วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 7, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSData Centers ธุรกิจดันโลก หันทิศสู่ ...“นิวเคลียร์ SMR”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

Data Centers ธุรกิจดันโลก หันทิศสู่ …“นิวเคลียร์ SMR”

เพื่อได้ชื่อว่าใช้ พลังงานสะอาด ทั้งสามบริษัทยักษ์ใหญ่ของวงการ Data Centers ทั้ง Microsoft, Amazon และ Google ใช้เงินจํานวนมากในการหาไฟฟ้า มาใช้ที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่กิจการนี้ต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาล ในการประมวลผลข้อมูล และมากจนต้องหาวิธีอื่นในการผลิตที่มั่นคง มีเสถียรภาพ และไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

สํานักงานพลังงานระหว่างประเทศในปารีส (The International Energy Agency in Paris) คาดการณ์ว่า Data Centers เหล่านี้จะใช้ไฟฟ้าถึง 1,000 ล้านเมกะวัตต์ในปี 2569 เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากปี 2565 ดังนั้นด้วยเทคนิคของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ที่ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจก ประจวบเหมาะกับ การผลิตไฟฟ้าจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor : SMR) เทคโนโลยีที่มาใหม่ ทำได้เร็ว ลงทุนต่ำ ประกอบแพคมาจากโรงงาน ตั้งที่ไหนก็ได้ มีความปลอดภัยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่

ทำให้ Amazon ประกาศว่า จะมีการลงทุนผลิตเอง เพื่อรองรับ Data Centers ของบริษัทฯ ใช้เงินกว่า 900 ล้านดอลลาร์ ผลิตไฟรวมๆกัน 5,000 เมกะวัตต์ อยู่ใกล้กับสถานีนิวเคลียร์ North Anna ในเวอร์จิเนีย ไม่ใช่แค่กระดาษมีแผนชัดเจนจะผลิตไฟได้ในราวปี 2573 ถ้าทำให้เกิดไม่ได้ Data Centers ของบริษัทฯคงอวสาน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ Nuclear Regulatory Commission (NRC) ที่จะอนุญาตด้วย

ส่วน Google เองก็เหมือนกัน ใช้ไฟฟ้ามากถึง 24 ล้านเมกะวัตต์ในปีที่แล้ว จะพึงไฟฟ้าสีเขียวอย่างเดียวไม่พอแน่นอน แถมพลังงานหมุนเวียนก็ยังผลิตไฟไม่เสถียรพอ ผลิตป้อนให้ไม่ได้ 24 ชม. ดังนั้นนิวเคลียร์ก็ต้องมาเหมือนกัน แต่ Google ไม่ได้ลงทุนเอง ลงนามข้อตกลงกับ Kairos Power ในเมือง Alameda รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่จะซื้อขายพลังงานนิวเคลียร์ SMR หลายเครื่องป้อนให้ Google โดยเฉพาะ เครื่องแรกจะเริ่มดําเนินการภายในปี 2573 และทยอยเข้ามาภายในปี 5 ปีหลังจากนั้น ผลิตกระแสไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์

SMR มีหลายรูปแบบรวมๆ 80 รูปแบบใน 18 ประเทศ มี 3 ค่ายที่กำลังขะมักเขม้นแข่งกันศึกษา และพัฒนา ก็มีค่ายสหรัฐ ที่ญี่ปุ่นต้องมาจับมือด้วย เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ แม้ค่ายนี้ยังเป็นกระดาษอยู่ยังไม่มีการก่อสร้างให้เห็น แต่ก็ซุ่มเงียบไม่น่าจะช้า ค่ายรัสเซีย และค่ายจีน

ที่จีนมาแรงแซงทางโค้ง โรงไฟฟ้า SMR เครื่องแรกของโลกออกมาแล้ว ชื่อ Hainan Chanjiang SMR เทคโนโลยี ACP100 ใช้ชื่อว่า Linglong One กำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ ตั้ง ณ เมืองฉางเจียง บนเกาะไหหลำ ซึ่งจีนกำหนดให้พื้นที่เกาะสีเขียวไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ใช้แต่พลังงานสะอาด และมี SMR เพื่อป้อนไฟฟ้าบนเกาะ

หวง เล่ย (Mr.Huang Lei)

นายหวง เล่ย (Mr.Huang Lei) รองประธานบริษัท Hainan Nuclear Power Company (HNPC) เจ้าของโปรเจกต์ บอกกับคณะสื่อมวลชนที่ไปศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้า Hainan Chanjiang SMR ว่า พลังงานนิวเคลียร์จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดของจีนในอนาคต

ทั้งนี้โรงไฟฟ้า SMR เป็นหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของจีนให้มีขนาดเล็กลง แต่ยกระดับความปลอดภัยสูงขึ้น โดยออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลเดียวกัน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุผิดปกติโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการได้นาน 72 ชั่วโมง รวมถึงพื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลง โดยมีรัศมีประมาณ 500 เมตร คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2569

กระบวนการสำคัญของการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR คือการสร้างความรู้และการยอมรับของประชาชน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ปี มุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า SMR และสิทธิประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในมณฑลไห่หนานเริ่มดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น การจัดสรรเงินรายได้จากการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นทุนการศึกษาของชุมชนท้องถิ่น ก่อนจะนำไปจัดทำรายงานประเมินความมั่นคงของชุมชนท้องถิ่น

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นพลังงานที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดแรงกดดันจากความจำเป็นที่ต้องลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แม้ปัจจุบันมณฑลไห่หนานจะมีพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก แต่ก็ต้องการพลังงานนิวเคลียร์ที่มีความเสถียร เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า”

ทิเดช เอี่ยมสาย

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลกับเราเพิ่มเติมว่า กฟผ. ติดตามเทคโนโลยี SMR อย่างต่อเนื่อง เพราะ SMR เป็น​พลังงานทางเลือกใหม่ ที่ตอบโจทย์ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชม.และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นหากประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อม เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้กับเยาวชนในระดับประถมและมัธยม การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย การกำกับดูแล

ขณะที่ กฟผ. ได้เร่งเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี SMR ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า 80 แบบ จาก 18 ประเทศทั่วโลก เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดที่เหมาะสมกับประเทศไทย ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย และมีความพร้อมในการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ

“สเต็ปแรกภายใน 2 ปีจะต้องมีนโยบายชัดเจนจากรัฐบาลผ่านความเห็นชอบจากครม.ว่าจะเดินหน้า SMR จากร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2024) ที่กำหนดไว้แล้วว่า SMR ต้องเข้าระบบในช่วงปลายแผน ปี 2579 และ 2580 เข้าระบบปีละ 300 เมกะวัตต์ และมีคณะกรรมการระดับชาติ ที่ควรเป็นระดับปลัดกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องมาทำงานด้วยกัน เพราะเรื่องนี้ต้องทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ในส่วนของกฟผ.ก็จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เช่น เงินลงทุน และอีกคณะเพื่อศึกษาพื้นที่เหมาะสม ซึ่งต้องมีหน่วยงานระดับสากลอย่างทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มาทำงานร่วมกันกับเรา และที่ต้องเดินหน้าไปพร้อมกันก็คือการให้องค์ความรู้ใหม่ๆด้านนิวเคลียร์กับเด็กและเยาวชน เพราะเราคิดวันนี้ไม่ใช่ว่าพรุ่งนี้จะเกิดได้ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี”

สำหรับประเทศไทยคนขับเคลื่อนคือ “กฟผ.” ที่ส่งคนไปดูงาน และเรียนรู้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ต่างๆ ในหลายประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่างานนี้จะไม่มีการหยุดและทิ้งองค์ความรู้ไปเหมือนเมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่อยู่ในแผนพีดีพีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ

ที่น่าห่วงคือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ต้องมากำกับดูแลในฐานะถือกฎหมาย เพราะทราบว่ามีบุคลากรทำงานด้านนี้แค่ 3 คน ตามดูข่าวก็คงกำลังเร่งมือเหมือนกัน เพราะงานต้องเข้ามือจะโยนเผือกร้อนออกไปก็ไม่ได้ ล่าสุดเมื่อต้นปีทราบว่าทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการกำกับดูแลทางนิวเคลียร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. NRC) อบรมเสริมศักยภาพบุคลากรด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาดเล็ก เพื่อความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้ไทยหัวกระไดไม่แห้งใครๆก็อยากขายเทคโนโลยี ก็ขึ้นอยู่กับติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก เลือกเทคโนโลยี SMR ที่ดีที่สุด เซฟตี้สุดๆ เป็นเรื่องหลัก เครื่องพร้อมคนก็ต้องพร้อมด้วย จะสร้างได้หรือไม่…ไม่รู้ แต่ก็ต้องมีองค์ความรู้ไว้ ไม่เสียเปล่า

…………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย……”ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

“ทรัมป์”ชนะเลือกตั้งทุบทองคำร่วง800บ.

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img