วันพุธ, กันยายน 18, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเคล็ดลับความสำเร็จ"OCA" ต้องไม่มี"Back Channel"
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เคล็ดลับความสำเร็จ”OCA” ต้องไม่มี”Back Channel”

แม้จะเห็นตรงกันว่า ศักยภาพทางปิโตรเลียมในพื้นที่แหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล บริเวณไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา (Overlapping Claimed Area : OCA) มีอยู่สูง ซึ่งสองประเทศก็ต้องการผลักดัน และเอาเข้าจริงทุกๆรัฐบาลของไทยก็ต้องการเดินหน้า แต่กลับไม่ก้าวหน้าเป็นปัญหายืดเยื้อมากว่า 50 ปี

มาถึงรัฐบาลนี้ หลายคนก็คาดหมายว่า จะเดินหน้าได้ ในช่วง “เศรษฐา ทวีสิน” แม้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงปีเดียว ก็ยังเริ่มขยับ โดย “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.พ.67

หากเอาทรัพยากรที่ควรพัฒนาและใช้ประโยชน์ร่วมกันของ 2 ประเทศมาคุยกัน เรื่องนี้ก็น่าจะทำได้สำเร็จ แต่จะสำเร็จด้วยวิธีการใด “ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และอีกหลายตำแหน่งในวงการพลังงาน เล่าว่า “ที่ผ่านมาศักยภาพในการพัฒนาปิโตรเลียมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ จะอยู่ใน แอ่งตะกอนปัตตานี หรือ Pattani Basin ซึ่งจะกินเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชาด้วย ดังนั้นในพื้นที่นี้ทั้งนักธรณีวิทยาและวิศวกรปิโตรเลียมต่างบอกตรงกันว่ามีโอกาสที่จะพบปิโตรเลียมได้ง่ายจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่บ่งชี้ว่าอยู่ในแอ่งตะกอนปัตตานีที่เดียวกับที่เคยพบก๊าซฯแหล่งเอราวัณ และแหล่งอื่นๆแต่เราก็บอกไม่ได้ว่าศักยภาพมีเท่าไหร่ เพราะบอกไปก็เป็นการคาดเดาทั้งสิ้น เพราะยังไม่มีการพัฒนา”

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ

แต่หากทั้งสองประเทศทำบรรลุข้อตกลง จะได้ประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ในส่วนของกัมพูชาก็จะได้นำก๊าซธรรมชาติขึ้นไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อพัฒนาประเทศ ในส่วนของไทยเองก็ถือว่าเรามีการสำรวจและขุดเจาะในอ่าวไทยอยู่แล้ว ถ้ามีการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ก็สามารถวางท่อก๊าซเข้าไปเชื่อมระยะทางไม่ถึง 50 กม. และนำขึ้นฝั่งไปใช้ได้เลย ทำให้เรามีก๊าซฯใช้ต่อไปได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 15 ปี

พื้นที่นี้จึงมีความสำคัญสำหรับไทยไม่น้อยในการช่วยชะลอสถานการณ์วิกฤติ จากการที่ปริมาณสำรองก๊าซฯของไทยลดลง “ดร.คุรุจิต” ระบุว่า “ไทยไม่มีการพบหรือผลิตแหล่งก๊าซฯใหม่มาตั้งแต่ปี 2548 ทำให้การการผลิตก๊าซฯจากแหล่งในประเทศลดลง กระทรวงพลังงานได้มีการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องนี้มาก่อนแล้ว ในเรื่องปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทย (Reserves) ณ สิ้นปี 2565 พบว่าปริมาณสำรองก๊าซฯที่เรามั่นใจ 90% (Proved,P1) คาดว่าจะมีใช้ได้เพียง 5.4 ปี ส่วนปริมาณสำรองก๊าซฯที่เรามั่นใจ 50% (Probable,P2) คาดว่าจะมีใช้ไปอีกแค่ 9.6 ปีเท่านั้น”

แหล่งเอราวัณ

ยกตัวอย่าง แหล่งเอราวัณ แหล่งก๊าซฯในทะเลอ่าวไทยที่ใหญ่ที่สุด และเป็นเส้นเลือดหลักในการผลิตก๊าซฯขึ้นมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศมีศักยภาพลดลงไปเรื่อยๆ จากที่เคยผลิตได้ 2,800 ล้านลบ.ฟุตต่อวันเหลือไม่ถึง 1,500 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ส่วนก๊าซฯที่เราต่อท่อมาจากพม่าก็ทยอยลดลงเช่นกัน

ทำให้เราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ราคาแพงมาใช้ผลิตไฟฟ้า เมื่อบวกกับสถานการณ์สู้รับรัสเซียยูเครนทำให้ LNG ราคาพุ่งสูง ส่งผลให้ส่วนต่างต้นทุนระหว่างการนำเข้า LNG กับก๊าซฯในอ่าวไทยมีมูลค่ากว่า 595,129 ล้านบาท เป็นที่มาให้ไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาทภายในปีเดียว สะท้อนถึงค่าเอฟทีสูงขึ้นมากกว่า 8 บาทต่อหน่วย เกิดภาระการตรึงค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระดับแสนล้านบาท

นอกจากนี้การที่กำลังผลิตก๊าซฯจากแหล่งในประเทศลดลง ยังส่งผลมากกว่านั้นทำให้เราจัดเก็บรายได้จากการผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นรายได้ประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อศักยภาพลดลงบริษัทผู้รับสัมปทานก็ชะลอการลงทุน ลดการจ้างงาน และถอนตัวไปลงทุนที่อื่น

ทางหนึ่งในการชะลอวิกฤติในเรื่องนี้คือ การหาแหล่งสำรองเพิ่มที่ใกล้ๆ บ้านเรา ดังนั้นการเจรจาหาข้อยุติในเขตไหล่ทวีปในทะเลบริเวณทับซ้อนไทยกัมพูชา จึงมีความสำคัญในการต่ออายุก๊าซฯในอ่าวไทย โดยเชื่อว่า หากสามารถพัฒนาแหล่งพื้นที่นี้ได้ ก็จะทำให้เราสามารถรักษาระดับการผลิตไว้ที่ 2,800 ล้านลบ.ฟุตต่อวันไปได้อีก 10-15 ปีเป็นอย่างน้อย

ขณะเดียวกันในด้านของคุณภาพแล้วก๊าซฯใน Pattani Basin ก็พิสูจน์แล้วเป็น ก๊าซเปียก (Wet Gas) หรือก๊าซฯที่มี “มีเทน” ในสัดส่วนน้อย แต่มี “อีเทน-โปรเพน-บิวเทน” ในสัดส่วนที่มาก รวมถึงมีส่วนผสมของก๊าซโซลีนธรรมชาติด้วย (Natural Gas Liquid : NGL) เท่ากับก๊าซฯที่ได้จากแอ่งตะกอนนี้มีส่วนประกอบไฮโดรคาร์บอนที่สามารถนำไปทำก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และปิโตรเคมีได้ นอกเหนือจากนำไปผลิตไฟฟ้า ทำให้เรามีวัตถุดิบสามารถนำไปเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว

แม้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาปิโตรเลียมมาใช้ แต่ก็มีประเด็นซับซ้อนมาเกี่ยวข้อง ดร.คุรุจิต ระบุว่ามีสาระสำคัญที่เป็นเงื่อนไขการพิจารณา ประกอบด้วย 1.พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ประมาณ 16,000 ตร.กม. รัฐบาลไทยได้ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแก่ผู้รับสัมปทาน เมื่อปี 2511 ไปแล้ว และสิทธินี้ยังคงอยู่ การเปลี่ยนแปลงใดๆอาจจะมาสู่การฟ้องร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการได้

2.การมีอยู่ของ “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” หรือ “MOU 2544” ที่มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ณ กรุงพนมเปญ ที่มีสาระสำคัญให้ทั้งสองฝ่ายเร่งเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน 1) พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ กินบริเวณประมาณ 10,000 ตร.กม. และ 2) พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน ประมาณ 16,000 ตร.กม.

โดย “MOU 2544” ให้หาข้อตกลงในข้อ 1 และ 2 ไปพร้อมกันโดยไม่แบ่งแยกและให้ตั้งคณะกรรมการร่วมเทคนิคมาเจรจา ซึ่งผลการเจรจาต้องเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภาเห็นชอบ ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 178 วรรคสอง

3.การที่ศาลรัฐธรรมนูญในอดีตตีความว่าแถลงการณ์ร่วมถือเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ จึงทำให้ผู้มีหน้าที่เจรจากังวลไม่อยากลงนามในบันทึกรายงานการประชุมใดๆ เพราะกลัวคนไปร้องเรียนว่าขัดรัฐธรรมนูญอีก

หากมองในด้านบวกแล้ว อะไรที่จะทำให้เรื่องนี้เดินหน้าได้ “ดร.คุรุจิต” บอกว่า การเจรจาหาข้อยุติต้องทำโดยหน่วยงานราชการและรัฐบาล ถ้าเมื่อใดมีภาคธุรกิจเข้ามาอยู่ข้างหลังแล้วคอยล็อบบี้ เรื่องนี้ก็จะไปไม่ถึงฝั่ง ทำให้เกิดข้อกังขาทันทีว่าเอาผลประโยชน์ของชาติไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเรื่องนี้มีความอ่อนไหวอยู่แล้ว และจะเดินหน้าไม่ได้

เทียบกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-มาเลเซียก็จบด้วยการพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-เวียดนามก็จบได้ด้วยการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเพราะเป็นกระบวนการทำงานของรัฐบาลกับรัฐบาล ส่วนราชการทำหน้าที่เจรจาและนําเสนอรัฐบาลไม่มีล็อบบี้ยิสต์อยู่เบื้องหลัง

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น ทางกัมพูชาให้ความสำคัญในประเด็นการนำปิโตรเลียมมาใช้และแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ทำเรื่องเดียวไม่ได้อย่างไรเสียก็ต้องทำไปพร้อมกับการแบ่งเขตแดน เพื่อไม่ให้กัมพูชาอ้างสิทธิเกินกว่าที่กฎหมายปัจจุบันรับได้ โดยเฉพาะพื้นที่ทางทะเลของเกาะกูด ย้ำว่าเกาะกูดต้องมีเขตทางทะเลของตนเอง

“กัมพูชาไปอ้างสนธิสัญญาฝรั่งเศส เท่ากับเรายืนบนเกาะกูด แต่เอาขาลงไปในทะเลไม่ได้ หรือเราจะไปหาปลาไม่ได้เลยต้องเอาความชอบด้วยกฎหมาย ความชอบธรรมของการอ้างสิทธิมาพูดกันก่อน” ดร.คุรุจิต กล่าว

นอกจากนี้ ท่าทีสำคัญมากต่อความคืบหน้าในการเจรจา จะเป็นแบบท้าตีท้าต่อย ท้ารบกันเหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว ต้องมองภาพใหม่ว่ากัมพูชาเป็นอาเซียนแล้ว การพัฒนาต้องเจริญไปด้วยกัน กัมพูชาเจริญเขาก็สร้างงานให้คนในประเทศของเขา เราในฐานะประเทศที่มีชายแดนติดกันก็ได้ผลดีไปด้วย สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในบ้านเราไปพร้อมกัน

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ

ดร.คุรุจิต ย้ำว่า กระบวนการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต้องกระชับการทำงาน ต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำ โดยมีรองนายกฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายทหารร่วมมือกันหารือกับผู้นําในรัฐสภา ผู้นําฝ่ายค้าน ให้เห็นภาพเดียวกัน และทิศทางที่จะไปร่วมกัน ขณะเดียวกันต้องให้ฝ่ายราชการสะท้อนปัญหาอุปสรรคความยากลำบากอยู่ตรงไหน และจุดยืนที่เราพอจะรับได้คืออะไร เราต้องมี give and take เพราะในกระบวนการเจรจายาวนานนับปี ต้องมีการต่อรองมากมาย สำคัญคือต้องขอกรอบจากสภาก่อน เพื่อคุ้มครองผู้เจรจา

“กัมพูชามีรัฐบาลฮุนเซนที่มั่นคงมายาวนาน มีความต่อเนื่องทางการเมือง ตัดสินใจเร็ว มีความชัดเจนว่าต้องการอะไร ขณะที่เราเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ใครมาก็ไม่กล้าเดินหน้าในเรื่องนี้ ทำให้คาราคาซังมากว่า 50 ปี ดังนั้นหากต้องการทำให้เดินหน้าได้ ขอให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลสองประเทศ มีส่วนราชการทำหน้าที่เจรจาไม่มี Back Channel ให้เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ไม่เช่นนั้นร้อยปีก็เดินหน้าไม่ได้” ดร.คุรุจิต กล่าวทิ้งท้าย

………………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…..”สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img