วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSปรับ“PDP2024”เค้นลดCO2ให้ถึง40% รับแผน“ลดก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปรับ“PDP2024”เค้นลดCO2ให้ถึง40% รับแผน“ลดก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ”

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (PDP 2024) ล่าช้าไปพอควร ที่เป็นอย่างนั้น “วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) บอกไว้ว่า เพราะ ต้องปรับให้สอดคล้องเป้าหมายประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

อย่างที่มีการเผยแพร่มาตลอดว่า แผน PDP 2024 ได้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนทะลุมากกว่าครึ่ง หรือ 51% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมในปลายแผน เพื่อเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงกว่า 30%

วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู

จนบัดนี้ PDP 2024 ก็ยังนิ่งไม่ได้ ต้องปรับกันใหม่อีกรอบให้สอดคล้องกับ “แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573” หรือ Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030 (NDC) เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำหนดให้แต่ละภาคส่วนต้องลดการปล่อย CO2 ให้ถึง 40% ในปี 2573 ทั้ง 1.ภาคพลังงาน และขนส่ง 2.ภาคเกษตร 3.ภาคอุตสาหกรรม 4.ภาคของเสีย

Sun setting behind the silhouette of electricity pylons

แต่ภาคพลังงานถูกเพ่งเล็งเป็นธรรมดา เพราะปล่อย CO2 มากที่สุด ข้อมูลจาก “สนพ.” พบว่าในปี 2566 ภาคพลังงานมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ 121.9 ล้านตัน CO2 โดยภาคการขนส่ง ปล่อยก๊าซ CO2 ที่ 41.5 ล้านตัน, ภาคอุตสาหกรรม ปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 25.6 ล้านตัน หากแยกรายภาคแล้ว ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 48.1 ล้านตัน CO2 และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ ปล่อยก๊าซ CO2 รวม 6.7 ล้านตัน CO2

International Energy Agency (IEA) บอกว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานอยู่ที่ 2.05 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE แม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมประเทศจีน) แต่ก็ปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ที่ 1.95 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ)

เมื่อเป็นดังนี้ทาง “สนพ.” จึงต้องปรับแผน PDP 2024 เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจาก 30% เป็น 40% ตาม NDC และ เพื่อให้ง่ายต่อการไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2593 ด้วย นั่นหมายถึง ตามแผน PDP 2024 ต้องลดการปล่อย CO2 ให้เหลือ 67.7 ล้านตันคาร์บอนในปลายแผน จากร่างแผนเดิมปล่อยอยู่ 77.7 ล้านตัน

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

“ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน บอกคร่าวๆ ไว้ว่า ต้องเร่งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ให้เข้าระบบเร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดให้เข้าระบบรวม 24,000 เมกะวัตต์หลังปี 2573 โดยให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่เข้าระบบ 10,000 เมกะวัตต์แรกก่อนปี 2573 ส่วนที่เหลืออีก 14,000 เมกะวัตต์ค่อยเข้าระบบหลังปี  2573 เป็นต้นไป แต่ก็ไม่ง่ายเพราะต้องมีระบบไฟฟ้าในการรองรับพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

กูรูด้านพลังงาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า NDC หรือ National Determined Contributions แปลว่า “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” ซึ่งประเทศไทยกำหนดไว้แบบนี้  ถ้าเป็น “NDC 30% unconditonal” ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนลง 30% โดยไม่มีเงื่อนไขความช่วยเหลือจากนานาชาติ

แต่ถ้าเป็น “NDC 40% Conditional” ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนลง 40% แบบมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินจากนานาชาติ แปลว่าหากต้องลด 40% ไทยต้องขอต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ยกเว้นภาครัฐและเอกชนไทยมีศักยภาพมากพอที่จะลงทุนพลังงานหมุนเวียน ก็ต้องจับตากันต่อไปว่าจะเป็นเช่นไร  

ที่แน่ๆ การปรับจาก “NDC 30%” เป็น “NDC 40%” เพิ่มมา 10% ที่ต้องลดการปล่อย CO2 คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 22,722 ล้านหน่วย และต้องทำภายในปี 2573 หมายถึง ร่างแผน PDP 2024 ต้องปรับใหม่ โดยไปลดการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Gas Turbine Combined Cycle) ลง 3,052 เมกะวัตต์ แล้วไปเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ ลม หรือชีวมวล เท่ากับต้องมีโรงไฟฟ้าก๊าซฯอย่างน้อย 4 โรงๆ ละ 700 เมกะวัตต์ถูกปลดออกจากร่างแผน PDP 2024 เดิม หรือต้องเลื่อนออกจ่ายไฟฟ้า (COD) หลังปี 2573

เมื่อมูลเหตุมาดี ทำให้ต้องเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนเข้าระบบ ภารกิจนี้จึงไปตกอยู่ในหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้รับผิดชอบ แต่บังเอิญว่า “กกพ.” 4 จาก 7 คน หมดวาระอยู่ระหว่างการสรรหาคนใหม่ ไม่แน่ใจว่า “กกพ.ชุดใหม่” จะเข้ามาทำหน้าที่ใหญ่ในการประกาศรับพลังงานหมุนเวียน Big Lot รอบ 3 หรือรอบ 4 ทันไหม? เพราะทราบมาว่า การสรรหา “กกพ.ใหม่ 4 คน” เพื่อมาแทนคนเก่าที่หมดวาระไม่ทัน 30 กันยายน 2567 แน่ๆ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนรัฐบาล แปลว่า ทั้ง 7 กกพ.เดิม ยังทำหน้าที่ต่อไปก่อน จนว่าการสรรหาจะเสร็จ ขณะที่การนำพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบเพิ่ม ก็เป็นวาระเร่งด่วนมากมาย

หมายความว่า “กกพ.ชุดปัจจุบัน” ก็น่าจะทำหน้าที่ประกาศรับซื้อติดๆ กันในช่วงปีนี้ เพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สร้างเสร็จภายในปี 2573 ซึ่งก่อนหน้านี้ “กกพ.ชุดนี้” ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่ต้นทุนทุนเชื้อเพลิง Big Lot ไปแล้ว 1 รอบเมื่อเดือนเมษายน 2566 ปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์จาก 175 โครงการ

มาถึงรอบ 2 กำลังเร่งประกาศรับซื้อเพิ่มเติมอีก 2,180 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานลม รวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ โดยให้สิทธิ์ผู้ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ผ่านการพิจารณาในรอบแรกมายื่นเสนอขาย

ตอนนี้โครงการลมที่ไม่ผ่านการเกณฑ์พิจารณารอบแรกและมาฟ้องร้อง กกพ.ได้เคลียร์ไปหมดแล้วคดีสุดท้ายถอนฟ้องไปเมื่อสัปดาห์ก่อน โครงการลม 22 โครงการ 1,490 เมกะวัตต์ที่ผ่านการพิจารณาซึ่งต้องหยุดชะงักไปด้วยจากกระบวนการฟ้องร้อง กกพ.ต้องมาดูกันใหม่ หลังจากศาลยกคำขอและจำหน่ายคดีออก เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ทำโครงการแต่ละรายจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) ได้ทันกำหนดเดิมในช่วงปี 2568-2573 หรือไม่ ถ้าไม่ทันต้องทำอย่างไร!!

ขณะเดียวกันก็เตรียมประกาศรับซื้อรอบที่ 3 อีกประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ ​เข้าระบบไม่เกิน 2573 เรียกว่ารับซื้อต่อเนื่องแบบด่วนๆช่วงนี้ นับเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

อีกด้านก็เพื่อรองรับนักลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งมีข่าวว่ารัฐบาลจะนำพลังงานหมุนเวียนที่เข้าระบบใหม่ไปขายเป็น Green electricity รูปแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT2) ประมาณ 4.10-4.20 บาทต่อหน่วย และนำส่วนต่างประมาณ 1 บาทมาใช้สำหรับการอุดหนุนค่าไฟฟฟ้าให้กลุ่มเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม การจะเดินหน้ารับซื้อพลังงานหมุนเวียนกันอุตลุดแบบไม่มองหน้ามองหลังก็คงไม่ใช่ อย่าลืมว่าไฟฟ้าต้องดูทั้ง 3 มิติ ทั้ง 1.Environment 2.Energy Security และ 3.Energy Affordable ลดก๊าซเรือนกระจกก็ต้องดู แต่ยังมีอีก 2 มิติที่ต้องดูประกอบกันแบบแยกไม่ออกมองข้ามไม่ได้ ก็คือ Energy Affordable หรือค่าไฟฟ้าต้องไม่แพงด้วย แต่ข้อนี้ก็ไม่น่าห่วงมากนัก เพราะเทคโนโลยีพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนลดลง

ที่น่าห่วงคือ Energy Security ไฟฟ้าต้องมีความมั่นคงติดๆ ดับๆ ก็คงไม่มีใครต้องการ อย่างที่ทราบพลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าไม่ได้ 24 ชม. โซลาร์เซลล์สามารถพึ่งพาได้ (plant factor) 16% ส่วนลม 22% ชีวมวลดีน้อย 80% เมื่อเอาเข้ามาในระบบมากขึ้น แปลว่า โรงไฟฟ้าฐานที่เดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีความจำเป็นและสามารถถอดออกจากระบบได้จริงหรือไม่?? ถือเป็นความท้าทายของการปรับแผน PDP 2024 ตามเป้าหมาย “NDC 40%”

……………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…..“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img