี้ยังคงมีรถใช้น้ำมันเบนซินดีเซลวิ่งอยู่เป็นส่วนใหญ่กว่า 40 ล้านคัน จากทั้งหมด 44.1 ล้านคัน มีรถไฟฟ้าวิ่งอยู่ 99,742 คัน ไฮบริด 376,116 คัน (สถิติกรมการขนส่งทางบก 30 ก.ย.66) ดังนั้นการลงทุนของ OR จึงต้องเชี่ยวพอที่จะมีจังหวะรุกและถอยที่เหมาะสม

ส่วนอนาคตแน่ๆ ที่ยอดการใช้น้ำมันในประเทศลดลง โครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปแล้ว ก็ต้องมีที่ไป โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปจาก 6 โรงกลั่น กำลังผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นของกลุ่มปตท.เสีย 5 โรงจะไปไหน จะลดกำลังการผลิตคงไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มตามการรอบการปรับปรุงประสิทธิภาพ

การเอาน้ำมันไปขายนอกประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจของ OR แต่ไม่หมู เพราะจะไปไกลมาก ก็อาจจะติดขัดในหลายเรื่อง และหลายประเทศก็มีการจับจองโดยนักลงทุนชาติอื่นเกือบหมดแล้ว หรือไม่เขาก็จำกัดการลงทุนค้าปลีกน้ำมันของต่างชาติ เพื่อสงวนไว้ให้กับนักลงทุนในประเทศอย่างเวียดนาม

ยุคสมัยนี้ “กัมพูชา” ถือเป็นมิตรภาพสวยงามสำหรับไทย เป็นอีก เป้าหมายของ OR มากกว่าที่อื่น โดยวางไว้เป็น “บ้านหลังที่ 2” เลยทีเดียว มีการวิเคราะห์ว่า เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการนำเข้าน้ำมันจากไทย เพราะกำลังเติบโต ขณะเดียวกันก็ไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน ส่วนที่ OR ไปนำร่องไว้แล้ว จากปั๊มน้ำมัน 170 แห่ง Café Amazon 200 กว่าแห่ง ซึ่งพบว่า ไปได้สวย เพราะตลาดเหมือนไทยเลยที่ชื่นชอบปั๊มแบบ Mobility & Lifestyle

นอกจาก OR จะขยายปั๊มแล้ว ก็จะขยายฐานลูกค้าน้ำมันอุตสาหกรรมต่างๆ และน้ำมันเครื่องบิน JET A1 ด้วย เพราะกัมพูชากำลังจะมีท่าอากาศยานนานาชาติเตโช สนามบินนานาชาติแห่งใหม่เตรียมเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568 รองรับผู้โดยสารระยะแรกได้ 13 ล้านคนต่อปี และสูงสุด 50 ล้านคนต่อปีในอนาคตเลย ซึ่งปัจจุบัน OR เป็นเจ้าใหญ่ที่ป้อนน้ำมันเครื่องบิน JET A1 ไปยังกัมพูชา 50% ร่วมมือกับพนมเปญ เอวิเอชั่น ฟูเอล เซอร์วิส หลังมีสนามบินแห่งใหม่ความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินกัมพูชาจะเติบโตก้าวกระโดดแน่นอน ไม่นับรวมการค้าการลงทุนที่กำลังคึกคักหลังเปิดท่าเรืออเนกประสงค์กัมปอตไปเมื่อเดือนมิ.ย.67 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโลจิสติกส์และท่าเรือกัมปอต (Kampot Logistics and Port) ที่เมืองโบกอร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดกัมปอต

หลังจากนี้ OR คงบุกกัมพูชาอย่างเต็มที่ ไม่เฉพาะค้าปลีก แต่เป็นหลายธุรกิจ รวมถึงบิ๊กโปรเจคอย่างการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ไทยหมายมั่นที่จะได้ขยับเสียทีในยุคนี้

อย่างที่ “ดร.คงกระพัน” CEO ปตท. ได้ประกาศไว้ถึงประเด็นการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา หรือ โอซีเอ (OCA) เมื่อเร็วนี้ไว้ว่า “ปตท. ได้มีการหารือกับกระทรวงพลังงานในเรื่องนี้ โดย ปตท. มีความสนใจที่จะทำให้การลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากมีก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสทที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนวิธีการที่จะทำให้การลงทุนเกิดขึ้น ปตท.ต้องช่วยรัฐบาล ซึ่งการร่วมกันพัฒนาก็เคยมีการดำเนินการมาแล้วกับมาเลเซีย ซึ่งสามารถทำร่วมกันทำได้ ไม่ต้องแบ่งกันทำ นำทรัพยากรมาแบ่งกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ”

ส่วนประเทศอื่น อย่างที่บอกค้าปลีกน้ำมันอาจจะยาก ไม่ว่าจะเป็นสปป.ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน ที่ OR ไปชิมลางไว้แล้ว บางประเทศบอกได้ว่าเหนื่อย กลยุทธ์ของ OR ก็คงเล่นเบาๆ ไปก่อนรอจังหวะไป โดยเอาธุรกิจกาแฟ Café Amazon เป็นตัวนำ ซึ่ง Café Amazon ของ OR ซึ่งเป็นการขายแฟรนไชส์ ทำให้การขยายตัวไปได้เร็วคล่องตัว ในไตรมาสแรกของปี 67 Cafe Amazon มีสาขาในไทย 4,196 สาขา อยู่ในปั๊ม 2,248 สาขา และนอกปั๊ม 1,948 สาขา และมี Cafe Amazon ในต่างประเทศ จำนวน 25 สาขาแล้ว

คงต้องเฝ้ารอดูกันต่อไปกับทิศทางการดำเนินงานของ OR

……………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img