วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSOR ปิดโอกาสล้มเหลว-เพิ่มโอกาสเติบโต
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

OR ปิดโอกาสล้มเหลว-เพิ่มโอกาสเติบโต

รู้กันอยู่ว่า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) ครองส่วนแบ่งตลาดน้ำมันเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันใสในภาพรวม 42.2% สัดส่วนนี้รวมทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นน้ำมันเตาที่จำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

และยังเป็นผู้นำในตลาดพาณิชย์สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น และก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศไทย ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 มีรายได้ขายและบริการ 183,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,055 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า

รายได้หลักของ OR ยังมาจากน้ำมัน แต่ก็พยายามบุกเบิกเอา “ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการ” ผสมผสานมาไว้ในปั๊มน้ำมัน เพื่อเพิ่มกำไรจาก Non-Oil ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ร้านสะดวกซื้อ และร้านรวงต่างๆ จนตอนนี้ใครจะเข้าปั๊มแล้วไม่เติมน้ำมัน เป็นเรื่องปกติ จากเดิมคนมองว่า OR คือ ปั๊มปตท. แต่ค่อยๆ ลางเรือนไป ถูกปั้นให้เป็นแบรนด์บริษัทที่ทำธุรกิจค้าปลีกและบริการ

นับจาก OR จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ก็ทำธุรกิจใหม่ๆ มา อาจถือเป็นซอฟเพาเวอร์ของปตท.ก็ว่าได้ ด้วยมีธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นจุดสัมผัสลูกค้าและผู้บริโภคโดยตรงผ่านธุรกิจค้าปลีก และบริการอื่นๆ รวมถึงมีผู้แทนจำหน่ายสินค้าและบริการในทุกพื้นที่ ทำให้บริษัทมีพื้นที่การดำเนินงานทั่วประเทศและมีการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศหลักๆ ได้แก่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆด้วย

แต่อย่างว่า PTT Station คือจุดแกร่ง ไม่ว่าจะมีอะไรใหม่ๆ OR ก็ต้องเริ่มจากฐานที่มั่นในปั๊มก่อนเสมอ เพราะทำได้ถนัดมือ นำร่องทำในปั๊มบางพื้นที่ก่อน เรียกว่าใช้ปั๊มเป็น Sandbox เพราะไม่ใช่ทุกธุรกิจที่ OR มาใส่ในปั๊มจะสามารถใช้โมเดลแบบเดียวกัน มีทั้งแฟรนไชส์ ร่วมลงทุน และพันธมิตร

เมื่อ Café Amazon ไปได้ดีเป็นกาแฟที่มียอดขายอันดับ 1 ล้านแก้วต่อวันจาก 4,000 กว่าสาขา OR อาจถือว่ามีประสบการณ์สวยๆ แต่บางสินค้าก็แป้ค ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือการเข้าสู่ตลาดไก่ทอดภายใต้แบรนด์ “Texas Chicken” โดยซื้อแฟรนไชส์ “Texas Chicken” ไก่ทอดเก่าแก่อายุ 72 ปีถิ่นกำเนิดจากสหรัฐฯ มาบริหารแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เปิดให้บริการในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2558 ที่สาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต 9 ปีที่อยู่ภายใต้การทำงานของ OR บัดนี้ เมื่อ 30 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา OR ก็ต้องปล่อยมือปิดสาขาทั้งหมดเกือบร้อยสาขาในไทย พา “Texas Chicken” บินลัดฟ้ากลับบ้าน

สงสัยไหมว่า ประสบการณ์ Café Amazon น่าจะทำให้การตลาด Quick Service Restaurant หรือ QSR  ไก่ทอดของ OR ไม่น่าจะยาก ตลาดไก่ทอดก็ใหญ่โตมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ผู้เล่นในตลาดน่าจะแบ่งๆ กันไปได้

แต่แฟรนไซส์เจ้าตลาดไก่ทอดในไทยที่ครองส่วนแบ่งกว่า 80-90% อย่างแบรนด์ “KFC-ผู้พันแซนเดอส์” ไม่ลดราวาศอกให้ บุกตลาดถึงพริกถึงขิง ใช้กลยุทธ์ทำคนเดียว เปิดให้พันธมิตรมาบริหารแฟรนไชส์รวม 3 เจ้า ซึ่งล้วนแล้วเป็นระดับบิ๊กทุนหนา ทั้ง บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ในเครือเซ็นทรัล, บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) และ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ทำให้ขยายสาขาไปอย่างรวดเร็วทุกซอกทุกมุม รวมกัน 1,000 สาขาแล้ว จนมีสาขาในไทยเป็นอันดับ 7 ของโลก และแข่งกันทำตลาดอย่างคึกคัก ออกเมนูแซบๆโดนใจคนไทยไม่เว้น

แล้วใย “Texas Chicken” ที่มี OR เป็นเจ้าของแฟรนไชส์เจ้าเดียว และอยู่แต่ในปั๊ม จะไปรอด แม้รสนิยมการกินของผู้บริโภคแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนก็สะอื้นไห้กับการบินลัดฟ้ากลับประเทศของ “Texas Chicken” แต่หากเขาหาซื้อกินยาก ของที่หากินง่ายกว่า ก็กลายเป็น “ติดลิ้นติดปาก” ได้โดยปริยาย

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นไปอย่างที่ “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บอกไว้ “เราต้องสกรีน อะไรสู้ไม่ได้ ต้องถอย ทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเลิก 

มีอีกหลายสินค้าและบริการที่ต้องลุ้นๆ กับ OR แม้จะพยายาม play safe ไม่เสี่ยงโดยไม่จำเป็น จะไม่ทำคนเดียว แต่จับมือกับพันธมิตร ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยตรง แต่ก็ต้องจับตาแบบก้าวต่อก้าวในบางสินค้าและบริการ อย่าง “ตลาดสุขภาพและความงาม” ที่ OR ตั้ง บริษัท OR Health & Wellness (ORHW) ทำร้าน“found & found” ร้านค้าปลีกด้านสินค้าสุขภาพและความงาม เพื่อรุกตลาดนี้ หวังขอครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลุ้นเพราะผู้ค้าน้ำมันมาเล่นตลาดต่างจากธุรกิจเดิม และเป็นตลาดที่เล่นยากๆ การแข่งขันสูงทั้งสินค้าแบรนด์ไทยเราเอง และสินค้านำเข้าสารพัด ขายตรงกันอีก

แผนปิดโอกาสล้มเหลว-เพิ่มโอกาสเติบโต ของ “found & found” คือการจับมือกับ “สุกิ โฮลดิ้งส์” ผู้นำธุรกิจเครือข่ายร้านขายยาและผู้นำด้านแพลตฟอร์มนาโนเทคโนโลยีรายใหญ่ของญี่ปุ่น และนำแบรนด์คุณภาพจากประเทศญี่ปุ่นมาขายในร้านแบบ Exclusive โดยจะทำในปั๊มก่อน 3 สาขาทดสอบตลอด และขยายให้ครบ 10 สาขาภายในปีนี้ 2567 ตั้งเป้าขยายเป็น 500 สาขาภายในปี 2573 เป็นอีกสินค้าที่ OR กำลังจะปั้นเป็นแฟรนไชส์ ต้องมาวัดฝีมือกันว่า คนขายน้ำมันจะทำธุรกิจความงามขึ้นหรือไม่ เพราะตลาดใหญ่ ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเข้ามาและกินส่วนแบ่งตลาดกันได้ง่ายๆ อย่างตลาดไก่ทอดเป็นที่ประจักษ์

ส่วนการลงทุนบิ๊กโปรเจคอื่นๆ ของ OR ยังไม่โดดไปมากเท่าธุรกิจความงาม และไม่ต้องลุ้นกันมากมาย อย่างโครงการพัฒนาและบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ในรูปแบบที่พักริมทาง (Rest Area) โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ช่วงชลบุรี-พัทยา มูลค่าลงทุนราว 1,600 ล้านบาท ซึ่ง OR เพิ่งประกาศเดินหน้าโปรเจคไปภายใต้บริษัทร่วมทุน บริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด  ระหว่าง PTTRM และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด โครงการนี้งานถนัด เพราะ OR เคยทำมาแล้ว

หรือธุรกิจ “เวอร์ชวล แบงก์” (Virtual Bank) ที่ OR ต้องการเข้าสู่อีกธุรกิจทางด้านบริการทางการเงิน แต่ก็เป็นการนำเข้าข้อมูลลูกค้าของ OR ไปประมวลผลกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในระบบการเงินและการเข้าถึงลูกค้าอย่างธนาคารกรุงไทยและเอไอเอส ก็ถือว่าต่างต่อยอดซึ่งกันและกันไม่ต้องลงทุนลงแรงใหญ่มากนัก

เอาเข้าจริงแล้วการชูจุดเด่นที่มีอยู่ และย้ำถึงการไปสู่ความยั่งยืนของ OR แบบที่ผู้ชมผู้ดูน่าจะไม่ต้องลุ้นกันตัวโก่งมากนัก อย่าง โครงการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) น่าจะเป็นงานที่เน้นจริงจังมากๆ เพราะ OR เป็นเจ้าตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานอยู่แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องการใช้บริการจาก OR ตลาดสายการบินก็เรียกร้อง

โครงการความร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อศึกษาและนำ SAF จากกระบวนการ Co-Processing ของ GC มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินขอเชียร์ให้เกิดเร็วๆ เพื่อป้อน SAF ที่สายการบินทั้งในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศต้องการ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย และเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานของ ICAO และ IATA ที่วางข้อกำหนดรดต้นคอมาแล้วให้ภาคการบินต้องมีสัดส่วนใช้น้ำมันสะอาดมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงจัง

การย้ำเน้นๆ ของ OR ในโครงการนี้จะช่วยตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านพลังงาน (Energy Solution Provider) ของ OR อย่างเด่นชัด เป็นไปตามวิสัยทัศน์ในการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

……………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img