วันพุธ, มกราคม 22, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS‘กฟผ.’ปรับตัวทุกด้าน รับ‘พลังงานสีเขียว’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘กฟผ.’ปรับตัวทุกด้าน รับ‘พลังงานสีเขียว’

แค่รู้ว่า “โลกรวน” ไม่พอทั้งภาคการผลิต และภาคการใช้ต้องเดินคู่กันไปสู่ “Mitigation” หรือ การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ “Adaptation” หรือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เท่านั้นไม่พอต้องไปที่ Climate resilience หรือ พร้อมรับมือหายนะจากโลกรวนในอนาคต ด้วย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอีกหน่วยงานรัฐ ที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับภารกิจที่ยากขึ้นทุกวันในการผลิตไฟฟ้าป้อนประเทศ ทั้งต้องมั่นคง เป็นพลังงานสะอาด และต้องทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศไม่แพงจนเกินไป

“ธวัชชัย สําราญวานิช” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เล่าถึงหลายๆ ภารกิจที่ต้องทำในตอนนี้ ไปจนถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย เพราะการผลิตไฟฟ้าในตอนนี้ นอกจากผลิตเองใช้เองในประเทศแล้ว ต้องซื้อไฟจากต่างประเทศมาด้วย

เขาอธิบายถึงบริบทไฟฟ้าอาเซียนให้ฟังเป็นเบื้องต้นว่า “อาเซียนไม่เหมือนยุโรป ในยุโรปความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจหรือความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไฟฟ้า แต่ละประเทศค่อนข้างจะไม่ต่างกัน ทั้งในเรื่องสายส่ง และการผลิตไฟฟ้า จึงทำให้การเชื่อมโยงไม่เป็นเรื่องยาก หรือในสหรัฐเช่นเดียวกันที่การซื้อขายไฟข้ามรัฐต่อรัฐเหมือนหนึ่งประเทศ”

ไฟฟ้าอาเซียน

บริบทของอาเซียนปรากฏว่า อาเซียน หากแบ่งเป็นกลุ่ม ก็จะมี “กลุ่มที่ไม่ใช่เกาะ” หรือ “อินแลนด์” กับกลุ่มที่เป็นเกาะ ในส่วนของอินแลนด์ ก็มี ไทย พม่า สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ลงมาข้างล่างก็มี สิงคโปร์ ส่วน อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เป็นเกาะแยกออกไป การเชื่อมโยงไฟฟ้าจะเริ่มต้นจาก 2 ประเทศก่อน เพราะว่าความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนไม่เท่ากัน

ในกลุ่มอินแลนด์ถือว่า ไทยกับมาเลเซีย ค่อนข้างมีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด และใกล้เคียงกัน ทั้งตัวสายส่ง และโรงไฟฟ้า แต่โอกาสไม่เหมือนกัน เพราะไทยอยู่ติดพม่า สปป.ลาว กัมพูชา ซึ่งความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเทียบกับไทยอาจจะยังค่อนข้างห่างกัน แต่เป็นโอกาส เนื่องจากมีทรัพยากรที่นำมาผลิตไฟฟ้าได้จำนวนมาก ขณะเดียวกันความต้องการใช้ไฟในประเทศก็ไม่ได้สูงมาก แต่ไทยความต้องการสูง จึงเชื่อมต่อกันได้ โดยไทยกับสปป.ลาวเริ่มต้นก่อน แรกเริ่มซื้อขายกันยกโรงไฟฟ้าให้ไทยทั้งหมด ยกตัวอย่างโครงการห้วยเฮาะ ทางลาวตอนใต้ แต่ต่อมาทางรัฐบาลลาวเล็งเห็นความสําคัญ ว่าประชาชนในประเทศควรจะได้ใช้ไฟด้วย ทำให้โครงการต่อๆมา ถึงแม้ว่าจะต้องขายไฟฟ้ามาให้ไทยเยอะ แต่ก็ต้องมีกําลังไฟฟ้าส่วนหนึ่งจ่ายไฟให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในสปป.ลาวด้วย

ต่อมาก็มีโครงการบูรณาการสายส่งไฟฟ้า 4 ประเทศ หรือ LTMS-PIP ซึ่งพลังน้ำจากสปป.ลาว ถือเป็นไฟฟ้าสีเขียว บางประเทศอย่างสิงคโปร์ก็ต้องการ ต้องผ่านจากสปป.ลาวมาที่สิงคโปร์  ซึ่งระบบสายส่งไฟฟ้าหรือ grid ของไทย และของมาเลเซียค่อนข้างเข้มแข็ง สามารถให้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงที่เรายังไม่ได้ต้องการใช้ ก็เลยมีความคิด ว่า สปป.ลาวจะขายไฟให้สิงคโปร์ผ่านระบบส่งของประเทศไทยผ่านจุดเชื่อมโยงระหว่างไทยมาเลเซีย พอเข้าระบบมาเลเซีย ทางมาเลเซียก็จะมีจุดเชื่อมโยงกับสิงคโปร์อยู่แล้วเหมือนกัน ก็เลยเป็นที่มาของโครงการ LTMS-PIP โดยจ่ายค่าใช้บริการตัวระบบส่งให้กับไทยและมาเลเซีย ซึ่งโครงการนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว

ส่วนบริบทประเทศที่เป็นเกาะ อย่างฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย จริงๆอย่างอินโดนิเซียก็มีการเชื่อมโยงสายส่งระหว่างเกาะ แต่อาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก หรือ จุดเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าระหว่างรัฐซาบาห์ และ ซาราวัก ของมาเลเซียกับ กาลิมันตันตะวันตก ของอินโดนิเซีย ส่วนฟิลิปปินส์จะต้องมาเชื่อมกับบรูไนต้องลงทุนขนาดใหญ่มาก ซึ่งต้องมีความพร้อม ส่วนการเชื่อมโยงไฟฟ้าระหว่างอาเซียนผ่านสายเคเบิลใต้น้ำ (submarine cable) ต้องใช้เวลา เพราะว่าลงทุนมันจะสูงมาก ต้องมีความคุ้มค่าถึงจะเกิดได้ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงมีการพูดถึง submarine cable จากสปป.ลาวไปขึ้นที่สิงคโปร์ไม่ต้องผ่านไทย แต่ยังไม่เกิดขึ้น

ดังนั้นในความเห็นของตนเองแล้วคิดว่า ในกรอบความร่วมมืออาเซียนเนี่ยสิ่งที่จะเกิดได้มากที่สุดบน 6 ประเทศหลักที่เป็นอินแลนด์เป็นหลัก ส่วนการเชื่อมกับประเทศที่เหลือ ถ้ามันจะเกิดได้ ต้องเป็นจุดที่มีความคุ้มค่าในเรื่องของการลงทุน ตัวขับเคลื่อน คือไฟฟ้าสีเขียว เพราะทรัพยากรอยู่ที่หนึ่ง แต่ความต้องการอยู่อีกที่หนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ความต้องการมาแมทช์กันเท่านั้นมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ธวัชชัย สําราญวานิช

“ธวัชชัย” ระบุด้วยว่า การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่จะทำให้เกิดการขยายการลงทุน อย่างสปป.ลาว และไทย โดยมองว่า มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไม่เช่นนั้นคงไม่ขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานเมื่อปี 2565 เพิ่มปริมาณกำลังการผลิตขึ้นเป็น 10,500 เมกะวัตต์ เพื่อให้สปป.ลาวขายพลังงานไฟฟ้าให้กับไทยเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นจากกรอบความร่วมมือแรกเกือบ 10 เท่า ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการพัฒนา ทั้งสองประเทศก็ได้ประโยชน์ร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับสปป.ลาว ส่วนไทยเองก็มีความมั่นคงของระบบไฟฟ้ามากขึ้น และช่วยกระจายเชื้อเพลิงจากที่เราต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูง

“ไฟฟ้าจากพลังน้ำ ซึ่งเป็นไฟฟ้าสีเขียวถือเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในเวลานี้ของอาเซียน แต่เหนือสิ่งอื่นใด การซื้อไฟจากต่างประเทศก็ต้องมีการเปรียบเทียบต้นทุนด้วยระหว่างการที่เราผลิตได้ในประเทศกับซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าไฟฟ้าพลังน้ำที่เราซื้อจากสปป.ลาวต่ำกว่า และราคาคงที่ตลอดอายุสัญญา ขณะที่ราคาก๊าซฯที่เราใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักสูงขึ้นทุกวัน แต่ขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่า หากเราไปพึ่งพาการซื้อไฟจากประเทศเดียวมากเกินไปจะมีผลอะไรกับในเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าหรือไม่ ซึ่งก็มีการศึกษามาแล้ว ว่าการซื้อจากหนึ่งประเทศไม่ควรเกิน 15% ของความต้องการใช้ไฟฟ้า”

บทบาทผลิตไฟฟ้าสีเขียว

สำหรับการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่ป้อนประเทศไทยในตอนนี้นอกจากได้การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากสปป.ลาวแล้ว ตอนนี้ Portfolio ของกฟผ.ก็มีการผลิตไฟฟ้าสีเขียวจากพลังน้ำค่อนข้างมาก ทั้งผลิตจากเขื่อนขนาดใหญ่และท้ายเขื่อนขนาดเล็กของกรมชลประทาน เรียกว่า มี Green Portfolio รองรับความต้องการ และยังมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำจากเขื่อนต่างๆเข้ามาเพิ่มเติมอีกในอนาคตอันใกล้ ส่วนการซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากภาคเอกชนก็เข้าระบบมากขึ้นตามลำดับ มีการซื้อบิ๊กล็อต เฟสแรก เมื่อเดือน เม.ย. 2566 จำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ 

นอกจากปริมาณไฟฟ้าสีเขียวของไทยที่พร้อมรองรับความต้องการของนักลงทุนแล้ว อัตราการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวที่มีการกำหนดไว้เบื้องต้นก็ถือว่าไม่สูง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปกฎเกณฑ์และราคาซื้อขาย ทั้งแบบ UGT1 หรือซื้อจากระบบโรงไฟฟ้าเดิมไม่เจาะจง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งกฟผ.ผลิตอยู่แล้ว เบื้องต้นมีสูตรอัตราซื้อขายค่าไฟฟ้าอัตราปกติทั่วไป บวกด้วยค่าใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียว (REC) 6 สตางค์ต่อหน่วย และUGT2 ที่เจาะจงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่จะมาจากบิ๊กล็อต ซึ่งจะทยอยผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 2573 สะอาด ราคา 4.50 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น บทบาทของ กฟผ.ก็จะมีทั้งผลักดันการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวใน Portfolio ของเราเอง และที่เป็นคู่สัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสีเขียวบิ๊กล็อตจากภาคเอกชน ที่เราจะส่งไฟฟ้าสีเขียวต่อให้กับผู้ใช้ไฟผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ตอนนี้การซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวยังไม่มีความชัดเจน หากเร่งให้อัตรา UGT และกลไกรองรับออกมาได้เร็วก็ตอบโจทย์เรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างดี เพราะนักลงทุนต่างต้องการไฟฟ้าสีเขียว และอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนจะมีการซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยมีระบบของ Direct PPA มารองรับ แต่คาดว่ากฎเกณฑ์น่าจะออกมาหลัง UGT

นอกจากนี้ กฟผ.ยังอยู่ระหว่างการวางแผนที่จะมีพลังงานสะอาดใหม่เข้ามาเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซฯ ในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในการเตรียมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-Cycle) โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และพระนครใต้ให้มาใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในอนาคต ซึ่งแนวทางที่วางไว้ก็คือในระยะแรกผสมไฮโดรเจนมากับก๊าซฯและต่อเข้าโรงไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ที่จะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงมากขึ้น และตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยี

ยังมีภารกิจต้องรักษาความมั่นคง

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสีเขียวมากแค่ไหน ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าก็ต้องรักษาไว้ ซึ่งเป็นภารกิจโดยตรงของกฟผ.โดยปรับปรุงระบบไฟฟ้าของกฟผ.ให้มีความทันสมัยและยืดหยุ่นรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นจากพลังงานสีเขียว เรียกว่า GRID MODERNIZATION เป็นระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ Energy Storage System เพื่อเป็น Buffer รองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวอย่างแสงแดดหรือลมที่อาจไม่สามารถผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการอย่างมั่นคงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชม.ซึ่งระบบนี้ได้มีการทดสอบติดตั้งที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบําเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และลพบุรี โดยจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้การบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าระบบมากขึ้นนั้นจะทำงานร่วมกันระหว่าง ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ และ ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) ซึ่งมีการพัฒนาให้มีความแม่นยำมากขึ้นตามลำดับ โดยพยากรณ์ 2 แบบ แบบ 1 วันล่วงหน้า และเรียลไทม์ ช่วยให้รู้ว่าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาระบบได้ปริมาณเท่าใด และเราต้องผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงรองรับอย่างไร โดยเราเชื่อมโยงข้อมูลกับโรงไฟฟ้า SPP ที่เป็นคู่สัญญา อย่างไรก็ตามเพื่อให้การพยากรณ์แม่นยำมากขึ้น เราต้องการลิงก์ข้อมูลจากโรงไฟฟ้า VSPP ที่เป็นคู่สัญญาการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่ายด้วย ซึ่งตอนนี้ยังติดปัญหาอุปสรรค หากเชื่อมโยงข้อมูลได้จะสามารถวางแผนระบบไฟฟ้าของประเทศได้อย่างแม่นยำ และวางแผนได้ว่าหากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนบางโรงผลิตไฟฟ้าไม่ได้หายไปจากระบบ ต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใดมารองรับให้ได้ทันท่วงที

นอกจากเราจะมีบทบาทในการผลิตและป้อนไฟฟ้าสีเขียวแล้ว เรายังคงบทบาทในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย โครงการล่าสุดเป็นการลงทุนพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล (Submarine Cable) ไปยังบริเวณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 52 กิโลเมตร วงเงิน 11,230 ล้านบาท ระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ โดยใช้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับแรงดันสูง (HVAC) จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงขนอม ไปยังสถานีฯเกาะสมุย ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่ของ กฟผ. แล้วเสร็จปี 2571 และ 2572

“อย่างที่ตนเองยกตัวอย่างมาตลอดว่าทุกโครงการลงทุนที่ต้องใช้เงินมหาศาลนั้นจะต้องตัดสินกันที่ความคุ้มค่าหากเป็นในอดีตก็อาจจะลงทุนลำบาก เพราะการใช้ไฟฟ้าที่เกาะสมุยไม่มากเท่าวันนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่กำลังบูมมาก”

High voltage post or High voltage tower

หาวิธีดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าประเทศ

“ธวัชชัย” ยังได้เล่าถึงภารกิจการบริหารจัดการต้นทุนและค่าไฟฟ้าของประเทศว่า นอกจากเราต้องรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานสีเขียวแล้ว ต้องดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องนำภาระจากตรึงค่าไฟฟ้าจนทำให้เกิดภาระกับกฟผ.กว่าแสนล้านบาทมาเป็นบทเรียน แม้เราจะเป็นหน่วยงานรัฐต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องทำหน้าที่ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด แต่ก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการใหม่ เช่น ต้องมีวิธีแบ่งสันปันส่วนร่วมดูแล และการยืดอายุโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำออกไป เช่น แม่เมาะ ยูนิตที่ 10-11 เพื่อดึงค่าไฟฟ้าของประเทศให้ต่ำลง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะมีวัตถุดิบในเหมืองมากน้อยแค่ไหน และจะยืดไปถึงปีใด

“ขอให้มั่นใจว่ากฟผ.กำลังปรับตัว เตรียมความพร้อมการเข้าสู่พลังงานสีเขียว ทั้งเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวของกฟผ.เอง การปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้ยืดหยุ่นทันสมัย รองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ไฟฟ้าที่มั่นคงของประเทศ ดึงดูดการลงทุน นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดต้องอยู่บนจุดสมดุล ทั้ง Energy Security และ Environment และสุดท้ายเลยก็คือราคาพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องสําคัญ เพราะทุกคนก็อยากจะใช้พลังงานที่มีราคาต้นทุนที่เหมาะสม ดังนั้นไม่ว่ากฟผ.จะลงทุนโครงการใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า ระบบส่ง หรือเทคโนโลยี จะศึกษาผลกระทบราคาต้นทุนพลังงานอยู่เสมอ ให้ประเทศมีต้นทุนไฟฟ้าที่แข่งขันได้”

……………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย….“ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img