วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเชียร์ไทยฟุตเวิร์ก“พลังงานสีเขียว” แต่อย่าเสียรังวัดง่ายๆ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เชียร์ไทยฟุตเวิร์ก“พลังงานสีเขียว” แต่อย่าเสียรังวัดง่ายๆ

ไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608

รวมทั้งพิจารณาถึงเป้าหมาย 40% ของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030 : NDC) ทำให้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2024) ที่เตรียมประกาศใช้กำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น กระทรวงพลังงานประกาศแล้วที่จะเร่งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่จากเดิมที่กำหนดให้เข้าระบบรวม 24,000 เมกะวัตต์หลังปี 2573 เป็นให้ระบบ 10,000 เมกะวัตต์แรกก่อนปี 2573 ส่วนที่เหลืออีก 14,000 เมกะวัตต์เข้าระบบหลังปี 2573

ไม่ใช่ไทยเป็นประเทศเดียวที่ต้องเร่งให้มีพลังงานสะอาดเข้าระบบ ทุกประเทศต้องทำเหมือนกันตาม COP26 ประเทศไหนไม่มีทรัพยากรก็ต้องซื้อเอา ในอาเซียนเราคงต้องจับตา สิงคโปร์ ระยะประชิด เพราะต่างมีเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนระดับบิ๊กเหมือนกัน ซึ่งเรียกร้องอยากได้ ไฟฟ้าสีเขียว (green electricity) ตอนนี้สิงคโปร์กำลังขมักเขม้นกวาดพลังงานสะอาดเข้าประเทศ และด้วยความรอบคอบ กำหนดให้มาพร้อมกับใบรับรองปริมาณไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือ RECs (Renewable Energy Certificates) ด้วย

“กูรูพลังงาน” เล่าให้เราฟังว่า ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนในระบบไฟฟ้าของสิงคโปร์ (Singapore Grid Emission Factor) ปี 2565 ปล่อยคาร์บอน 0.4168 kg CO2/kWh ขณะที่ไทย (Thailand Grid Emission Factor) ปล่อยคาร์บอนประมาณ 0.4460 kg CO2e/kWh ไทยปล่อยคาร์บอนสูงกว่าสิงคโปร์ 7%

ความที่สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากร ต้องซื้อหมด ขณะที่ต้องดึงดูดการลงทุน สิงคโปร์ไม่พ่ายแพ้ง่ายๆ เขาทำอย่างไร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 องค์กรตลาดไฟฟ้าสิงคโปร์ (Electricity Market Authority of Singapore : EMA) ได้ออกประกาศเชิญชวน (Request For Proposal : RFP) ฉบับที่ 1 (RFP1) รับข้อเสนอการนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจากต่างประเทศ 1,200 เมกะวัตต์ ผ่านสายส่งไฟฟ้าใหม่ที่เชื่อมโยงระหว่างสิงคโปร์กับประเทศต้นทางเริ่มจากปี 2570 ต่อมามีการขยายเวลาและปริมาณไฟฟ้าเพิ่ม เป็น 4,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2578

แบ่งเป็น ซื้อจากกัมพูชา 1,000 เมกะวัตต์ จากอินโดนีเซีย 2,000 เมกะวัตต์ จากเวียดนาม 1,200 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการรับซื้อโดยตรงจาก สปป.ลาว แต่ไฟฟ้าพลังน้ำจากสปป.ลาวสามารถผ่านกัมพูชาได้

แรกเริ่มสิงคโปร์มีไฟฟ้าสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหมุนเวียนลม แสงอาทิตย์ พลังน้ำชีวมวล แต่ไม่มีการกำหนดว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าอย่างไร จึงได้กำหนดในประกาศเชิญชวน (RFP) ว่าการนำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ (low carbon electricity) หมายถึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 0.15 tonCO2e/MWh หรือ 0.150 kgCO2/kWh ซึ่งสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 64%

มาดูว่า สิงคโปร์นำเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจาก 3 ประเทศอย่างไร ก็เป็นการ ส่งผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลที่สร้างขึ้นใหม่จากกัมพูชา ระยะทางกว่า 1,000 กม. เวียดนามก็เช่นกัน จะส่งผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลที่สร้างขึ้นใหม่ระยะทาง 1,000 กม.เช่นกันทั้งหมดถูกรองรับด้วย MOU ระหว่างสองประเทศไม่ใช่แค่ครั้งเดียวหรือฉบับเดียว

สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศของสิงคโปร์ จะมีข้อกำหนดในประกาศการรับซื้อ (RFP) ไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจากต่างประเทศ ที่น่าศึกษา ดังนี้

-ผู้สนใจนำเข้าไฟฟ้าต้องส่งข้อเสนอสุดท้าย (Final submission) ภายใน 29 ธันวาคม 2566

-ไฟฟ้าที่ผลิตต้องปล่อยคาร์บอนไม่เกิน 0.15 tonCO2e/MWh

-ไม่รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงถ่านหิน หรือนิวเคลียร์  

-ใบรับรองปริมาณไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือ RECs (Renewable Energy Certificates) ต้องผูกตรงกับปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย

-ราคาเสนอขายไฟฟ้าต้องรวมราคาทุกส่วนประกอบ รวมถึง RECs ในช่วงเวลา 30 นาที ของการสั่งจ่ายไฟฟ้า ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องจัดการให้ปริมาณกำลังไฟฟ้าจากพลังงานแสงแดดที่นำเข้าต้องคงที่และเสถียร แต่สามารถปรับเปลี่ยนปริมาณกำลังไฟฟ้า (MW) ได้ในทุกช่วง 30 นาที  

การทำข้อตกลงระหว่างประเทศและนำเข้าผ่านสายเคเบิลใต้ทะเล “กูรูพลังงาน” ทำให้สิงคโปร์ดูจะลดความสนใจโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (Lao PDR-Thailand-Malaysia-Singapore on Power Interconnection Project : LTMS) ซึ่งมีข้อจำกัด เนื่องจากระบบส่งไฟฟ้าช่วงสายไทย-มาเลเซียเป็นคอขวด มีข้อจำกัดส่งไฟฟ้าได้เพียง 300 เมกะวัตต์ แม้ว่าสายส่งไฟฟ้าจากมาเลเซีย-สิงคโปร์จะขยายเป็น 1,000 เมกะวัตต์แล้วก็ตาม

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร ในปี 2565 Gentari International Renewables Pte Ltd บริษัทเรืองธงด้านพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม Petronas ของมาเลเซีย ได้สร้างสายเคเบิลไฟฟ้าใต้ทะเลส่งไฟฟ้าไปมา ระหว่างขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปีที่แล้วมาเลเซียยังได้ยกเลิกนโยบายห้ามการส่งออกพลังงานหมุนเวียน ให้แก่ สิงคโปร์ และรัฐซาราวักของมาเลเซียยังสนใจขายไฟฟ้าพลังน้ำ 1,000 เมกะวัตต์ให้กับสิงคโปร์  โดยสิงคโปร์จะสร้างสายเคเบิลใต้ทะเลยาวกว่า 700 กม.รองรับ

เรียกได้ว่า สิงคโปร์รุกคืบอย่างรวดเร็ว และใช้ทุกกลยุทธ์เพื่อแสวงหาไฟฟ้าคาร์บอนต่ำจากประเทศต่างๆ สิงคโปร์ไม่อยากเสียโอกาสอีกต่อไป หลังก่อนหน้านี้ต้องประกาศยุติการลงทุนตั้ง ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ หรือ “Data center Moratorium” เนื่องจากศูนย์ข้อมูลแต่ละแห่งใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก รวมถึงน้ำด้วย เพื่อระบายความร้อนให้กับคอมพิวเตอร์จำนวนมาก สิงคโปร์ต้องหยุดเพื่อแก้โจทย์ว่าทำอย่างไรให้การลงทุนศูนย์ข้อมูลสามารถตอบโจทย์ประเทศในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

จนเมื่อ 2 ปีก่อน 2565 สิงคโปร์กลับมาส่งเสริมใหม่การลงทุนศูนย์ข้อมูลใหม่ ซึ่งศูนย์ข้อมูลในสิงคโปร์ใช้พลังงานไฟฟ้ากว่า 7% ของทั้งประเทศ ขณะที่ค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูลทั่วโลกอยู่ที่ 2% ซึ่งบริษัทศูนย์ข้อมูล เช่น AWS, Microsoft, Google, IBM ต่างมีเป้าหมายการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% หรือ RE100

แนวทางและเป้าหมายของไทยและสิงคโปร์ไม่แตกต่างกัน ที่ต้องมุ่งพัฒนาไฟฟ้าสีเขียว เพื่อดึงดูดนักลงทุนเพียงแต่ไทยโชคดีที่เราอุดมสมบูรณ์ทุกเรื่อง สามารถผลิตไฟฟ้าสีเขียวในประเทศได้ ไม่ต้องพึ่งประเทศอื่น ทำให้อาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำเชิงรุกมากนัก

แต่การรุกคืบของประเทศอื่น ทำให้ไทยเริ่มคิดหลายตลบ ต้องเก็บคาร์บอนเครดิตจากไฟฟ้าสีเขียวที่เราไปลงทุนที่ไหนต่อไหนด้วย เมื่อต้นปี 2564 ถ้าจำกันได้กระทรวงพลังงานได้เชิญหน่วยงานด้านพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกมาหารือในประเด็นที่ว่า “การที่ไทยซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวจะมีใบประกาศรับรองพลังงานหมุนเวียน หรือ RECs ส่งมอบมาให้ไทยด้วยหรือไม่?”

แล้วก็ เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าสีเขียว เพื่อดึงดูดนักลงทุนอย่างจริงจัง ตามที่ครม. 23 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent-LOI) สำหรับข้อริเริ่มเรื่องพลังงานสะอาด (Clean Energy Demand Initiative : CEDI) ระหว่างไทยกับภาคเอกชนของสหรัฐ จำนวน 19 บริษัท ทั้งกิจการเทคโนโลยีดิจิทัล ศูนย์ข้อมูล เครื่องแต่งกายและแฟชั่น เคมีภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงกิจการพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น คิดเป็นเม็ดเงินที่มาลงทุนในไทยประมาณ 8,000-83,440 ล้านบาท โดยระบุ หลักการเกี่ยวกับการจัดหาพลังงานสะอาดรองรับ (Procurement Principle) หรือ “อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Utility Green Tariff : UGT)” รวมถึงกลไก Direct PPA ที่กำลังวางแนวทาง เพื่อให้ภาคเอกชนไปใช้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นำมาสู่การประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนบิ๊กล็อต โดยมีกาหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบระหว่างปี พ.ศ.2567-2573 หลักการสำคัญ คือ “ใบรับรอง ไฟฟ้าจากพลังงานหมนุเวียน (RECs) ตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจะต้องเป็นของรัฐ” เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถขายไฟฟ้าสะอาดที่มี RECs ผูกติดไปด้วยให้กับภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้า RE100 ที่สามารถนำไปดำเนินงานความเป็นกลางทางคาร์บอนขององค์กรได้ ขณะเดียวกันไทยยังต้องทำเรื่องอื่นๆไปพร้อมกัน เช่น ภาษีคาร์บอน

ด้วยการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นขึ้นของทุกชาติ และการยื้อแย่งนักลงทุน ทำให้โครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ถูกปรับโฉมไป ในอดีตไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าบนภาคพื้นดิน มี MOU กับสปป.ลาว 10,500 เมกะวัตต์ มีการเชื่อมโยงสายส่งกับกัมพูชา มาเลเซียและสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงด้วยสายเคเบิลไฟฟ้าในทะเล (submarine power cable) ที่มาเติมโดยสิงคโปร์พร้อมด้วยการซื้อขายไฟฟ้าแบบทวิภาคี กัมพูชา-สิงคโปร์, เวียดนาม-สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย-สิงคโปร์ รวม 4,200 เมกะวัตต์

ดังนั้นการติดอยู่กับภาพเดิม อาจทำให้ไทยเสียรังวัดให้กับประเทศที่ไม่มีทรัพยากรเลย แต่มีไฟฟ้าสีเขียวใช้อย่างมีศักยภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้

…………………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…“ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img